‘เฟด’ จ่อคงดอกเบี้ยยาว ไทยต้องระวัง ‘บาทแข็ง’

‘เฟด’ จ่อคงดอกเบี้ยยาว ไทยต้องระวัง ‘บาทแข็ง’

หลัง “เฟด” ประกาศให้เงินเฟ้อปรับขึ้นไปยืนเหนือ 2% ได้ บอนด์ยิลด์ของสหรัฐก็ปรับตัวขึ้น ทองคำผันผวน นับเป็นเรื่องที่ไทยต้องติดตามในระยะยาวเพราะอาจเห็นฟันด์โฟลว์ไหลเข้าอาเซียนและไทย ประกอบกับขณะนี้เงินบาทเริ่มแข็งค่าขึ้น คงไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจไทยนัก

ตลาดการลงทุนทั่วโลกในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา อยู่ในช่วงการ “ปรับตัว” หลังมึนๆ งงๆ กับการ “ปรับเป้าหมาย” นโยบายการเงิน “ครั้งใหญ่” ของธนาคารกลางสหรัฐ หรือ “เฟด” แม้ว่าจะมีการคาดการณ์ไว้บ้างแล้วก็ตาม เพราะทันทีที่ “เจอโรม พาวเวล” ประธานเฟด แถลงว่า จะใช้ “เป้าหมายเงินเฟ้อเฉลี่ย” โดยยอมให้ “เงินเฟ้อ” มีความยืดหยุ่นมากขึ้น สามารถปรับขึ้นไปยืนเหนือ 2% ได้บ้างในบางช่วงเวลา แทนที่จะคุมไม่ให้เกินกว่าระดับ 2% ในขณะที่เงินเฟ้อเฉลี่ยช่วง 10 ปีที่ผ่านมาของสหรัฐอยู่ระดับต่ำเพียง 1.6% เท่านั้น ทำให้ตลาดตีความว่า ดอกเบี้ยนโยบายของเฟด น่าจะอยู่ระดับต่ำใกล้ 0% ไปอีกนาน อย่างน้อยก็คงไม่ต่ำกว่า 3-5 ปีขึ้นไป 

หลังสิ้นสุดการแถลงข่าว ผลตอบแทนพันธบัตร (บอนด์ยิลด์) รัฐบาลสหรัฐระยะยาว โดยเฉพาะรุ่นอายุ 10 ปี พุ่งขึ้นทันทีราว 9.5% จากแรงขายพันธบัตร ในคืนวันพฤหัสบดี มาอยู่ที่ 0.754% ก่อนจะอ่อนตัวลงเล็กน้อยราว 3.04% จากแรงซื้อกลับ มาอยู่ที่ 0.731% ในคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา เช่นเดียวกับราคาทองคำ ที่ผันผวนอย่างหนัก โดยคืนวันพฤหัสบดี ราคาทองคำตลาดโลกลดลง 25.43 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หรือ 1.3% มาอยู่ที่ 1,929.20 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก่อนจะรีบาวด์ขึ้นมาปิดตลาดที่ 1,964.50 ดอลลาร์ต่อออนซ์ในคืนวันศุกร์ หรือเพิ่มขึ้นมาราว 1.83% ในขณะที่ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงต่อเนื่อง

สำหรับผลกระทบต่อ “ไทย” ยังต้องติดตามดูว่าระยะข้างหน้าจะออกมาในมุมไหนบ้าง แต่ถ้าถามว่า กระทบต่อการทำนโยบายการเงินของไทยหรือไม่นั้น ข้อนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตอบชัดเจนแล้วว่า “ไม่กระทบ” เพราะกรอบนโยบายการเงินของไทยใช้ “เป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น” หรือ Flexible Inflation Targeting มาตั้งแต่ปี 2543 คือ ยอมให้เงินเฟ้อหลุดจากกรอบเป้าหมายได้บ้าง แต่จะดูค่าเฉลี่ยรายปีให้อยู่ในกรอบ ซึ่งจะว่าไปก็ไม่ต่างกับ “เป้าหมายเงินเฟ้อเฉลี่ย” ของเฟดมากนัก

อย่างไรก็ตาม ในมุมที่ต้องติดตามระยะข้างหน้า คือ ผลกระทบต่อค่าเงินบาทและเงินทุนเคลื่อนย้าย เพราะสัญญาณที่ถูกส่งออกมาจาก “เฟด” คือ ดอกเบี้ยนโยบายจะอยู่ “ระดับต่ำ” ไปอีกนาน ในขณะที่ เฟด ยังคงใช้มาตรการคิวอีแบบไม่อั้นอย่างต่อเนื่อง แน่นอนว่าในอนาคตคงมีเม็ดเงินบางส่วนที่ออกมาแสวงหาผลตอบแทนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงขึ้นหน่อยแต่ได้ผลตอบแทนที่มากขึ้น จึงมีความเป็นไปได้ที่จะเห็น “ฟันด์โฟลว์” ไหลเข้ามาในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงไทยมากขึ้น

ในมุมของ “ค่าเงินบาท” เราจะเห็นว่า “เริ่มแข็งค่า” อย่างรวดเร็ว หลังเสร็จสิ้นการแถลงข่าวจากเฟด โดยเงินบาทปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ที่ระดับ 31.14-31.16 บาทต่อดอลลาร์ เทียบกับระดับอ่อนสุดในช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาที่ 31.63 บาทต่อดอลลาร์ เท่ากับว่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมาราว 1.5% ...มองไปข้างหน้าสำนักวิจัยทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ประเมินว่า เงินบาทยังมีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่อง ซึ่งเราเห็นว่าไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจไทยมากนัก โดยเฉพาะในช่วงที่เราจำเป็นต้องพึ่งพาการส่งออกเพื่อมาช่วยฟื้นฟูประเทศ และยังอยู่ในช่วงการเตรียมความพร้อมเพื่อเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ดังนั้นเงินบาทที่โน้มแข็งค่า คงไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจไทยนัก