นิวนอร์มอลดัน ‘ออนไลน์’ สะพัด อีคอมเมิร์ซพุ่งล้านล้าน!

นิวนอร์มอลดัน ‘ออนไลน์’ สะพัด อีคอมเมิร์ซพุ่งล้านล้าน!

“วิกฤติโควิด เศรษฐกิจ การเมือง” ดันออนไลน์สุดคึก “ธุรกิจ-บริการ” แห่อัดกลยุทธ์ชิงตลาด หนุนวิถีนิวนอร์มอล “อีคอมเมิร์ซ แอพฟู้ดดิลิเวอรี่ บันเทิงดิจิทัล” อีคอมเมิร์ซตัวเดียวสะพัด “ล้านล้านบาท” ซีอีโอดิจิทัลแนะธุรกิจ คน ปรับทักษะรับเทรนด์

ผู้บริหารเฟซบุ๊ค ประเทศไทย ยักษ์โซเชียลมีเดียฟันธงไว้ว่า ปี 2020 คือ ทศวรรษแห่งการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง และจะพลิกโฉมการทำธุรกิจแบบดั้งเดิมทั่วโลกไปโดยสิ้นเชิง ตั้งแต่การเริ่มต้นธุรกิจ การตลาด ไปจนถึงการสร้างธุรกิจให้เติบโต จะเกิดขึ้นเด่นชัดมากในภูมิภาคเอเชีย จากการใช้อินเทอร์เน็ตบนมือถือที่โตแบบก้าวกระโดด ดันเศรษฐกิจในแถบนี้เติบโตเร็วมากที่สุดโลก

ขณะที่ไทยกำลังเผชิญวิกฤติโควิด เศรษฐกิจที่เปราะบาง การเมืองร้อนแรง ปัจจัยลบใหญ่ๆ เหล่านี้ เขย่าโครงสร้างระบบเศรษฐกิจ ความคิด และพฤติกรรมคนอย่างรุนแรง ทุกวันนี้ภาคธุรกิจต้องปรับตัวเพื่อให้ธุรกิจยืนอยู่ได้ โดยเฉพาะการดึงดูดความสนใจจากคนยุคใหม่ที่ใช้อินเทอร์เน็ตเกือบ 50 ล้านคน และมีชีวิตกว่า 6-10 ชม.อยู่บนโลกออนไลน์ 

  

  • ยอดใช้โซเชียลมีเดียไทยทุกประเภทโตพุ่ง

We are Social รายงานว่า ช่วงไตรมาสที่ 2 ที่ผ่านมา คนไทยใช้โซเชียลมีเดียเติบโตก้าวกระโดด โดยเฉพาะเฟซบุ๊ค

ในระดับโลกมีผู้ใช้งานมากกว่า 2 พันล้านคน แต่ในไทยติดอันดับประเทศที่ใช้งานเฟซบุ๊คมากเป็นอันดับ 8 ของโลก ใช้งานมากกว่า 50 ล้านคน จากประชากรทั้งประเทศที่ประมาณ 70 ล้านคน 

อินสตาแกรม คนไทยมียอดผู้ใช้ 14 ล้านคน ติดอันดับ 16 ของโลก ทวิตเตอร์ คนไทยใช้ 7.15 ล้านคน  ยูทูบ แพลตฟอร์มดังของกูเกิล คนไทยรับชมวิดีโอบนยูทูบติดอันดับโลก ทั้งมีช่องทำเงินโดยยูทูบเบอร์ไทยมากมาย ขณะที่ ไลน์ แพลตฟอร์มสื่อสารเบอร์ 1 ของไทยมียอดผู้ใช้กว่า 46 ล้านราย แน่นอนว่า ประชากรบนออนไลน์ที่มากขนาดนี้ ย่อมทำให้กิจกรรมที่เกิดขึ้นบนสมรภูมินี้เสียงดัง และกระจายเป็นเม็ดเงินที่มีมูลค่ามหาศาล

นางสาวมณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ซี (ประเทศไทย) ผู้ให้บริการดิจิทัลรายใหญ่ กล่าวกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า หากมองตามเทรนด์ของโลก เจาะไปที่อุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หนึ่งในบริการที่ได้รับความนิยมมากในโลกออนไลน์ ยังคงเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ ปัจจุบัน ‘อินเทอร์เน็ต อีโคโนมี" ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มูลค่าแตะ 1 แสนล้านดอลลาร์แล้ว

 

  • ชี้ 4 เทรนด์หลักขับเคลื่อน ศกดิจิทัล 

โดย 4 ธุรกิจหลัก ที่ขับเคลื่อนการเติบโต ได้แก่ ‘Ride & Delivery’ ‘Online Travel’ ‘Online Media’ และ สุดท้ายคือ ‘อีคอมเมิร์ซ' ที่ครองสัดส่วน GMV หรือ Gross Merchandize Volume ก้อนใหญ่ที่สุดของ อินเทอร์เน็ต อีโคโนมีภูมิภาคนี้ ซึ่งมีมูลค่าราว 3.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าปี 2568 จะเติบโตจนมีมูลค่ามากถึง 1.5 แสนล้านดอลลาร์

“ดิจิทัลเทรนด์ที่เคยคาดการณ์ว่าจะเป็นนิว นอร์มอลในอนาคต วิ่งเข้าหาเราเร็วขึ้น เป็นบรรทัดฐานการใช้ชีวิตปัจจุบันไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นความแพร่หลายใช้ดิจิทัลแพลตฟอร์ม ซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น ใช้บริการรับส่งอาหารพร้อมทาน ใช้อีเพย์เมนท์ชำระเงิน ใช้แพลตฟอร์มเพื่อทดแทนการสื่อสารที่ต้องมีการติดต่อทางกายภาพ”

เธอกล่าวว่า สิ่งที่ตามมา คือ การเติบโตของ “Netizens” ทั่วโลก ล่าสุดรายงานจาก We Are Social และ Hootsuite ชี้ว่า เดือน เม.ย.2563 มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นราว 301 ล้านคน หรือ 7.1% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ส่งผลให้ปัจจุบันมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตรวมทั้งหมด 4.57 พันล้านคนทั่วโลก ผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียก็สูงไม่แพ้กัน เดือน เม.ย.2563 มีผู้ใช้งานมากขึ้นถึง 304 ล้านคน หรือเป็น 8.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ทำให้มีผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียรวม 3.81 พันล้านคนทั่วโลก

159892615192

  • อีคอมเมิร์ซไทยสะพัดระดับล้านล้าน

ขณะที่ ประชากรอินเทอร์เน็ตของไทยก็เติบโตไม่แพ้กันมากกว่า 50 ล้านราย และโตขึ้นเรื่อยๆ ผลสำรวจเมื่อปี 62 ระบุว่า คนไทยใช้เวลาเฉลี่ยบนอินเทอร์เน็ตมากว่า 10 ชั่วโมงต่อวัน ส่วนมูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซในไทยนั้น ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ระบุว่า ตัวเลขการซื้อสินค้าผ่านอีคอมเมิร์ซปี 2563 อาจจะโต 19% โตเฉลี่ยต่อเดือน 14,900 ล้านบาท เทียบช่วงปกติที่ไม่มีโควิด คาดว่า จะขยายตัวอยู่ที่ 9%  

ส่วนสำนักงานพัฒนาธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ หรือเอ็ตด้า ประเมินว่าปี 2562 มูลค่าอีคอมเมิร์ซไทยคงแตะอยู่ที่ 4.02 ล้านล้านบาท ซึ่งปีนี้โตก้าวกระโดดจากเดิมแน่ ด้วยพฤติกรรมนิว นอร์มอลที่คนไทยซื้อ-ขายของออนไลน์มากขึ้น มาตรการล็อคดาวน์ การปรับตัวเข้าสู่ออนไลน์ คือ คำตอบของทางรอด ส่งผลให้มูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซในธุรกิจห้างสรรพสินค้าเพิ่มสูงขึ้น เช่นเดียวกับ “ธุรกิจฟู้ดดีลิเวอรี่” ที่คาดการณ์ว่าปี 2563 ตลาดจะโตอย่างน้อย 30%

  • มองเทรนด์บันเทิงดิจิทัลขยายตัวสุด

นางสาวมณีรัตน์ กล่าวต่อว่า นอกจากอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซ โลจิสติกส์ จะมีดีมานด์เพิ่มขึ้นชัดเจน หนึ่งอุตสาหกรรมที่จับตามองคือ “ดิจิทัล เอ็นเตอร์เทนเม้นท์” ซึ่งเป็น Self-isolation Entertainment เสพได้ผ่านช่องออนไลน์แม้ต้องเก็บตัวอยู่ในที่พำนัก

โดย 57% ของชาวเน็ตทั่วโลก ระบุว่า รับชมภาพยนตร์และรายการต่างๆ ผ่านสตรีมมิ่งแพลตฟอร์มมากขึ้น ราว 39% ระบุว่าฟังเพลงผ่านสตรีมมิ่งแพลตฟอร์มมากขึ้น โดยเฉพาะแพลตฟอร์มที่นำเสนอความบันเทิงรูปแบบวิดีโอคอนเทนท์ ซึ่งรายงานว่า มียอดสมัครสมาชิกใหม่จำนวนมหาศาลเกิดขึ้นช่วงล็อกดาวน์ ด้านเกมมิ่งก็ไม่แพ้กัน กว่า 35% ของชาวเน็ตใช้เวลาเล่นเกมบนคอมพิวเตอร์และวิดีโอเกมมากขึ้น

นอกจากนี้ ราว 14% ก็หันมาฟังสื่อใหม่อย่างรายการพอดแคสต์มากขึ้น พฤติกรรมออนไลน์เหล่านี้มีแนวโน้มเกิดขึ้นต่อเนื่องแม้โควิด-19จะจบลงไปแล้วก็ตาม ที่เด่นชัดที่สุดคงจะเป็นเรื่องของการเสพความบันเทิงผ่านแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง

เธอกล่าวว่า การเสพความบันเทิงบนโลกออนไลน์ยุคปัจจุบัน เปลี่ยนแปลงไปจากอดีต ด้วยฟีเจอร์ต่างๆ ของดิจิทัลแพลตฟอร์มที่เปิดกว้างให้เกิดการสื่อสารสองทาง ตอบโจทย์ความต้องการการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมของมนุษย์ ตลอดจนการให้พื้นที่และความสำคัญกับ User Generated Content ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตไม่ได้เป็นเพียงแค่ “ผู้เสพคอนเทนท์” อีกต่อไป แต่ยังทำหน้าที่เป็น “ผู้สร้างและผู้ผลิตซ้ำคอนเทนท์” ด้วย ซึ่งในไทยก็มีทิศทางที่สอดคล้องไปกับโลก 

“ชาวเน็ต 15% จากทั่วโลกหันมาสร้างคอนเทนท์ เพื่ออัพโหลดขึ้นบนโลกออนไลน์มากขึ้นช่วง เม.ย.ที่ผ่านมา ในไทยเองมีตัวอย่างการเสพและผลิตซ้ำเนื้อหาจนกลายเป็นกระแสไวรัลบนโลกโซเชียลมีเดียให้เห็นได้ชัดหลายกรณี” นางสาวมณีรัตน์ กล่าว 

  • แอพฟู้ดดิลิเวอรี่ดันเม็ดเงินดิจิทัลสะพัด

ธุรกิจแอพสั่งอาหาร เป็นอีกวิถีชีวิตนิวนอร์มอลของผู้บริโภคยุคใหม่ กลายเป็นธุรกิจที่แข่งขันกันสูงมาก ปัจจุบันในตลาดมีผู้เล่นรายใหญ่ เช่นแกร็บ ฟู้ด ไลน์แมน เก็ท ฟู้ดแพนด้า ที่แบ่งกันกำเม็ดเงินในตลาดแอพฟู้ดดิลิเวอรี่ ที่มีเม็ดเงินมากกว่า 3.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งปีนี้คาดการณ์ว่าจะเติบโตจากนี้อีกว่า 20%

นางสาวจันต์สุดา ธนานิตยะอุดม ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด แกร็บ ประเทศไทย กล่าวย้ำว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ตลาดฟู้ดเดลิเวอรี่ประเทศไทยมีมูลค่ากว่า 3.5 หมื่นล้านบาท ช่วงโควิดฟู้ดเดลิเวอรี่เติบโตกว่า 30% แม้หลังคลายล็อกดาวน์การเติบโตจะช้าลง ทว่าด้วยสัดส่วนการเข้าถึงสมาร์ทโฟนที่มีกว่า 80% และยังมีโอกาสเติบโตจึสูง

อย่างไรก็ดี ครึ่งปีแรกช่วงวิกฤติโควิด-19 ยอมรับว่าบริการขนส่งคนยอดหายไป 90% เนื่องจากลูกค้าหลักเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทว่ากลุ่มฟู้ดเดลิเวอรี่เติบโตอย่างมาก ร้านค้าที่สมัครเข้ามาใหม่เติบโต 2.5 เท่า รวมปัจจุบันมีพันธมิตรร้านค้าบนแพลตฟอร์มกว่า 8 หมื่นร้านค้า ผู้ใช้รายใหม่เติบโต 3 เท่า คนขับสมัครเข้ามาใหม่กว่า 4 หมื่นคน รวมขณะนี้คนขับจากทุกบริการมีอยู่กว่า 1 แสนคน โดยสรุปครึ่งปีแรกยอดขายแกร็บฟู้ดเติบโตกว่าเท่าตัว ยอดรวมดาวน์โหลดแอพแกร็บมีจำนวนมากกว่า 14 ล้านดาวน์โหลด

ขณะที่ ไลน์แมน แอพดิลิเวอรี่ รายใหญ่ หลังจากเทคโอเวอร์ “วงใน” แพลตฟอร์มรีวิวและค้นหาร้านอาหารที่มีผู้ใช้งานกว่า 10 ล้านรายต่อเดือน ฐานข้อมูลร้านอาหารที่ใหญ่ที่สุดในไทยกว่า 400,000 ร้านทั่วประเทศ ก็อยู่ระหว่างการซุ่มเตรียมสรรพกำลังในการช่วงชิงเม็ดเงินฟู้ดดิลิเวอร์รี่ที่อยู่ในช่วงขาขึ้น ที่คาดการณ์ว่าจะมียอดออเดอร์สั่งอาหารเติบโตขึ้นอย่างมหาศาลนับ 20 ล้านออเดอร์ 

  • 4 แพลตฟอร์มทรงอิทธิพล

ขณะที่ ข้อมูลจาก Wisesight เผยช่วงเวลา 6 เดือนที่ผ่านมาแบรนด์สินค้าต่างๆ มีการใช้งานแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอย่างมากมาย โดยเมื่อรวมทั้ง 4 แพลตฟอร์มคือ เฟซบุ๊ค อินสตาแกรม ทวิตเตอร์ และยูทูบมีจำนวนโพสต์จากแบรนด์รวมกันทั้งสิ้น 1,064,226 โพสต์ โดยที่ เฟซบุ๊คยังคงเป็นแพลตฟอร์มหลักในการสื่อสาร

ขณะที่เมื่อโฟกัสไปที่แพลตฟอร์มที่สร้างการมีส่วนร่วมสูง อย่างเฟซบุ๊คและยูทูบพบว่าทั้งคู่เกิดการมีส่วนร่วมจากผู้บริโภคอย่างก้าวกระโดดในช่วงเมษายนและพฤษภาคม ชี้ชัดว่าช่วงเวลากักตัวหรือโควิด-19ที่ผ่านมาผู้บริโภคหันมาเสพเนื้อหาบนออนไลน์มากขึ้น และโซเชียลมีเดียก็มีผลกระทบอย่างมากต่อธุรกิจเกือบทุกประเภท

ภายหลังโควิดระบาดในประเทศไทย ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายๆ อย่าง หนึ่งในนั้นคือการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค การใช้ชีวิตแบบนิว นอร์มอลทำให้ยอดการใช้งานโซเชียลมีเดียพุ่งสูงขึ้น จนทั้งผู้ใช้งาน และผู้ประกอบการอย่างแบรนด์ต่างๆ หันมาให้ความสำคัญกับช่องทางนี้

  • เอดับบลิวเอสมองโอกาสดิจิทัล

นายชวพล จริยาวิโรจน์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท อะเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย) จำกัด หรือเอดับบลิวเอส กล่าวว่า สถานการณ์ช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยน การใช้งานดิจิทัล การเวิร์ค ฟอร์ม โฮม กลายเป็นสิ่งจำเป็น ทุกคนไม่ต้องการจับเงินที่เป็นกระดาษ ทำให้การทำธุรกรรมทางการเงินแบบออนไลน์โตขึ้น 

องค์กรทั้งเล็กและใหญ่มีการทรานฟอร์มไปสู่ดิจิทัลเร็วขึ้น การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวทำให้ธุรกิจต่างๆ ได้รับผลกระทบทั้งแง่ลบและแง่บวก และเกิดขึ้นกับทุกภาคส่วนอุตสาหกรรม 

“ช่วงโควิด-19 แม้จะมีผลกระทบแต่เป็นโอกาสของสตาร์ทอัพในการคิดไอเดียเพื่อแก้ปัญหา เพราะโควิด-19 เข้ามาเปลี่ยนพฤติกรรมของลูกค้า ทำให้ Gen X และ Baby Boomer เปลี่ยนแปลงด้วย เมื่อมีความต้องการใหม่ๆ นี้ ก็เป็นโอกาสของสตาร์ทอัพในการออกสินค้าและบริการมาทดลองตลาดในช่วงนี้”

นายชวพล กล่าวว่า ยังเป็นโอกาสของ ฟินเทค ที่มีโอกาสเติบโต เพราะความต้องการใช้บริการการเงินออนไลน์มีมากขึ้น ขณะที่ผู้ให้บริการฟินเทคเองมีจำนวนน้อย ทำให้บรรดานักลงทุนที่สนใจในกลุ่มสตาร์ทอัพมีความต้องการลงทุนกับสตาร์ทอัพ ฟินเทค มาก