‘เกาหลีใต้’ ผุดไอเดีย ‘คาเฟ่แห่งความตาย’ ระลึกคุณค่าชีวิต ช่วงโควิด 

‘เกาหลีใต้’ ผุดไอเดีย ‘คาเฟ่แห่งความตาย’ ระลึกคุณค่าชีวิต ช่วงโควิด 

ทำความรู้จัก "คาเฟ่แห่งความตาย" ธุรกิจขายไอเดียแปลกที่ผุดขึ้นที่ผุดขึ้นทั่วเกาหลีใต้ เพื่อช่วยให้ผู้คนได้สำรวจจิตใจ และทบทวนวางแผนใหม่ในชีวิต ราวกับจุดประกายชีวิตใหม่ เมื่อผ่านประสบการณ์ความตายไปแล้ว

เกาหลีใต้ เป็นประเทศที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงที่สุดในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว และยังมีชั่วโมงการทำงานแต่ละวันยาวนานที่สุดในโลก ยิ่งในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ได้ตอกย้ำความเครียดให้กับสังคม นี่เป็นจุดเริ่มต้นธุรกิจขายไอเดียแปลก “คาเฟ่แห่งความตาย” (death cafes) ที่ผุดขึ้นทั่วเกาหลีใต้ เพื่อช่วยให้ผู้คนได้สำรวจจิตใจ และทบทวนวางแผนใหม่ในชีวิต

“พวกเรามาที่นี่ เพื่อจัดงานศพ” ราวี เพเทล นักแสดงชาวอเมริกันและพิธีกรรายการพาเที่ยวทั่วโลก ผ่านสตรีมมิงทางช่องเอชบีโอ แม็กซ์ กล่าวขณะเดินเข้าประตูร้านคาเฟ่แห่งความตาย พร้อมกับแมตทิว โพห์ลสัน พิธีกรร่วมรายการที่ออกสำรวจและเรียนรู้แนวคิดแต่ละประเทศ ซึ่งท้าทายต่อหลักปฏิบัติสากล

เพเทลและโพห์ลสัน เดินทางมายังเกาหลีใต้ครั้งนี้ เพื่อค้นหาวิธีการรับมือกับการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพ แต่แล้วพวกเขายังได้เรียนรู้ว่า สถานที่ทำงานในประเทศนี้บางครั้งยังสร้างความตึงเครียดมากเกินไป หากต้องการหลีกหนีบรรยากาศที่แตกต่าง ก็ต้องไปคาเฟ่แห่งความตายถึงได้ผล

ลูกค้าร้านคาเฟ่แห่งความตายสามารถจัดงานศพของตนเองได้ โดยสามารถเชิญเพื่อนๆ มาร่วมงาน ซึ่งพวกเขาจะได้สัมผัสประสบการณ์ใหม่ในคาเฟ่แห่งนี้ เช่น การสวมเสื้อผ้าในงานศพแบบดังเดิม การเขียนข้อความสรรเสริญจารึกบนหลุมฝังศพ รูปถ่ายติดหน้างาน การนอนในโลงไม้โบราณและปิดนานถึง 15 นาที ที่ให้ความรู้สึกกลัวแบบสุดขั้ว เพราะคาเฟ่ได้ออกแบบมาเพื่อจุดประกายชีวิตใหม่ เมื่อผ่านประสบการณ์ความตายไปแล้ว

“เป็นการปลุกให้ตื่นเพื่อค้นหาสิ่งไม่มีตัวตน” เพเทลกล่าวและชี้ว่า ทั้งหมดนี้เป็นการย้ำเตือนให้ไปสู่จุดมุ่งหมายสำคัญในชีวิต และอยู่อย่างมีความหวังด้วยใจเป็นสุข

คนเกาหลีใต้จะต้องทำงานมากถึง 52 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และอัตราการฆ่าตัวตายสูงที่สุดในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว ผู้คนจึงนิยมไปที่ร้านกาแฟแห่งนี้ เพื่อทบทวนลำดับความสำคัญในชีวิตการทำงาน ก่อนที่จะสายเกินไป

นอกจากนี้เกาหลีใต้ยังเผชิญหน้ากับการระบาดของโควิด-19 ระลอกสอง ข้อมูลวันที่ 30 ส.ค.2563 พบมีผู้ติดเชื้อใหม่ 299 ราย ส่งผลให้ยอดสะสมรวม 19,699 ราย และเสียชีวิตทั้งหมด 323 ราย

คาเฟ่แห่งความตายช่วยสร้างประสบการณ์ให้ลูกค้าได้คิดจินตนาการ หากมีเวลาที่จำกัด จะใช้ชีวิตต่อไปอย่างไร เพเทล มองว่า การเขียนคำสรรเสริญตนเองในวาระสุดท้ายเป็นการเปิดโอกาสได้พูดถึงและสะท้อนถึงคุณค่าในตัวเอง ส่วนการเขียนจดหมายสั่งเสียครอบครัว และได้อ่านออกเสียงดังๆให้ลูกค้ารายอื่นได้ฟังคือ ความปรารถนาที่ต้องการจะทำให้สำเร็จ

อย่างไรก็ตาม คาเฟ่แห่งความตายแสดงให้เห็นถึงความพยายามของคนทั่วโลก ในการจัดการความเครียดในที่ทำงาน โดยองค์กรอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) ได้เพิ่มนิยามคำว่า “ความเหนื่อยหน่าย” เป็นผลอาการจากการประกอบอาชีพ ก่อความเครียดในที่ทำงานแบบเรื้อรัง กลุ่มอาการนี้ทำให้รู้สึกอ่อนเพลีย ปฏิเสธต่องาน และประสิทธิภาพในการทำงานลดลง ซึ่งได้ถูกขึ้นบัญชีจำแนกโรคระหว่างประเทศ (International Classification of Disease) ในปี 2562 ว่าเป็นสาเหตุนำไปสู่ความตายได้ 

คาเฟ่แห่งนี้ จะช่วยให้เกาหลีใต้ได้เรียนรู้รักษาสมดุลในชีวิตและความเหนื่อยหน่ายจากการทำงาน ที่อาจจะผลกระทบต่อสุขภาพของคนในประเทศ