กลยุทธ์เพิ่มมูลค่าหุ้น ‘เอสซีจี’ รับสิทธิหุ้นลูกเข้าไอพีโอ

กลยุทธ์เพิ่มมูลค่าหุ้น ‘เอสซีจี’   รับสิทธิหุ้นลูกเข้าไอพีโอ

กระแสหุ้นไอพีโอแม้จะไม่ร้อนแรงในช่วงต้นเดือน ส.ค. ที่ผ่านมาที่ราคาเปิดตัววันแรกพุ่งทยานมากถึง 200 % แต่ก็ทำให้ตลาดหุ้นต่างฟันธงกันเลยว่าตลาดหุ้นไอพีโอกลับมาสดใสอีกครั้ง

ปัจจุบันหุ้นไอพีโอหลายบริษัทราคาหุ้นปรับตัวลงมาอยู่ระดับอ้างอิงพื้นฐานกันมากขึ้น ไม่ได้อยู่ที่ความคาดหวัง หรือแรงเก็งกำไรของรายใหญ่ หรือขาใหญ่ เหมือนในช่วงแรกๆ แต่ก็ปฎิเสธไม่ได้ว่าในช่วงที่ตลาดหุ้นไร้ปัจจัยใหม่ที่เป็นข่าวบวกจริงๆ ไม่ใช่แค่กระแสข่าวดูแล้วแทบมองไม่เห็น

นักลงทุนจึงหันไปหาตัวเลือกใหม่ที่จะเข้ามาสร้างสีสันในตลาดหุ้นแทนหุ้นที่มีอยู่กว่า 700 บริษัทที่อยู่บนกระดานหุ้น จนเป็นที่มาว่าหุ้นไอพีโอใหม่ๆ ที่เตรียมจะเข้าตลาดหุ้นไทยหาจองซื้อกันยากและหลายครั้งมักจะมีเสียงบ่นว่าแทบจะไม่ถึงรายย่อยเพราะไปในอยู่กลุ่มผู้ที่ได้รับการจัดสรร

ปรากฎการณ์ดังกล่าวจึงทำให้เมื่อหุ้นบูลชิพ บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCC ประกาศนำแผนการกระจายหุ้นบริษัทลูกให้กับประชาชน (IPO) ซึ่งคือ บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP ด้วยการเพิ่มทุนไม่เกิน 1,296 ล้านหุ้น ด้วยวิธีการซื้อหุ้นแม่แถมได้สิทธิหุ้นลูก จนทำให้ราคาหุ้น SCC ที่หมดปัจจัยมาหนุนราคาหุ้นกลับมาบวกขึ้นต่อเนื่อง

การกระจายหุ้น SCGP แบ่งหุ้นออกมาให้ผู้ถือหุ้น SCC กลุ่มแรก จำนวน 169.13 ล้าน หุ้น เพื่อเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นที่เข้ามาถือหุ้น SCC มีรายชื่อปรากฏอยู่ในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัท ณ วันกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้น (Record Date) วันที่ 11 ก.ย. 2563 นั้นหมายความว่า นักลงทุนมีโอกาสซื้อหุ้นเพื่อรอปิดสมุดวันสุดท้ายคือวันที่ 10 ก.ย. 2563 ในอัตราส่วน 7.0950 หุ้น SCC ต่อ 1 หุ้นสามัญเพิ่มทุนของ SCGP

ขณะที่หุ้นเพิ่มทุน SCGP อีก 2.82 ล้านหุ้น เพื่อเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นสามัญรายย่อยเดิม ของ SCGP ซึ่งมีรายชื่อปรากฏอยู่ในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นของSCGP ณ วันที่11ก.ย. 2563 ได้รับการจัดสรรหุ้นในอัตราส่วน 10.6480 หุ้นสามัญเดิมของ SCGP ต่อ 1 หุ้นสามัญเพิ่มทุน ของSCGP ซึ่งในส่วนนี้ SCC ได้ประโยชน์สูงสุดเพราะถือหุ้น SCGP สัดส่วน 99 %

ผลจากการประกาศดังกล่าวทำให้ราคาหุ้น SCC ช่วง 2 วันทำการ (31 ส.ค. -1 ก.ย.) บวกขึ้นมา 14 บาท หรือ 4.08 % จากก่อนหน้านี้ SCC เจอกระแสข่าวฉุดราคาหุ้นร่วงทั้งการขึ้นวันปิดสมุดโอนหุ้นรับเงินปันผล (XD) 13 ส.ค.

ต่อด้วยการประกาศลดน้ำหนักลงทุนในหุ้น SCC ของดัชนี MSCI ช่วง 31 ส.ค. ที่ผ่านมา และ ดัชนี FTSE ในช่วง 18 ก.ย. นี้ มีการคาดการณ์ว่าเม็ดเงินจากกองทุนที่อ้างอิงดัชนีดังกล่าวจะหายไป 2-11 ล้านดอลลาร์ หรือ ราวๆ 62- 341 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามหากประเมินเฉพาะตัวบริษัท SCGP นั้นเป็นหุ้นที่มีมูลค่าเพียงพอที่นักลงทุนควรจะใส่เงินเท่ากับหุ้นแม่ตามที่ประกาศต้องซื้อหุ้นแม่ก่อนถึงจะได้สิทธิจองซื้อหุ้นลูกนั้นแค่ไหน

SCGP เป็นโฮลดิ้ง คอมปานี ลงทุนในธุรกิจอื่นมี ธุรกิจหลัก การให้บริการโซลูชันด้านบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรซึ่งแบ่งออกเป็น 2 สายธุรกิจหลัก คือ สายธุรกิจบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรและสายธุรกิจเยื่อและกระดาษรวมถึงธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นกล่องบรรจุภัณฑ์ หรือถุงอาหารหรือขนม ตามลูกค้าสั่งผลิต

ตามข้อมูลล่าสุด ในเอกสารไฟลิ่ง รอบ 9 เดือน ปี 2562 บริษัทมี 65,975 ล้านบาท มีกำไรขั้นต้น 13,138 ล้านบาท อัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ 19.9 % และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 4,571 ล้านบาท การเติบโตของบริษัทโดดเด่นจากธุรกิจบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจร ขณะที่รายได้การขายจากสายธุรกิจเยื่อและกระดาษปรับตัวลดลง

เม็ดเงินจากการระดมทุนไอพีโอในครั้งนี้บริษัทระบว่านำไปซื้อกิจการ และคืนเงินกู้ ที่เหลือเป็นเงินทุนหมุนเวียน บริษัทหลักทรัพย์ (บล.)แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ SCGP มีความน่าสนใจเพราะ เป็นกลุ่มธุรกิจที่มีความสำคัญของ SCC ด้วยสร้าง EBITDA ได้ 27% ของทั้งหมดในครึ่งปีแรก ปี 2563 และมีความสามารถในการทำกำไร (EBITDA margin) สูงที่สุด ผลการดำเนินงานเติบโตต่อเนื่อง โดยรายได้ครึ่งปีแรก 2563 อยู่ที่ 2.2 หมื่นล้านบาทเพิ่มขึ้น 6%จากปีก่อน และกำไรจากการดำเนินงาน (ไม่รวมรายการพิเศษ) 2.2 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 11%จากการทำ M&A

และ SCGP มีการเตรียมการด้านโครงสร้างทางการเงินสำหรับการ IPO ด้วยการคืนเงินกู้ยืมระยะสั้นให้แก่ SCC 2.8 หมื่นล้านบาท และคาดการณ์ว่ามูลค่าตลาด ณ ราคา IPO น่าจะเกิน 1 แสนล้านบาทไปพอสมควร ทำให้น่าจะได้รับการคัดเลือกเข้า SET50 ภายหลังจากเข้าจดทะเบียนแล้ว 6 เดือน