ฝ่าวิกฤติด้วย ‘นวัตศิลป์’ ฟื้นคืนชีวิตชุมชน

ฝ่าวิกฤติด้วย ‘นวัตศิลป์’ ฟื้นคืนชีวิตชุมชน

เครือข่ายวัฒนธรรมชุมชนร่วมถกทางรอด ฝ่าวิกฤติด้วย "นวัตศิลป์" ฟื้นคืนชีวิตชุมชน จากภาวะว่างงานและรอการจ้างงานอย่างไร้ความหวัง สู่ผู้ประกอบการทางวัฒนธรรมในยุค New Norma

สถาบันรามจิตติ ร่วมกับเครือข่ายทางวัฒนธรรม และเครือข่ายวิจัยของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จัดวงเสวนาออนไลน์ ‘วัฒนธรรมชุมชนคนสร้างนวัตศิลป์ : ทุนทางวัฒนธรรมกับสังคมเศรษฐกิจแบบปกติใหม่’ ภายใต้โครงการศึกษาวัฒนธรรมไทยในกระแสการเปลี่ยนแปลง จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยการสนับสนุนของสำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม

เวทีดังกล่าวได้มีการแลกเปลี่ยนมุมมองความคิดคนทำงานวัฒนธรรมชุมชนจากฐานถิ่นจากภาคต่างๆ มาร่วมแลกเปลี่ยน วิถีชีวิตและการทำงานวัฒนธรรมท่ามกลางวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่ได้ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจของคนในชุมชนทุกพื้นที่ ทั้งด้านความต้องการของผู้คนในสินค้าลดน้อยลง การส่งสินค้าออกอยากขึ้น ผู้คนอพยพกลับสู่ถิ่นฐาน เกิดภาวการณ์ว่างงานและรอการจ้างงานอย่างไร้ความหวัง

ครูภารดี วงศ์ศรีจันทร์ ครูช่างศิลปหัตถกรรมปี 2555 กลุ่ม U-THONG QUILTS จังหวัดสุพรรณบุรี  กล่าวว่า ปกติการทำงานของกลุ่มวัฒนธรรม U-THONG QUILTS งานผ้าด้นมือ จะมีการสั่งสินค้าจากลูกค้าต่างประเทศเป็นหลัก แต่ผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้ยอดการสั่งซื้อสินค้าหยุดชะงัก การจ้างงานในพื้นที่เผชิญภาวะยากลำบาก ส่งผลต่อกลุ่มช่างฝีมือในชุมชน

159901143462

U-THONG QUILTS ผ้าด้นมือ

ด้านฟารีดา กล้ารณงค์ หัวหน้ากลุ่มบาราโหมบาร์ซา และวิทยากรศูนย์เรียนรู้การท่องเที่ยว อารยธรรมปัตตานี สะท้อนว่าปกติคนวัยทำงานส่วนใหญ่ในชุมชนบาราโหมจะไปทำงานในภาคงานต่างๆ ที่ประเทศมาเลเซีย ผลกระทบจากโควิด-19 ยิ่งกว่าวิกฤติต้มยำกุ้งที่คนต้องอพยพกลับถิ่นฐาน และไม่มีงานทำ เนื่องจากในชุมชนไม่มีอาชีพรองรับ กลุ่มผลิตภัณฑ์บาราโหมเป็นกลุ่มงานฝีมือผ้าของกลุ่มสตรีก็ได้รับผลกระทบทั้งการปิดร้านอาหาร ปิดแหล่งท่องเที่ยว และการสั่งซื้อสินค้าต่างๆ

เช่นเดียวกับเฉลิมชัย โสวิรัตน์ ผู้ประกอบการทางวัฒนธรรม ศิลปินร่วมสมัยชายแดนภาคใต้ และนายสาเหะซูไลมัน อันอตับ วิสาหกิจชุมชนบ้านรักษ์กะลา จังหวัดปัตตานี เครือข่ายอาเนาะกายูผู้ประกอบการรุ่นใหม่ทางวัฒนธรรม เครือข่ายวิจัย สกสว. ที่ระบุว่าสถานการณ์ดังกล่าวได้ส่งผลกระทบซ้ำเติมต่อชุมชน โดยเฉพาะกับกลุ่มเยาวชนนอกระบบการศึกษาที่หลุดออกนอกระบบมากขึ้น และไม่มีงานทำ กลุ่มที่ทำงานอยู่ก็ว่างงานเพราะผู้บริโภคหรือผู้ผลิตกลางทางหยุดสั่งจ้างการผลิต ทางกลุ่มซึ่งทำงานกับกลุ่มเด็กนอกระบบอยู่แล้วต้องปรับตัว และสร้างอาชีพที่สามารถทำให้เด็กเหล่านี้มีกิจกรรมเรียนรู้และอยู่รอด

  

159901139877  

 

อย่างไรก็ตาม ผู้ร่วมเสวนาหลายท่านได้สะท้อนร่วมกันว่า จากวิกฤตินี้ทำให้หลายเครือข่ายต้องตั้งหลักและปรับตัวทางวัฒนธรรมค่อนข้างพอสมควร โดยกลับมาวิเคราะห์ทุนทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาที่มีอยู่ เช่น ผศ.ดร.สุวิชาญ พัฒนาไพรวัลย์ เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย วิทยาลัยโพธิวิชชาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ซึ่งเป็นผู้จัดทำโครงการ ข้าวแลกปลา ด้วยการเชื่อมโยงเครือข่ายวัฒนธรรมชุมชน โดยมีเครือข่ายชาวปกากะญอและชนพื้นเมือง รวมถึงเครือข่ายข้าวในพื้นที่ต่างๆ รวบรวม ข้าวที่ผลิตได้ เพื่อไปแลกกับปลาของชุมชนที่อยู่พื้นที่ทะเลหรือชายฝั่งทางภาคใต้ เป็นการแลกเปลี่ยน ‘อาหาร โดยสินค้าเปลี่ยนจากตัวเงินเป็นของ

รวมถึงมีกิจกรรม ‘ปันน้ำใจสู่ในเมืองด้วยรูปแบบต่างๆ โดยมองว่า “ทางชุมชนได้กลับมาดูรอบบ้าน ทั้งในสวน ไร่ นา มีพืชผักพอที่จะแบ่งปันให้กับผู้คนที่อยู่นอกพื้นที่ เรามีความมั่นคงทางอาหาร มีทรัพยากรเกษตร เราต่างมีนิเวศวัฒนธรรมชุนชนที่เกื้อกูลกันได้ จึงได้ร่วมกันทำข้าวแลกปลา คนพื้นเมืองและกับคนชาวเลทางใต้ ทำให้เราอยู่รอดได้ในสถานการณ์วิกฤติ” 

ขณะที่ สุภาพร ทองสุข ผู้อำนวยการมูลนิธิขวัญชุมชน จังหวัดสุรินทร์ ผู้นำการขับเคลื่อนแรงงานนอกระบบบนฐานวัฒนธรรมชุมชน (ผ้าไหมสุรินทร์) พบว่าโควิดเป็นช่วงที่เกิดวิกฤติซ้ำซ้อนโดยเฉพาะกลุ่มแรงงานนอกระบบ จึงได้ขับเคลื่อนงานแบรนด์ขวัญ ทั้งในเรื่อง ข้าว และ ‘การทอผ้าไหมจากเส้นใยและสีธรรมชาติ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมที่ฟื้นคืนมาในช่วงวิกฤติการว่างงานครั้งนี้ จนทำให้ในรอบ 3-4 เดือนที่ผ่านมาเกิดผลงานที่เกิดการส่งต่อและสร้างตลาดในรูปแบบใหม่ จากการสนับสนุนของห้างร้านที่พยายามร่วมขับเคลื่อนการฟื้นฟูผู้ประกอบการทางวัฒนธรรม

159901139887

ส่วน บุษยรัตน์ ผัดผล บริษัทรวยบุญกิจการเพื่อสังคม จังหวัดน่าน มองว่าวิกฤติดังกล่าวกลายเป็นโอกาสที่ทำให้ต้องกลับมาเรียนรู้การจัดการตลาดในโลกยุคใหม่ในรูปแบบใหม่ ที่ทำให้ตัวเองต้องทำหน้าที่เป็นเหมือนสะพานเชื่อมต่อภูมิปัญญาในฝากฝั่งผู้ผลิตกับตลาดออนไลน์ พื้นที่กลางสู่ผู้ผลิตโภค ซึ่งผู้บริโภคต่างมีทางเลือกของสินค้า จึงต้องหาคุณค่าในเรื่องสินค้างานผ้าจากเส้นใยและสีย้อมจากธรรมชาติ และอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมให้เป็นจุดแข็งและร่วมสมัยเข้ากับวิถีชีวิตของคนในปัจจุบัน เช่นเดียวกับเครือขายอาเนาะกายูที่ปรับการสร้างสรรค์งานให้เข้ากับประเพณีวัฒนธรรมและรณรงค์การใช้ชีวิตปกติใหม่ผ่านวัฒนธรรมการแต่งกาย เช่น ผ้าลือปัสของชาวมลายู

นอกจากนี้ยังมีเครือข่ายทางวัฒนธรรมอีกหลายกลุ่มมองว่าวิกฤติดังกล่าวทำให้คนทำงานทางวัฒนธรรมต้องปรับตัวให้ไวตอนสถานการณ์ ปรับรูปแบบสินค้าทางวัฒนธรรมในรูปลักษณ์ใหม่ที่สามารถใช้เพื่อช่วยเหลือผู้คนในยามวิกฤติ อาทิ การทำหน้ากากผ้าเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่มีความต้องการจากตลาดและผู้คนในประเทศค่อนข้างมากเกือบทุกพื้นที่

โดยแต่ละพื้นที่ต่างยังคงจุดเน้นและอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชุมชนตนเอง เพื่อสื่อถึงวิถีและเรื่องราวในชุมชนผ่านตัวสินค้า เป็นการผลิตสินค้าตรงตามความต้องการของผู้คน สร้างความยั่งยืนให้กับคนในชุมชน รวมถึงการปรับตัวกับการตลาดใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีมาช่วย เช่น การตลาดออนไลน์ เป็นต้น และยังได้เห็นการทำงานที่มีกลไกทำให้ทุกทีมเติบโต

อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมวงเสวนายังได้ร่วมกันให้ข้อเสนอเชิงยุทธศาสตร์ต่อการทำงานวัฒนธรรมอีกด้วยว่า ผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ส่งผลต่อชีวิตวัฒนธรรมของคนอย่างมาก ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมานี้ถือเป็นบทเรียนสำคัญของคนทำงานวัฒนธรรมที่พบแล้วว่า การพึ่งพิงรายได้จากภายนอกประเทศอย่างเดียวไม่ใช่คำตอบที่ทำให้ชีวิตและเศรษฐกิจไปรอดในสถานการณ์นี้

ทว่า การกลับมาตระหนักต่อการพึ่งพาตนเอง มองทุนทางวัฒนธรรมและใช้โอกาสของการปรับตัว การเรียนรู้การจัดการตลาดในรูปแบบใหม่ การสร้างแบรนด์และกลุ่มลูกค้าในหลากหลายไลฟ์สไตล์ รสนิยม รวมถึงการทำงานให้การสร้างงานนวัตศิลป์ดังกล่าว คือ กลับสู่การสร้างความเข้มแข็งทางสังคมวัฒนธรรม มีกลไกหรือตัวกลางในการส่งสารหรือเชื่อมโยงกลุ่มภูมิปัญญาในโลกการตลาดใหม่

ซึ่งจะเป็นทางออกของการขับเคลื่อนชุมชนวัฒนธรรมต่อไปได้ เพราะหลายเครือข่ายชุมชนมีความเชื่อมั่นว่า ชุมชนอยู่รอดและอยู่ร่วมกันได้ ด้วยการดูแลระบบนิเวศวัฒนธรรมของชุมชนที่ผู้คนในชุนชนทำงานอย่างสัมพันธ์กับการสร้างอาชีพ การสร้างนิเวศแวดล้อมที่สมดุล ใช้ความเข้มแข็งที่ชุมชนมีทั้งธรรมชาติทุนวัฒนธรรมเป็นพลังของการก้าวต่อไป

159901143324

ดร.จุฬากรณ์ มาเสถียรวงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันรามจิตติ หัวหน้าโครงการศึกษา ‘วัฒนธรรมไทยในกระแสการเปลี่ยนแปลง จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)’  กล่าวว่า งานเสวนาดังกล่าวเป็นกิจกรรมที่เชิญชวนเครือข่ายจากทั่วทุกภาคมาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และบทเรียนการทำงานทางวัฒนธรรม แต่ละท่านล้วนเป็นบุคคลผู้นำการขับเคลื่อนวัฒนธรรมชุมชนในหลากหลายด้าน และต่างก็เป็นผู้เชื่อมโยงเครือข่ายคน-ของ-ความรู้-และทรัพยากรทางวัฒนธรรมจากฐานถิ่นตั้งแต่ระดับชุนชนจนถึงภูมิภาค

งานนี้เราได้เห็นตัวอย่างกิจกรรมดีๆ ของคนทำงานวัฒนธรรม ที่แม้จะเผชิญวิกฤติแต่หลายท่านก็อาศัยภูมิปัญญาด้านนิเวศวัฒนธรรมชุมชนตามถิ่นฐานต่างๆ ผสมผสานกับความรู้สากลที่ต่างก็ค้นคว้าวิจัยและพัฒนาสร้างการทำงานวัฒนธรรมมาต่อเนื่อง และสร้างสรรค์ชิ้นงานหรือผลผลิตทางวัฒนธรรมท่ามกลางข้อจำกัดในสถานการณ์วิกฤติ จนสามารถก้าวผ่านวิกฤติโควิด-19 ในระลอกแรกได้ อย่างไรก็ตามยังมีความท้าทายที่หลายท่านเองเสนอไว้

การสนับสนุนการทำงานทางวัฒนธรรมต้องอาศัยความร่วมมือทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและทุกฝ่าย ในการร่วมขับเคลื่อนกลไกสนับสนุนงานวัฒนธรรมที่เป็นรูปธรรมถึงประชาชนและชุมชน เช่น การบรูณการงานวัฒนธรรม การสร้างพื้นที่แพลตฟอร์มวัฒนธรรมหรือจัดแสดงสินค้าผ่านแพลตฟอร์มทั้งออนไลน์และออนไซท์ เพื่อให้ชาวบ้านทั้งในฐานะผู้ผลิตและผู้บริโภคสามารถอยู่รอดได้ทั้งในมิติวัฒนธรรมสังคมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ต่อไป