คมนาคมแตะเบรกรถไฟทางคู่เฟส 2

คมนาคมแตะเบรกรถไฟทางคู่เฟส 2

คมนาคมเขย่ารถไฟทางคู่เฟส 2 สั่งทบทวนความเร่งด่วน และงบ คาดเลื่อนลงทุนตามความจำเป็น ด้าน อธิบดี ขร.ยันจะเร่งคลอดสายแรก ขอนแก่น – หนองคาย เชื่อมขนส่งเพื่อนบ้านลาว – จีน สั่งเพิ่มสร้างศูนย์ขนส่งสินค้า และด่านศุลกากร เล็งเสนอ ครม.ภายในปีนี้ ประมูลปี 64

นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เปิดเผยภายหลังการประชุมจัดลำดับความสำคัญโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 โดยระบุว่า ภายหลังจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้เสนอโครงการลงทุนไปยังสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา สศช.ได้มีคำถามตีกลับเพื่อขอรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการ รวมไปถึงขอให้จัดลำดับความสำคัญของการลงทุนให้สอดคล้องกับกรอบงบประมาณลงทุนของรัฐบาล

อย่างไรก็ดี ที่ประชุมครั้งนี้ได้สั่งการให้ ขร.นำโครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 ซึ่งมีการศึกษารวม 7 เส้นทาง กลับมาทบทวน พิจารณารายละเอียดก่อสร้างโครงการ วงเงินลงทุน ประมาณการณ์ปริมาณผู้โดยสาร ปริมาณขนส่งสินค้า เพื่อให้สอดคล้องไปกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในปัจจุบัน ภายหลังเกิดโรคโควิด -19 ที่กระทบต่อการขนส่งสินค้า และการเดินทางปรับเปลี่ยนไป เบื้องต้นคาดว่าจะเริ่มศึกษาได้ภายในเดือน ต.ค.นี้ แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน

“ตอนนี้เราต้องนำโครงการทางคู่เฟส 2 มาทบทวนใหม่ ว่ามีความจำเป็นลงทุน หรือมีความสำคัญเร่งด่วนอย่างไร เพื่อให้การลงทุนนั้นคุ้มค่าสอดคล้องไปกับเศรษฐกิจของประเทศที่มีเพดานหนี้สาธารณะ ดังนั้นต้องจัดสรรการลงทุน คัดสรรโครงการที่จำเป็น เมื่อทบทวนเสร็จ ก็จะจัดลำดับการลงทุนกลับมาเสนอที่ประชุม และกระทรวงคมนาคมอีกครั้ง”

นายสรพงศ์ ยังกล่าวด้วยว่า ที่ประชุมมีความเห็นตรงกันว่า ขณะนี้โครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 เส้นทางที่มีความจำเป็นในการพัฒนาเร่งด่วน เนื่องจากเป็นยุทธศาสตร์ของประเทศ และต้องเร่งรัดเพื่อรองรับการขนส่งสินค้าจากประเทศเพื่อนบ้าน คือเส้นทางขอนแก่น – หนองคาย เพราะจะเชื่อมต่อกับรถไฟของจีน ที่เชื่อมต่อมาทางลาว เตรียมเปิดให้บริการในเดือน ธ.ค.2564

อย่างไรก็ดี รถไฟทางคู่ช่วงขอนแก่น – หนองคาย ปัจจุบัน ร.ฟ.ท.ทำการศึกษาออกแบบ และผ่านการพิจารณาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ซึ่งการศึกษาโครงการในเบื้องต้นพบว่ามีความคุ้มค่าทางการลงทุน เนื่องจากมีการประมาณการณ์ปริมาณขนส่งสินค้าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในปี 2580 อยู่ที่ 12 ล้านตันต่อปีอีกทั้งยังมีอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจอยู่ที่ 19%

ทั้งนี้ ที่ประชุมยังได้สั่งการให้ ร.ฟ.ท.ศึกษานำเอาโครงการสร้างสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง (Inland Container Depot : ICD) มาบรรจุไว้ภายใต้โครงการพัฒนารถไฟทางคู่ ช่วงขอนแก่น – หนองคาย เพิ่มเติมจากเดิมที่มีการศึกษาสร้างเฉพาะย่านกองเก็บสินค้า (Container Yard: CY) เพื่อให้โครงการรถไฟทางคู่สายนี้สนับสนุนต่อการขนส่งสินค้า และมีสิ่งอำนวยความสะดวกในการขนส่งอย่างด่านศุลกากร

“การทบทวนโครงการลงทุนทางคู่ เฟส 2 นี้ เป็นเพียงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อการเลื่อนแผนงานจากเดิม แต่คงไม่ถึงกับทำให้ต้องยกเลิกบางโครงการ ส่วนปีหน้าจะได้เห็นการลงทุนทางคู่เฟส 2 หรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับการรถไฟฯ จะเร่งรัดดำเนินการในส่วนของการเพิ่ม ICD เข้าไปในโครงการ เพื่อตอบทุกข้อคำถามต่อการลงทุนนี้ให้คุ้มค่า หากทบทวนโครงการทั้งหมดแล้ว ก็ต้องรายงานกลับมายังกระทรวงฯ เพื่อส่งไปยัง สศช.และ ครม.ตามขั้นตอน”

นายสรพงศ์ กล่าวอีกว่า เป้าหมายในขณะนี้ ขร.ต้องการเร่งรัดการทบทวนโครงการทางคู่ ช่วงขอนแก่น – หนองคาย ให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือนหลังจากนี้ โดยขอให้ ร.ฟ.ท.ศึกษานำ ICD เข้าไปในโครงการ ทบทวนมูลค่าการลงทุนให้เหมาะสม หากต้องเพิ่มวงเงินด้วยความจำเป็นก็ขอให้ตอบทุกข้อคำถามให้แล้วเสร็จ หลังจากนั้นเมื่อเสนอกลับมายังกระทรวงฯ ก็คาดว่าจะรายงานไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขออนุมัติโครงการภายในปีนี้ และจะเห็นขั้นตอนการประกวดราคาในปี 2564

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 มีจำนวน 7 เส้นทาง วงเงินรวมกว่า 2.71 แสนล้านบาท ประกอบไปด้วย 1.ช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย ระยะทาง 285 กิโลเมตร วงเงิน 62,859.74 ล้านบาท 2.ช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่ ระยะทาง 189 กิโลเมตร วงเงิน 56,837.78 ล้านบาท 3.ช่วงขอนแก่น-หนองคาย ระยะทาง 167 กิโลเมตร วงเงิน 25,842 ล้านบาท

4.ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี ระยะทาง 308 กิโลเมตรวงเงิน 37,527.10 ล้านบาท 5.ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี ระยะทาง 168 กิโลเมตร วงเงิน 24,294.36 ล้านบาท 6.ช่วงสุราษฎร์ธานี-สงขลา ระยะทาง 321 กิโลเมตร วงเงิน 57,375.43 ล้านบาท 7.ช่วงหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 45 กิโลเมตร วงเงิน 6,661.37 ล้านบาท