วิวัฒนาการพัฒนาพื้นที่ 'อุตสาหกรรมไทย'

วิวัฒนาการพัฒนาพื้นที่ 'อุตสาหกรรมไทย'

ส่องวิวัฒนาการการพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมของไทย ทั้งในอดีตที่มักถูกผลักออกนอกเมืองใหญ่ มาถึงปัจจุบันที่การจัดพื้นที่อุตสาหกรรมสมัยใหม่ ไม่ใช่เพียงเรื่องการเลือกจังหวัด แต่เป็นการกำหนดตามพื้นที่ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ผู้ประกอบการต้องการ

อยากชวนกันคิดเรื่องแนวการพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมของไทย (Industrial Area) เพื่อให้การกำหนดทิศทางของพื้นที่อุตสาหกรรมมีความยืดหยุ่นสอดคล้องไปกับการเปลี่ยนแปลงในวันนี้สำหรับการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และแนวโน้มใหม่ๆ ของโลกปัจจุบัน แต่ในขณะเดียวกันต้องมีความยั่งยืนเพียงพอที่จะให้นักอุตสาหกรรมทั้งไทยและต่างประเทศได้มีความชัดเจนสำหรับการตัดสินใจในระยะยาว เพราะการลงทุนอุตสาหกรรมมิใช่การตัดสินใจเพียงระยะสั้น แต่ส่วนใหญ่ต้องการความชัดเจนไปข้างหน้าในอนาคตด้วย

ในอดีต พื้นที่อุตสาหกรรมถูกผลักออกนอกเมืองใหญ่ ตามแนวโน้มการเติบโตของประชากรเมือง (Urbanization) การบริหารจัดการเรื่องมลภาวะที่เกิดขึ้นจากอุตสาหกรรม รวมถึงตามนโยบายเพื่อการกระจายความเจริญและรายได้ของประเทศ

ขณะที่การพิจารณาเรื่องการจัดพื้นที่อุตสาหกรรมสมัยใหม่ ไม่ใช่เพียงเรื่องการเลือกจังหวัด เลือกพื้นที่ เลือกอุตสาหกรรม แล้วก็รอให้ทุกคนเข้ามาจบได้ แต่การกำหนดพื้นที่อุตสาหกรรมในวันนี้ จึงมีความยากมากขึ้น เพราะนักลงทุนเริ่มมองหาปัจจัยเพื่อการตัดสินใจหลายๆ อย่างมากขึ้น

สิ่งเหล่านี้ ทำให้การพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมสมัยใหม่จะไม่สามารถกลับไปใช้การกำหนดพื้นที่จากแนวเขตจังหวัดอีกต่อไป แต่จะเป็นการกำหนดตามพื้นที่ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ผู้ประกอบการต้องการ เราจึงพบว่าพื้นที่อุตสาหกรรมที่เหมาะสมส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่ที่โดยธรรมชาติแล้วเป็นที่ตั้งของอุตสาหกรรมอยู่บ้างแล้ว

พื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เป็นพื้นที่การพัฒนาอุตสาหกรรมที่มีความเหมาะสมเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เพียงแต่ในวันนี้ยังขาดการปรับปรุง Upgrade สาธารณูปโภค สาธารณูปการต่างๆ รวมถึงขาดการพัฒนาองค์ประกอบอื่นๆ อีกหลายเรื่องเพื่อให้พื้นที่นี้ เป็นพื้นที่ที่สามารถไม่เพียงแต่รองรับการเข้ามาของการลงทุนอุตสาหกรรม แต่ต้องสามารถรองรับการเติบโตของการใช้พื้นที่ ประชากร และการเติบโตของกิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่นๆ ในอนาคต

กว่า 30 ปีที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ ผู้ประกอบการ นักลงทุน นักอุตสาหกรรม ต่างเลือกและยอมรับแล้วว่า Eastern Seaboard Area ซึ่งเป็นที่ตั้ง EEC คือพื้นที่อุตสาหกรรมสมัยใหม่ของประเทศไทย สิ่งที่เรายังขาดคือความชัดเจนว่าองค์ประกอบอื่นๆ ในพื้นที่ EEC นี้ จะสามารถมาประจบพร้อมเพรียงกันได้เมื่อไหร่และอย่างไร

ท่ามกลางความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ เราคงไม่อยากกลับไปเลือกพื้นที่กันใหม่ และเริ่มนับหนึ่งใหม่เพื่อกำหนดพื้นที่อุตสาหกรรมของประเทศ เพราะพื้นที่อุตสาหกรรมไม่สามารถสร้างใหม่ได้ง่าย และไม่ได้ง่ายต่อการสร้างความตระหนักให้คนรับรู้ เข้าใจ เพื่อในที่สุดจะได้ ตัดสินใจเข้ามาในพื้นที่

แต่ทั้งหมดนี้ ผู้เขียนยังวางสมมติฐานของการพัฒนาอุตสาหกรรมในรูปแบบเดิมๆ เหมือนเมื่อ 20-30 ปีที่แล้ว ที่ทุกคนยังต้องการโรงงาน ยังต้องการคลังสินค้าเพื่อส่งออก-นำเข้า และยังต้องการพื้นที่ของตัวเองในการประกอบการ แต่หากภาคอุตสาหกรรมกำลังเปลี่ยนแปลงไป โดยผู้ประกอบการหันมาใช้เทคโนโลยี ดาต้า IoT การสื่อสารแบบ 5G ระบบ Automation หรือเครื่อง 3D printer เพื่อการอุตสาหกรรม รวมถึงแนวโน้มเรื่อง Green Sustainability เหล่านี้ อาจทำให้ความต้องการใช้พื้นที่อุตสาหกรรมเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิงอีกครั้ง 

ฝากช่วยกันคิดต่อว่า อะไรจะเกิดขึ้นและพื้นที่อุตสาหกรรมอย่าง EEC ควรเตรียมตอบโจทย์เรื่องเหล่านี้อย่างไรต่อไป เพื่อให้การลงทุนของภาครัฐใน EEC ครั้งนี้ ควรสามารถตอบโจทย์และอยู่กับการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศไทยได้ในระยะยาวอย่างแท้จริง