'รุ้ง ปนัสยา' แถวหน้า สนท. 'ถึงเสี่ยง แต่หนูจะไม่ยอมหยุด'

'รุ้ง ปนัสยา' แถวหน้า สนท. 'ถึงเสี่ยง แต่หนูจะไม่ยอมหยุด'

รู้จักตัวตน "รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล" โฆษกสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) และแกนนำแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ผู้อยู่แถวหน้าของการชุมนุม กับมุมมองการเคลื่อนไหวทางการเมือง

ความเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มนักศึกษา คนรุ่นใหม่ยุคนี้ถือว่าสามารถสร้างแนวร่วมที่มีพลังขับเคลื่อนสังคม กดดันรัฐบาลให้ดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และเรียกร้องความเป็นประชาธิปไตย ในสิ่งที่พวกเขาคิดฝัน

“รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล โฆษกสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) และแกนนำแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม เป็นอีกคนที่อยู่แถวหน้าการชุมนุม ที่กำลังจะจัดงานใหญ่ในวันที่ 19 ก.ย.2563 นี้

159893995537

  • ยกระดับ ปักหลักค้างคืน

ระหว่างนี้จะมีกิจกรรมเล็กๆ น้อยๆ ไว้เลี้ยงกระแสเพื่อเตรียมพร้อมการชุมนุมใหญ่ 19 ก.ย.นี้ ที่จะมีการค้างคืน ซึ่งยังไม่ชัดเจนว่าจะกี่วัน โดยมี 10 ข้อเรียกร้องเดิมที่ถือเป็นโจทย์ใหญ่ ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างได้ถูกจุดที่สุด และอีก 3 ข้อเรียกร้องของกลุ่มเยาวชนปลดแอก เนื่องจากถ้า 3 ข้อเรียกร้องที่ให้รัฐบาล ยุบสภา ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และหยุดคุกคามประชาชน ไม่สำเร็จ ก็ไม่สามารถทำให้ 10 ข้อเสนอนั้นสำเร็จได้ “รุ้ง”อธิบายแบบนั้น

อย่างไรก็ตาม รุ้งยังยอมรับว่า การออกมาชุมนุมเคลื่อนไหวของนักศึกษาและคนรุ่นใหม่ยุคนี้ โซเชียล มีเดียถือว่ามีส่วนเอื้อ และมีผลอย่างมากที่ทำให้หลายคนตื่นตัวทางการเมือง เพราะทำให้เห็นว่าคนที่คิดเหมือนเรามีจำนวนมาก

“ธรรมชาติของมนุษย์ ถ้ารู้ว่ามีคนเห็นด้วยกับเราเยอะ หรือเป็นพวกเราเยอะ เราจะกล้าออกมาพูดในสิ่งที่ตัวเองคิดมากขึ้น ปกติก็จะมีเด็กที่ขี้อาย เพราะไม่รู้คนอื่นคิดเหมือนเราไหม เลยไม่กล้าพูด แต่พอรู้ก็โอเคเรามาจอยกัน มาพูดกัน ความกลัวในใจก็ค่อยๆ ลดลงๆ”

การเคลื่อนไหวของนักศึกษาหลายกลุ่ม ล้วนซัพพอร์ตซึ่งกันและกัน อย่างกลุ่มประชาชนปลดแอก เป็นการผนวกคนหลายกลุ่มไว้ด้วยกัน กลุ่มนี้มีเป้าหมายแบบนี้ เมื่อเห็นด้วยก็สนับสนุนรวมกัน สู้ด้วยกัน และส่วนตัวไม่ทราบจำนวนที่แท้จริงของแนวร่วมว่ามีเท่าไร ด้วยแต่ละกลุ่มก็มีแนวร่วมย่อยๆ ของตัวเอง แต่จะได้เห็นจากการออกมาชุมนุมใหญ่ 19 ก.ย. ที่สนามฟุตบอล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ส่วนจะมีอะไรเซอร์ไพรส์หรือไม่ ขอยังไม่บอกตอนนี้

ทั้งนี้ รุ้งเปิดเผยอีกว่า ตั้งแต่ออกมาเคลื่อนไหว ยอมรับว่าแปลกใจมากที่กระแสจุดติดได้อย่างรวดเร็ว และที่เซอร์ไพรส์ที่สุดคือ เด็กมัธยมออกมาจำนวนเยอะมาก ไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะเห็นภาพนี้ ทำให้รู้สึกมีกำลังใจ มีเพื่อนเพิ่ม ซึ่งแต่ละกลุ่มก็เรียกร้องถึงเรื่องสิทธิเสรีภาพ เป็นหลักการสำคัญของประชาธิปไตย

นอกจากนี้ รุ้งยืนยันว่า การเคลื่อนไหวโดยเฉพาะของ สนท.ไม่มีกุนซือ หรือคนที่คอยให้คำแนะนำอยู่เบื้องหลัง 

"เพราะถ้ามีอาจารย์คอยแนะนำ เขาคงไม่ให้หนูพูด 10 ข้อเสนอนั้นหรอก พวกหนูทำอะไรไม่ได้ถามใคร แต่มีการวางแผน ต้องคิดกันมาดีแล้วถึงจะทำ ซึ่งเราคิดมาดีแล้ว ถึงได้ทำ หนูบอกอาจารย์หลังเวทีว่า อาจารย์เตรียมตัวนะ แล้วอาจารย์ก็ไม่รู้หรอกว่า เราจะพูดอะไร อาจารย์ก็รอฟัง พอพูดจบอาจารย์ก็เดินมาถาม รุ้งมันแรงขนาดนี้เลยหรอ ซึ่งอาจารย์เข้าใจว่าเราไม่อยากให้อาจารย์ไปยุ่ง เขาก็ไม่มายุ่งอยู่แล้ว ถ้าเรามีปัญหาทีหลัง อาจารย์ถึงมาช่วยแก้”

  • จุดยืน “แก้ก่อน ยุบทีหลัง”

สำหรับประเด็นแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 256, 257 และ 258 ที่ล็อกไว้ไม่ให้รัฐธรรมนูญถูกแก้ไขได้โดยง่าย แม้การแก้ไขได้ง่ายนั้นจะไม่ดี แต่ต้องเปิดช่องให้สามารถทำได้ จะด้วยวิธีใดก็แล้วแต่ ไม่ใช่ว่าทำอะไรไม่ได้เลย เมื่อปลดล็อกตรงนี้ได้ ก็จะสามารถดำเนินการแก้ไขในส่วนอื่นๆ ต่อได้

ส่วนข้อเสนอยุบสภานั้น ต้องแก้รัฐธรรมนูญให้เสร็จก่อน ถ้าไม่แก้ปัญหาเดิมที่ได้จากการเลือกตั้งครั้งล่าสุดก็ยังคงอยู่ ข้อเสนอของเยาวชนปลดแอกได้จัดลำดับข้อเสนอเอาไว้ว่า หยุดคุกคามประชาชน แก้รัฐธรรมนูญ แล้วค่อยยุบสภา โดยการแก้รัฐธรรมนูญควรต้องดำเนินการให้เร็วที่สุด ไม่เช่นนั้นปัญหาจะยืดเยื้อ อะไรจะเกิดขึ้นระหว่างนั้นบ้างเราไม่รู้ จึงต้องจำกัดกรอบเวลาเพื่อให้ปัญหาที่จะเกิดขึ้นนั้นน้อยที่สุด 

ส่วนประเด็นอำนาจ ส.ว. ที่เกินขอบเขต ซึ่งหลายฝ่ายเรียกร้องให้ตัดทิ้งแล้ว รวมถึงให้แก้ไขระบบเลือกตั้งนั้น ก็เป็นประเด็นที่รุ้งมองว่า ควรต้องแก้ไข “แต่ทาง สนท.ไม่ได้มีร่างแก้รัฐธรรมนูญฉบับของตัวเอง เพียงแต่เรารู้ว่า ต้องแก้อะไรบ้าง เพื่อให้เป็นอย่างไร มีแต่ข้อเสนอและความเห็นที่ให้สังคมช่วยกันคิด” 

และเมื่อถามถึงพรรคเพื่อไทยที่ไม่แตะประเด็น ส.ว.นั้น รุ้ง ออกตัวทันทีว่า “อย่าไปพูดถึงดีกว่า”

แม้ว่าการเคลื่อนไหวของนักศึกษาจะมีอิมแพ็คมากขึ้น หากได้ฝ่ายการเมืองร่วมเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกันก็ตาม เรื่องนี้ โฆษก สนท.มองว่า การเคลื่อนไหวทั้งในและนอกสภาต้องไปด้วยกัน แต่การเคลื่อนไหวนอกสภาต้องมาก่อนที่จะเคลื่อนไหวในสภา เพราะอยู่ในระบบ มีกรอบและข้อจำกัดจำนวนมาก การขับเคลื่อนอยู่ภายนอกจึงเป็นการกดดันในสภา

159894028873

“เห็นด้วยกับการเลือกตั้งด้วยบัตร 2 ใบ ถ้าใช้บัตรใบเดียวแบบที่เป็น เราจะเลือกได้แค่คนนี้ พรรคนี้เท่านั้น ถ้าในท้องถิ่น เราชอบคนนี้เพราะดูแลเราดี แต่เราชอบอีกพรรคหนึ่ง อยากให้เขาได้ปาร์ตี้ลิสต์ ทำอย่างไรจึงต้องมีบัตร 2 ใบ เพื่อให้สอดรับกับพื้นที่ที่เราอยู่จริงๆ”

ถึงอย่างนั้นก็ตาม เรายังต้องติดตามด้วยว่า การแก้รัฐธรรมนูญ หรือการฟังความเห็นนักศึกษาของรัฐบาล เป็นแค่การหลอกเราหรือไม่ เขาจะทำจริงหรือไม่ หรือแค่จะทำเพื่อลดแรงกระแทก ยื้อเวลาไปจนไม่ทำหรือไม่ เราต้องจับตาดู

“ต้องทำให้เห็น เราถึงจะหยุด ต้องสำเร็จผลก่อนถึงจะหยุด ต้องมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เสร็จแล้ว”

  • เดิมพัน เอาชีวิตมาเสี่ยง!

“แน่นอนว่ามีเรื่องที่ต้องแลก” รุ้ง ยอมรับตามตรง อย่างตัวเองมีอะไรต้องแลกเยอะกว่าคนอื่นเพราะพูดถึงเรื่องสถาบัน เมื่อก่อนการพูดถึงเป็นอะไรที่มีความเสี่ยงมาก ทุกวันก็ยังเป็นอยู่

“ถามว่าตอนนี้เรียกว่าเอาชีวิตมาเสี่ยงได้ไหม ได้นะ หนูก็พูดตรง ทำไมถึงเลือกที่จะพูด หนูคิดว่าไม่พูดไม่ได้ มันเป็นปัญหาที่ต้องแก้ ถ้าไม่ปฏิรูปโครงสร้างสังคมให้เป็นแนวทางที่อยู่ด้วยกันได้ มันจะเป็นปัญหาคาราคาซังแบบนี้ต่อไป ประเทศต้องเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เราจะปล่อยให้โครงสร้างที่บิดเบี้ยวมาทำลายความเป็นประชาธิปไตย มาทำลายคนอื่นไม่ได้ มีหลายคนที่เดือดร้อนมาก เห็นได้ชัดช่วงโควิด-19 คนอดตายไปกี่คน คนฆ่าตัวตายเพราะไม่มีเงินไปกี่คน ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะมีชีวิตอยู่ แล้วทำไมเราถึงจะไม่ให้สิทธิเขาตรงนั้น เพราะเรายอมโอนอ่อนต่ออำนาจ เหมือนให้อำนาจเขาไปแล้ว คนที่จนไม่ต้องมีสิทธิ์ในการมีชีวิตอยู่ก็ได้ มันคืออย่างนั้นไปเลย สุดท้ายแล้วโครงสร้างการเมืองทุกอย่างมันลิงค์กันหมดเลย”

นอกจากนี้ รุ้ง ยังคาดหวังว่าในอนาคตจะได้เห็นรัฐสวัสดิการเกิดขึ้นในประเทศไทย คาดหวังพรรคการเมืองที่มาจากประชาธิปไตยโดยแท้จริง คาดหวังว่าทุกคนจะมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน เมื่อมีตรงนั้นแล้ว ก็จะมีการศึกษา การแพทย์ที่ดีมีคุณภาพ สาธารณูปโภคที่ดี คุณภาพชีวิตของคนที่ดีขึ้น มีเบี้ยเลี้ยงดูแลผู้ป่วย ผู้สูงอายุมีคนมาดูแล ค่าครองชีพ รัฐมาซัพพอร์ต บางประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย เด็กได้เงินจากรัฐไปโรงเรียน ค่าเทอมก็ฟรี รวมถึงปัญหาราคาสินค้าเกษตร ที่ถูกพ่อค้าคนกลางกดราคา

“เกษตรกรไม่ควรยากจน เพราะเป็นคนผลิตอาหารให้คนทั้งประเทศ มันควรมีมาตรฐานราคา ให้เขาได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ทำไมเกษตรกรต้องมารับกรรมตรงนั้นด้วย”

  • 22 พ.ค.57 ขอให้เป็นครั้งสุดท้าย

การรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค.2557 หวังว่าจะเป็นครั้งสุดท้าย ซึ่งถ้าเกิดรัฐประหารขึ้นมาอีก ก็เคยเสนอไปว่า ประชาชนมีสิทธิ์ต่อต้านทุกรูปแบบ โดยไม่ผิดกฎหมาย มันต้องมาจากการเลือกของประชาชน ต้องไม่มีการยึดอำนาจอีกแล้ว ถ้ามีปัญหาอะไรก็ยุบสภา เลือกตั้งใหม่ ทำประชาพิจารณ์ มีกลไกที่สามารถทำได้ ต้องใช้ตรงนั้น ไม่ใช่คุณเป็นคนกลุ่มเดียวแต่มีอำนาจ มีอาวุธ แล้วมายึดอำนาจ มันไม่ใช่

  • อีกมุมของรุ้ง

“หนูไม่ค่อยมีเพื่อนผู้หญิง ด้วยความที่อยู่พรรคนักศึกษา ผู้ชายเยอะ ตัวเองเป็นเหมือนน้องคนเล็กที่ได้รับการดูแลตลอดเวลา ซึ่งก็ชอบแบบนั้น และการได้ทำกิจกรรม ก็ทำให้ตัวเองไม่มีเพื่อนในห้องเรียน เพราะเอาเวลาไปทุ่มกับกิจกรรมสุดตัว”

"เวลาอยู่บ้านก็เล่นกับสัตว์เลี้ยง มีแมว 1 ตัว เม่นแคระ 4 ตัว และหนูแกสบี้อีก 2 ตัวที่เลี้ยงไว้ จริงๆ อยากเลี้ยงหมาด้วย แต่กลัวที่บ้านจะเป็นสวนสัตว์ รุ้งพูดพร้อมกับหัวเราะ

ในมุมของผู้หญิงเรื่องความสวยความงามเป็นอะไรที่ขาดไม่ได้ รุ้งเองก็เช่นเดียวกัน ถ้าช่วงไหนที่มีเงินเหลือก็จะช้อปปิ้งเครื่องสำอางทุกอย่าง และยังชอบทำเล็บ เธอเล่าว่า เข้าแล้วออกยากวงการนี้ (ทำเล็บ) มันติด ที่บ้านจะให้เงินเป็นรายเดือน เราก็บริหารจัดการเอง เอาไว้ไปเรียน ไปทำกิจกรรมก็ถือพอใช้ เพราะตัวเองก็มีเงินเก็บด้วย 

เมื่อก่อนก็เคยพยายามขายของออนไลน์ โดยเป็นตัวแทนจำหน่ายรับออเดอร์ส่งอีกทอด เป็นสินค้าประเภทอุปกรณ์ของเด็กเล็ก แต่ขายไม่ออก ไม่มีลูกค้าแม้แต่คนเดียว แต่ที่ขายได้คือช่วยพี่สาวที่เปิดร้านขายขนมเค้ก อันนี้ขายง่ายหน่อย ขายได้ก็ได้เงินด้วย ส่วนเวลาว่างอยู่บ้านก็จะอยู่แต่ในห้องตัวเอง จะชอบดูการ์ตูน ตอนนี้ก็มีเรื่อง Rick and Morty ทาง Netflix

  • แม่ห่วง แต่ห้ามไม่ได้

รุ้ง เล่าให้ฟังว่า มีพี่สาว 2 คน ตัวเองเป็นคนสุดท้อง ซึ่งการที่ออกมาเคลื่อนไหว คนเป็นแม่ก็ห่วงเป็นธรรมดา แต่สุดท้ายต้องทำใจให้ได้ เพราะหนูจะไม่ยอมหยุด ถึงแม้ว่าแม่จะเคยห้ามมาแล้วหลายครั้งก็ตาม แต่ห้ามไม่ได้ พี่สาว 2 คนก็คอยซัพพอร์ตตลอด เวลาทะเลาะกับแม่ ก็จะส่งพี่สาวไปเคลียร์ให้

“เรารู้สึกเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ทำไมถึงจะไม่ทำ และหนูไม่อยากรอให้คนอื่นมาทำแทนหนู หนูทำได้หนูต้องทำ”

  • อนาคตอยากเป็นนักการเมือง

รุ้ง เปิดเผยตรงไปตรงมาว่า “อยากเป็น ส.ส. เราอยากได้ประเทศที่ต้องการ ประเทศที่ทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ก็ต้องลงไปทำเอง หนูไม่เชื่อในการที่รอให้คนอื่นไปทำอยู่แล้ว อนาคตก็อาจจะมีพรรคการเมืองใหม่ขึ้นมาอีกพรรคก็ไม่แน่ เป็นไปได้หมดในอนาคต”