ปมร้อนมหากาพย์ 'สภาหมื่นล้าน' ยืดเยื้อ-บานปลาย-ค่าใช้จ่ายพุ่ง

ปมร้อนมหากาพย์ 'สภาหมื่นล้าน' ยืดเยื้อ-บานปลาย-ค่าใช้จ่ายพุ่ง

"น้ำท่วมสภา สวนทางงบสร้างมหาศาล" เสียงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับคุณภาพของการก่ออาคารรัฐสภาแห่งใหม่ (เกียกกาย) ดังกระหึ่ม! อีกครั้ง

หลังเกิดเหตุท่อระบายน้ำภายในห้องเซิร์ฟเวอร์ระบบกล้องวงจรปิด ตึกวุฒิสภา อาคารรัฐสภาแตก จนมีน้ำทะลักท่วมเจิ่งนองบริเวณโถงชั้น 1

หลายคนอาจมองว่า ก็เป็นแค่เหตุท่อแตกตามปกติทั่วไป ไม่เห็นจะต้องตื่นเต้น แต่หากเปรียบเทียบกับงบประมาณมูลค่ามหาศาลที่เสียไป บวกกับการก่อสร้างที่ยืดเยื้อมากว่า 7ปีนับตั้งแต่วันตอกเสาเข็มในวันที่ 8 มิ.ย. พ.ศ. 2556 ย่อมมีคำถามตามมาทันทีว่า คุณภาพและความปลอดภัยของอาคารอยู่ที่ไหน

เพราะต้องไม่ลืมว่า รัฐสภา ซึ่งถือเป็นจุดบัญชาการหลักของฝ่ายนิติบัญญัติ และมีความสำคัญไม่แพ้ทำเนียบรัฐบาล 

แต่ดูเหมือนว่า ตลอดระยะเวลา7ปีนับตั้งแต่เริ่มก่อสร้าง จนถึงเวลานี้ “สัปปายะสภาสถาน”  ซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา บนพื้นที่ 119.6 ไร่ กำลังเผชิญกระแสดราม่าอยู่เป็นระยะ เริ่มที่ประเด็นการ “ก่อสร้างที่ยืดเยื้อ” จากเดิมที่จะต้องแล้วเสร็จตั้งแต่วันที่ 24พ.ย.2558  แต่เวลานี้มีการขยายสัญญามาแล้ว4ครั้ง ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 25 พ.ย. 2558-15 ธ.ค. รวมเป็นระยะเวลา 387 วัน

ปมร้อนมหากาพย์ 'สภาหมื่นล้าน' ยืดเยื้อ-บานปลาย-ค่าใช้จ่ายพุ่ง

ครั้งที่ 2 ตั้งแต่วันที่16 ธ.ค.2559 – 9 ก.พ.2561 รวม 421 วัน ครั้งที่ 3 ตั้งแต่วันที่ 10 ก.พ. 2561-15 ธ.ค.2562 รวม 674 วัน และครั้งที่4 ตั้งแต่16ธ.ค.2562- 31ธ.ค.2563 รวม382 วัน ซึ่งจะสิ้นสุดในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ และการประเมินแนวโน้ม ถึงความเป็นไปได้ในการขยายสัญญารอบที่5 

   

  • ก่อสร้างยืดเยื้อ-งบบานปลาย

เมื่อการก่อสร้างยืดเยื้อ สิ่งที่ตามมาคือ  งบประมาณที่บานปลาย” จากเดิมที่กำหนดงไว้ที่ 22,987 ล้านบาท ก่อนหน้านี้ที่คณะรัฐมนตรี(ครม.)เห็นชอบ เมื่อวันที่15พ.ค.2561 ได้มีการปรับเพิ่มอีก512ล้านบาท ทำท่าว่าจะไม่จบแค่นี้ 

ยังไม่นับรวมกับ งบจิปาถะ ที่จะตามมา ทั้งบประมาณด้านไอซีที ที่แบ่งเป็น งบไอซีที 3,515 ล้านบาท ,งบจ้างที่ปรึกษาด้านไอซีทีอีก143 ล้านบาท ซึ่งมีการว่าจ้างบริษัท เมอร์ลินส์ โซลูชั่นส์ อินเตอร์แนชั่นนัล จำกัด เป็นบริษัทติดตั้งระบบ  ยังไม่นับงบสาธารณูปโภคค่าตกแต่งซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 802 ล้านบาท

159902137671

เงินทอนไมโครโฟน-นาฬิกาแพง

และหากยังจำกันได้ก่อนหน้านี้ สภาฯยังมีประเด็นดราม่า เกี่ยวกับการจัดซื้ออุปกรณ์และเครื่องมือเทคโนโลยีสารสนเทศบางชิ้น ที่มี ราคาแพงเกินจริง  ทั้ง ไมโครโฟนระบบ4 เค ราคา 1.2 แสนบาทต่อตัว ,นาฬิกาติดผนัง 7 หมื่นต่อเรือน ที่ตามมาด้วยครหาที่ว่ามี เงินทอน กระเด็นไปเข้ากระเป๋าหรือไม่?

เพราะเมื่อมีการตรวจสอบไปตรวจสอบมา พบว่าไมค์รุ่นดังกล่าวคือไมค์ ยี่ห้อ BOSCH รุ่น DCNM-MMD ราคาในท้องตลาดอยู่ที่ชุดละ 99,000 บาท ไม่ต่างไปจาากนาฬิการาคา7หมื่นนั้น ที่มีการออกมาเปิดเผยข้อมูลซึ่งเป็นราคาตามท้องตลาด ซึ่งมีราคาเรือนละ 490 ยูโร (ไม่รวมภาษี) หรือประมาณ 20,310 บาท เท่านั้น

ประเด็นดังกล่าวมีการขยายความ ลามไปถึงรัฐบาลในขณะนั้นคสช.ในขณะนั้น โดยมีการเปรียบเทียบกับปี 2557 สมัยรัฐบาลเข้ารับตำแหน่งใหม่ๆ มี ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ปลัดสำนักนายกฯควบเก้าอี้รมต.ประจำสำนักนายกฯ ซึ่งได้มีการจัดซื้อในลักษณะเดียวกัน 

กระทั่ง “บิ๊กตู่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา  ออกมาประกาศลั่นว่า ยอมไม่ได้กับไมโครโฟน 1.2 แสนบาท และนาฬิกา 7 หมื่นบาท!” 

หลังเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์และข้อครหาอย่างหนัก เวลลาต่อมาสภาฯ จึงได้คว่ำ แผนจัดซื้อดังกล่าว และเปลี่ยนมาใช้ระบบอนาล็อกมาจนทุกวันนี้

  • ที่จอดรถผิดแบบกฎกระทรวง-เทศบัญญัติ

อีกหนึ่งปมร้อนที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน หนีไม่พ้นดารม่า ที่จอดรถผิดแบบ” จนทำให้ความจุจากเดิมที่จอดได้3,000 คัน เหลือเพียง 2,000 คัน ซึ่งมีการตอบโต้กันระหว่างฝั่งสภาฯ โดย สรศักดิ์ เพียรเวช” ที่อ้างว่า เกิดจากการแก้แบบของฝั่งผู้รับเหมา

ขณะที่ฝั่ง บริษัทซิโน-ไทย หรือผู้รับจ้าง ออกมาตอบโต้อย่างทันควันว่า ผู้รับจ้าง ไม่มีสิทธิที่จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงแบบที่ถูกกำหนดไว้แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นเกิดจาก การออกแบบที่ผิดจากทีโออาร์เดิม ที่กำหนดให้มีพื้นที่ใช้สอยทั้งหมด 307,150 ตารางเมตร 

แต่ผู้ออกแบบได้ออกแบบอาคารพื้นที่ใช้สอย 495,113.43 ตารางเมตร จึงทำให้พื้นที่จอดรถเหลือเพียง 2,000 กว่าคัน และยังขาดแบบที่กฎกระทรวงและเทศบัญญัติ กำหนดไว้ที่ 3,534 คัน ถึง1,465คัน

แม้ก่อนหน้านี้ทางฝั่งสภาจะยืนยันว่า สามารถก่อสร้างลานจอดรถเพิ่มเติมในภายหลังได้ แต่นั่น!หมายถึงงบประมาณที่เพิ่มตามไปด้วย ยังไม่นับรวมค่าใช่จ่ายในแต่ละปี

จากการตรวจสอบ ข้อมูลณ.เดือนส.ค.2562 ซึ่งอยู่ในช่วงประจำปีงบประมาณ2563 พบว่า สภามีค่าใช่จ่ายทั้ง ค่าไฟและค่าน้ำ ประมาณ 425 ล้านบาท (ไม่รวมค่าจ้างทำความสะอาด)

เงินเดือน ส.ส., ข้าราชการการเมือง, ค่าตอบแทนผู้ปฏิบัติงาน2,961 ล้านบาท , ค่าเบี้ยประชุม, ค่าเช่าที่พัก และยานพาหนะค่าซ่อมแซมครุภัณฑ์, ค่าจ้างเหมาบริการ, ค่าสิ่งก่อสร้าง7,863 ล้านบาท ,ค่ารับรองประธานสภาฯ เบี้ยประชุมกรรมาธิการ, ค่าอาหาร, ค่าใช้จ่ายเพื่อศึกษาดูงานของกมธ.1,182 ล้านบาท รวมถึงค่าจิปาถะอื่นๆอีกจำนวนหนึ่ง

7ปีที่ผ่านมา รัฐสภา ซึ่งถือเป็นหน้าเป็นตาของประเทศไม่แพ้ทำเนียบรัฐบาล หรือองค์กรศาล  กลับกลายเป็นองค์กรที่เผชิญกับแรงเสียดทาน และเสียงครหาในประเด็นต่างๆ

กรณี น้ำท่วมสภา ล่าสุดก็เช่นกัน ที่แม้แต่ประธานรัฐสภา ชวน หลีกภัย ยังออกมายอมรับว่า  อาคารรัฐสภายังมีจุดอ่อนและข้อบกพร่องอยู่มาก แต่คงต้องรอให้การก่อสร้างแล้วเสร็จก่อน

จาก มหากาพย์ การก่อสร้างที่ยืดเยื้อมากว่า7ปีขยายสัญญาไปแล้ว4ครั้ง บวกกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ และข้อครหาต่างๆนานา แม้ประธานรัฐสภาจะยืนยันว่า เมื่อครบสัญญาในสิ้นปีนี้ จะไม่มีการต่อสัญญาอีก

แค่ดูเหมือนว่า รัฐสภา หรือ สัปปายะสภาสถาน ” อันหมายถึง สถานที่ที่มีแต่ความสงบร่มเย็นสบาย จะไม่ได้เย็นสบายดังคำนิยาม เพราะเผชิญปมร้อนอยู่เป็นระลอกในช่วงที่ผ่านมา

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า เวลานี้สภายังมีหลายปัญหาที่กำลังรอการแก้ไขและยังเป็นประเด็นที่สั่นคลอนองค์กรที่ถือเป็นฐานบัญชาการด้านนิติบัญญัติสำคัญของประเทศอีกทางหนึ่งด้วย!!