'รมว.คลัง' ลาออก! สะท้อนถึงรัฐบาลและนายกฯอย่างไร

'รมว.คลัง' ลาออก! สะท้อนถึงรัฐบาลและนายกฯอย่างไร

จับประเด็นร้อนล่าสุด "รมว.คลัง" ลาออก! สะท้อนถึงรัฐบาลและนายกฯอย่างไร

สถานการณ์บ้านเมือง เกิดวิกฤติเศรษฐกิจย่ำแย่ จากพิษโรคโควิด-19ระบาด ประชาชนคาดหวังว่ารัฐบาลพรรคพลังประชารัฐ ภายใต้การนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะนำพาประเทศพ้นจากหุบเหวแห่งความยากลำบากในการดำรงชีวิตและค้าขายฝืดเคือง

การปรับเปลี่ยน คณะรัฐมนตรีทีมเศรษฐกิจ เพื่อสร้างความเชื่อมั่น ด้วยการดึงนักบริหารมืออาชีพมาร่วมรัฐบาล แต่การที่ นายปรีดี ดาวฉาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่ง หลังทำงานได้ไม่ถึงเดือน จึงเกิดคำถามหลากแง่มุมว่า อุบัติการณ์ดังกล่าว สะท้อนอะไรถึงรัฐบาลและนายกรัฐมนตรี

ปฏิเสธไม่ได้ว่า การที่นายปรีดี ดาวฉาย ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สะท้อนความขัดแย้งภายในรัฐบาล แม้ว่านายปรีดีจะเปิดใจกับกรุงเทพธุรกิจ ถึงการตัดสินใจดังกล่าวมีปัญหาสุขภาพก็ตาม แต่ใครจะเชื่อ เพราะท่ามกลางกระแสความไม่ลงรอยกันกรณีโยกย้ายปรับเปลี่ยนผู้บริหารระดับสูงในกระทรวงการคลัง ระดับอธิบดีไปจนถึงบอร์ดในธนาคารของรัฐ

ความขัดแย้งที่ทำให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ลาออกจากตำแหน่ง กลายเป็นการบั่นทอนความเชื่อมั่นต่อรัฐบาล ในด้านการแก้ปัญหาเศรษฐกิจอย่างรุนแรงก็ว่าได้ ความเชื่อมั่นยิ่งลดซ้ำเติมตั้งแต่ปรับทีมรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจออกยกชุด ท่ามกลางกระแสข่าวว่าไม่มีนักบริหารที่มีผลงานเป็นที่ยอมรับ กล้าเข้ามาร่วมวงรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ เพราะสถานการณ์การแย่งชิงตำแหน่งรัฐมนตรีในพรรคพลังประชารัฐช่างรุนแรงหนักหนายากจะต้านทาน

นอกจากจะลดความเชื่อมั่นของรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีแล้ว ยังสะท้อนถึงตัวตน อารมณ์และความรู้สึกความเป็นผู้นำของพลเอกประยุทธ์ ไปในคราวเดียวกัน เพราะเชื่อว่าไม่มากก็น้อยว่า "ศิลปะการเป็นผู้นำ" ในการหนุนให้คนที่รับอาสามาทำงานแก้ไขปัญหาของประเทศ ต้องใช้มีความ "ละเอียดอ่อน" มากกว่า บทบาทการเป็นผู้นำกองทัพ

แม้ว่า ช่วงที่ผ่านมา พลเอก ประยุทธ์ จะปรับความแข็งกร้าวลงมากแล้ว สังเกตจากการลงพื้นที่พบปะประชาชนทั่วประเทศ จะมีมุกตลก ลูกล้อลูกชน ให้ได้เห็น ซึ่งลดความห่างระหว่างผู้ปกครองกับผู้ถูกปกครอง ทว่า ศิลปะการใช้งานเพื่อนงาน ในคณะรัฐมนตรีที่ไม่ใช่ลูกน้องเก่านั้น ควรปรับหากจะดึงมืออาชีพมาทำงาน แก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจของประเทศ

ปัญหาต่อมาคือ สะท้อนถึงอิทธิพลของแกนนำในพรรคพลังประชารัฐ กำลังอยู่เหนือความเป็นนายกรัฐมนตรี ของพลเอก ประยุทธ์ ซึ่งกำลังซ้ำเติมแผลเก่าในใจประชาชนว่า ปัญหาความขัดแย้งที่ผ่านมา แย่งชิงตำแหน่งรัฐมนตรีเพื่อแก้ปัญหาภายในพรรค หรือเพื่อหาคนแก้ปัญหาให้ประเทศชาติ

ขณะเดียวกัน ภาพลักษณ์ของรัฐมนตรีภายในรัฐบาลนั้น กำลังเสื่อม จากการทำงานแยกส่วนตามโควตาของพรรค แม้จะมีมืออาชีพเข้าไปทำงานร่วมกับนักการเมือง กลายเป็นการร่วมกลุ่มกัน แบบรุ่นพี่รับน้องกับผู้เข้ามาใหม่

กล่าวโดยสรุป ความขัดแย้งภายในและจบลงด้วยการแยกทางจากลา สะท้อนถึงรัฐบาลและนายกรัฐมนตรี ในสายตาประชาชนว่า ความเชื่อว่ารัฐบาลจะอยู่อีกไม่นาน ได้เพิ่มมากขึ้นน่าหวั่นวิตก แม้พลเอก ประยุทธ์ จะพยายามสร้างความเชื่อมั่นที่ถดถอยก็ตามที

ที่มา - https://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/651017