คมนาคมยื่นคลังสอบทุจริตการบินไทย

คมนาคมยื่นคลังสอบทุจริตการบินไทย

คณะทำงานสอบทุจริตการบินไทยกระทรวงคมนาคมหอบหลักฐานส่งต่อให้กระทรวงการคลังสานต่อการสอบตรวจ เผยพบทุจริตทั้งการขายตั๋วต่ำกว่าต้นทุนหลายหมื่นล้านต่อปีและค่าโอทีพนักงาน 500 ล้านต่อปี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่กระทรวงการคลัง เช้าวันนี้(1ก.ย.)นายคมกฤช วงศ์สมบุญ หัวหน้าคณะทำงานชุดย่อยเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีพบทุจริตในบริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน)ได้เดินทางมายื่นหนังสือพร้อมเอกสารหลักฐานจำนวน 18 แฟ้มต่อกระทรวงการคลัง เพื่อให้ร่วมตรวจสอบปัญหาการขาดทุนและการทุจริตในการบินไทย โดยมีเจ้าหน้าที่สำนักรัฐมนตรีกระทรวงการคลังรับหนังสือดังกล่าว

นายคมกฤชกล่าวว่า สืบเนื่องจากนายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมซึ่งกำกับดูแลการบินไทยก่อนที่บริษัทจะแปลงสภาพจากรัฐวิสาหกิจเป็นบริษัทมหาชน ได้พบการขาดุทนสะสมต่อเนื่องหลายปี จึงตั้งคณะทำงานชุดใหญ่และชุดย่อย มีทั้งฝ่ายการพาณิชย์ ฝ่ายบัญชี ฝ่ายบริหารกิจการ ฝ่ายครัวการบินไทย ฝ่ายคลังสินค้าและฝ่ายไปรษณียภัณฑ์ เพื่อตรวจสอบปัญหาการขาดทุนที่ผ่านมา ซึ่งทุกคนก็ทราบว่า บริษัทมีผลขาดทุนถึง 3.5 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ หลังจาก การบินไทยแปรสภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจเป็นบริษัทมหาชน ทางกระทรวงคมนาคมก็หมดหน้าที่ จึงได้ส่งต่อเอกสารที่ได้ตรวจสอบไปแล้วประมาณ 43 วัน หรือครึ่งหนึ่งของเอกสารที่ได้รับมาตรวจสอบจากทั้งภายนอกและภายในให้นายกรัฐมนตรี กระทรวงการคลัง และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ปปช.)ช่วยพิจารณาเพิ่มเติม

“หน่วยงานที่เกี่ยวข้องถ้าพบความผิด ก็แล้วแต่ว่า จะดำเนินการตามกฎหมายอย่างไร โดยหลักแล้วป.ป.ช.จะเป็นผู้ตรวจสอบ แต่ในฐานะกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 49% จะเป็นผู้ดำเนินการขึ้นตอนแรก ส่วนนายกรัฐมนตรีก็แล้วแต่สั่งการ”

สำหรับการตรวจสอบเบื้องต้นนั้น ทางกระทรวงคมนาคมพบว่า มีการทุจริตใน 2-3 ประเด็นหลักๆ โดยเรื่องแรก คือ การจำหน่ายตั๋ว ซึ่งพบว่า มีการขายต่ำกว่าต้นทุน ทำให้เกิดภาวะขาดทุนมหาศาล หรือ หลายหมื่นล้านบาทต่อปี ซึ่งการขายตั๋วที่ต่ำกว่าทุนนี้ เราพบว่า มีเรื่องของผลตอบแทนจากการขายตั๋วเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งเรื่องนี้ เรามองว่า เป็นการประพฤติมิชอบ

“ขายตั๋วขาดทุนมาก เป็นการขายแบบแฟรตเซล โปรโมชั่นขายถูก เพื่อให้ที่นั่งเต็ม แต่กลับมีผลเรื่องจุดคุ้มทุน การขายดังกล่าวเข้าใจว่า เนื่องจาก ฝ่ายคำนวณต้นทุนการบินไทยกับฝ่ายขายคงไม่ได้ประสานละเอียด ทำให้การตั้งราคาขายผิดพลาด ส่วนทุจริตนั้น เราพบว่า มีเรื่องอินเซนทีพของคนขาย ซึ่งไม่วัดกำไรขาดทุน แต่วัดว่า จะขายหมดหรือเปล่า เป็นการซ่อนเงื่อนไว้”

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของโอทีของฝ่ายช่าง ซึ่งพบว่า การเบิกโอทีของพนักงานบางคน ซึ่งเรามีหลักฐานยืนยันว่า มีการเบิกเกินเวลา ซึ่งปกติไม่ควรเกิน 1.5 พันชั่วโมงต่อปี แต่มี 200-300 คน เบิกถึง 2-3 พันชั่วโมง คิดเป็นเงิน 500-600 ล้านบาท โดยค่าใช้จ่ายเงินเดือนโดยรวมของฝ่ายช่างจะอยู่ที่ประมาณ 2.4 พันล้านบาทต่อปี แต่ค่าใช้จ่ายด้านโอทีก็สูงถึง 2 พันล้านบาทต่อปี ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่โอทีจะสูงขนาดนี้

ขณะเดียวกัน ในเรื่องของการซื้อเครื่องบิน แอร์บัส 340 ก็มีมูลค่าเป็นแสนล้าน ซึ่งสร้างความเสียหายตั้งแต่ตอนซื้อ และการบำรุงรักษา รวมถึง มูลค่าที่ด้อยลง ซึ่งตอนนี้จอดทิ้งที่สนามบินอู่ตะเภาจำนวน 9 ลำ

“หลักฐานที่เรามีนั้น ถือว่า เป็นความผิดที่เอาผิดได้ แต่เราไม่มีอำนาจ เราเปิดเผยไม่ได้”