"อากู๋-เฮียฮ้อ" สังเวียนบันเทิง แตกต่างในความเหมือน

 "อากู๋-เฮียฮ้อ" สังเวียนบันเทิง  แตกต่างในความเหมือน

ยักษ์(เคย)ใหญ่ ในธุรกิจเพลง ขับเคี่ยวเป็น “ผู้นำ” บนสังเวียนธุรกิจแต่สึนามิเทคโนโลยี ดิจิทัล ดิสรัปชั่น ตัวแปรเบรกความยิ่งใหญ่ ถอดบทเรียน “ซีอีโอ” นักสู้! “อากู๋-เฮียฮ้อ” แห่งแกรมมี่-อาร์เอส ภารกิจทรานส์ฟอร์มองค์กร ให้ผงาดอีกครั้ง ในยุคดิจิทัล

ประโยคที่ว่า...ใดๆในโลกล้วนไม่จีรังยั่งยืน เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป...อาจสะท้อนภาพความเป็นจริงของโลก แต่ในมิติของธุรกิจ ผู้ประกอบการมักต้องการเห็นความยั่งยืนเกิดขึ้นในองค์กร การดำรงอยู่ของบริษัทนานนับทศวรรษ ไปจนถึงศตวรรษ หรือร้อยปี

ทว่า ปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงที่เกิดเร็วและแรงปัจจัยภายนอกที่ยากจะคาดเดาของโลกที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน หรือ VUCA World ประกอบด้วยความผันผวน (Volatility) ความไม่แน่นอน (Uncertainty) ความซับซ้อน (Complexity) ความคลุมเครือ ไม่ชัดเจน(Ambiguity) ทั้งเศรษฐกิจโลกถดถอย พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน โรคระบาดที่สร้างเหตุการณ์ช็อก!โลก-ธุรกิจ รวมถึงสึนามิดิจิทัล ดิสรัปชั่นและอีกเหตุการณ์นานัปการ ทำให้องค์กรธุรกิจอยู่นิ่งไม่ได้ เพราะนั่นอาจเท่ากับการถอยหลังเพราะหากคู่แข่งขยับตัวออกสเต็ปตลอดเวลา อาจแซงหน้าไปไกล 

หลายปีที่ผ่านมา และมองข้ามช็อตถึงอนาคตดิจิทัล ดิสรัปชั่นยังคงเป็นตัวแปรใหญ่สร้างความเปลี่ยนแปลงธุรกิจ ทำให้ผู้ประกอบการต้องพลิกโมเดลปรับโครงสร้างองค์กร โครงสร้างธุรกิจเพื่อฝ่าพายุเทคโนโลยี 

หนึ่งในองค์กรธุรกิจที่น่าถอดบทเรียนเพื่อเป็นกรณีศึกษาถึงการปรับตัวจากภาวะที่เผชิญวิกฤติหนักหน่วง ยกให้ 2 ค่ายเพลงยักษ์(เคย)ใหญ่ แกรมมี่-อาร์เอส ที่ย่อส่วนเล็กลง ปี 2562 รายได้เพลงของแกรมมี่ สัดส่วนเพียง 12%(ไม่รวมดิจิทัลมิวสิค) ส่วนอาร์เอส รายได้เพลงสัดส่วน 5-7% เท่านั้น  

อากู๋   -   ไพบูลย์     ดำรงชัยธรรม”  ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการ บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) เป็นแม่ทัพคนสำคัญขับเคลื่อนแกรมมี่จนเติบใหญ่ และเคยทำรายได้จนถึงหมื่นล้านบาทส่วน  “เฮียฮ้อ  -  สุรชัย    เชษฐโชติศักดิ์”  ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์เอส จำกัด(มหาชน) หรืออาร์เอสกรุ๊ป กำเงิน 50,000 บาท ร่วมกับพี่ชายเฮียจั๊ว เกรียงไกร เชษฐโชติศักดิ์ตั้งโรส ซาวด์ เมื่อ 39 ปีก่อน และสร้างอาณาจักรธุรกิจบันเทิงอยู่แถวหน้าของเมืองไทย

ย้อนเรื่องราว 2 ค่ายเพลงในตำนาน ในมิติการแข่งขันทั้งคู่ถือเป็นไม้เบื่อไม้เมาและเป็นคู่กัดกันตลอดกาล ไม่แค่ในมุมของธุรกิจ แต่ยังลามถึงผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายด้วย ที่สาวกของทั้ง 2 ค่ายมีการเหยียดโต้ตอบกันไปมา หากฝ่ายหนึ่งฟังเพลงอีกค่าย จะไม่ฟังและเหน็บแนมเพลงอีกค่ายทันที ไม่เว้นกระทั่งแม่ทัพใหญ่ของทั้ง 2 ฝั่งที่เลือกอยู่คนละข้าง

แม้ เพลงจะเป็นคอนเทนท์ที่ได้รับการยกย่องว่าอยู่เหนือกาลเวลา(Timeless/Ageless) แต่ อุปกรณ์ในการฟังเพลงเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย และมี แพลตฟอร์ม ใหม่ๆ ทรงอิทธิพพลต่อผู้บริโภคในการฟังเพลงอย่างต่อเนื่อง 

อดีตธุรกิจเพลงเคยยิ่งใหญ่ สร้างความมั่งคั่งให้เจ้าของ-ผู้ถือหุ้นแต่ปัญหาเกิดขึ้นเสมอ เมื่อพ้นยุคตลับเทปเข้าสู่ซีดี-เอ็มพี3” เพราะเกิดการดาวน์โหลดค้าขายแบบผิดกฏหมายในวงกว้างจนเห็นภาพการกวาดล้างและจับกุมผู้ผลิตเทปผีซีดีเถื่อนรายวัน

ทว่า จุดเปลี่ยนใหญ่ หนีไม่พ้นการถูกคลื่นเทคโนโลยีถาโถมธุรกิจซวนเซแกรมมี่-อาร์เอสต่างพยายามพลิกยุทธศาสตร์ ปั้นโมเดลธุรกิจ แต่ทั้งคู่ต่างเผชิญความยากและท้าทายไม่น้อย ยิ่งกว่านั้น ความมั่งคั่งที่เคยมีถูกแทนที่ด้วยการขาดทุน ล้วนเกิดขึ้นมาแล้ว 

++เส้นทางแตกต่างเหมือนกัน 

จุดตั้งแต่จากธุรกิจเพลงเหมือนกัน และการมีศิลปินแนวเพลงทุกประเภทเหมือนกัน แต่จังหวะจะโคนการทำตลาด เรียกว่าแลกกันหมัดต่อหมัด ช่วงไหนเพลงร็อกมาแรง ทั้งคู่จะปล่อยศิลปินดังมาโกยกระแสเงินยอดขายจากแฟนๆ เพลงป๊อบ แดนซ์ บอยแบนด์ เกิร์ลกรุ๊ป แม้กระทั่งลูกทุ่งมาท้าชนกันเสมอ 

นอกจากนี้ มีการขยับมาสร้างภาพยนตร์เพื่อสร้างรายได้ เส้นทางนี้ก็แข่งกันเหมือนเดิม เพราะเป็นการแย่งขุมทรัพย์ทางการตลาด โดยอาร์เอสตั้งบริษัทอาร์เอส ฟิล์มในปี 2538 และปล่อยภาพยนตร์ โลกทั้งใบให้นายคนเดียว สร้างตำนานให้ผู้บริโภคจดจำ ส่วนแกรมมี่ สร้างภาพยนตร์ที่โด่งดังอย่างมากในปี 2546 อย่างแฟนฉันทำรายได้ถล่มทลาย ไม่แพ้กัน

159875739759

เมื่อบริบทธุรกิจเปลี่ยน ผู้ประกอบการต้องปรับตัว ก่อนเทคโนโลยีทรงอิทธิพล การเป็นเจ้าของสื่อกลายเป็นความเย้ายวนในตลาด เพราะเป็นช่องทางโกยเงินโฆษณามูลค่าแสนล้านบาทเดิมทีธุรกิจทีวีมีเพียง 4 ยักษ์ใหญ่ ได้แก่ ช่อง 7 ช่อง 3 ช่อง 9 อสมท และช่อง 5 ที่กุมเงินโฆษณาอู้ฟู่! อาร์เอส จึงก้าวเข้าสู่วงการจอแก้ว ตั้งบริษัทขึ้นมาผลิตรายการวาไรตี้ เกมส์โชว์ ละคร ป้อนให้กับทีวีช่องต่างๆ ส่วนแกรมมี่ เข้าสู่ธุรกิจทีวี ผลิตรายการข่าวเศรษฐกิจ เข้าถือหุ้นใน บริษัท สตูดิโอ และ ซีเนริโอ เพื่อผลิตคอนเทนท์เหมือนกัน 

เพราะ เพลง-ศิลปินคือสินทรัพย์ชั้นเยี่ยม ทั้ง 2 บริษัท จึงต่อยอดด้วยการขยายสู่ธุรกิจวิทยุ เอาใจแฟนเพลง 

แนวทางการขยับขยายธุรกิจที่เหมือนกัน ยังไม่หมด เพราะในยุคที่สื่อโทรทัศน์ยังทรงพลัง การแก่งแย่งคอนเทนท์ที่เป็น ไม้ตายตรึงคนดูเกิดขึ้นอย่างดุเดือด ในปี 2550 “อาร์เอสฉลองครบรอบ 25 ปีของการก่อตั้งบริษัท และคิดการใหญ่ลุยทำโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิกหรือ เพย์ทีวี และมีการตั้งบริษัทลูกเพื่อรุกธุรกิจคอนเทนท์ กีฬาซึ่งขนานนามเป็น Content is King เพราะการแข่งขันกีฬาต้องรับชมสดเท่านั้นจึงจะมันส์!ถึงใจ และได้ลุ้นชัยชนะกันแต้มต่อแต้มวินาทีต่อวินาที 

อาร์เอส โดดสู่สังเวียนการประมูลมหกรรมกีฬาของมวลมนุษย์ชาติอย่างฟุตบอลโลก 2010, 2014” และฟุตบอลยูโร 2008” ส่วนการรับชมต้องผ่านกล่อง “Sun Box” เวลาไล่เลี่ยกันแกรมมี่เปิดเกมบุกธุรกิจเพย์ทีวี มีกล่อง “GMM Z” หาฐานสมาชิก ส่วนคอนเทนท์เพื่อนำมาดึงคนดู หนีไม่พ้นกีฬา ทำให้จึงประมูล ฟุตบอลยูโร 2012”  

เกมกีฬาที่ว่าแข่งขันกันดุเดือด! ยังไม่เท่าเกมธุรกิจที่ฟาดฟันของยักษ์ใหญ่เพราะในช่วงเวลาที่แกรมมี่-อาร์เอสต่างถือลิขสิทธิ์ถ่ายทอดกีฬาฟุตบอลที่คนไทยทั้งประเทศรอคอย  กลับเกิดศึกบล็อก!สัญญาณการรับชม เพราะต่างฝ่ายต่างต้องการขายกล่องรับสัญญาณโทรทัศน์ของตัวเอง เพื่อโกยฐานและรายได้จากค่าสมาชิกนั่นเอง 

ช่วงทีวีดาวเทียมบูมทั้ง 2 บริษัท ได้โดดเข้าสังเวียนดังกล่าว มี ช่องหรือ Channel เป็นของตัวเอง ทว่า Big Chage คือการเปิดสงครามจอแก้วครั้งใหญ่ เมื่อแกรมมี่-อาร์เอสตั้งบริษัทในเครือเพื่อประมูลช่องทีวีดิจิทัลแกรมมี่ คว้ามา 2 ช่อง คือช่องวาไรตี้ความคมชัดสูง(HD)ภายใต้ ช่องวัน 31” ด้วยมูลค่า 3,320 ล้านบาท และช่องวาไรตี้ความคมชัดปกติ(SD) ภายใต้ช่อง จีเอ็มเอ็ม25” มูลค่า  2,290 ล้านบาท ฝั่งอาร์เอสทุ่มทุน 2,265 ล้านบาท มี ช่อง8” 

159875470949

ความมั่งคั่งปรับขึ้น-ลง 

++บทเรียนบาดเจ็บครั้งใหญ่

ธุรกิจเป็นเรื่องของ กำไร-ขาดทุนแต่ไม่มีนักลงทุน หรือผู้ประกอบการรายใดต้องการเห็นบรรทัดสุดท้ายอยู่ใน Red Zone การผ่าตัดเปลี่ยนผ่านองค์กรเป็นเรื่องยาก แต่เมื่อธุรกิจเพลงอยู่ในช่วง ขาลงและธุรกิจทีวีมีเม็ดเงินโฆษณาแสนล้านเย้ายวนมาก แต่การลงสนามกลับไม่เป็นอย่างที่คาด เพราะต้นทุนใบอนุญาตประกอบกิจการทีวีดิจิทัล(ไลเซ่นส์) ที่สูงมาพร้อมกับพายุเทคโนโลยีก่อตัวซัดธุรกิจครั้งใหญ่ ที่สุดนำไปสู่คนดูทีวีน้อยลงเพราะหันไปรับชมผ่านอุปกรณ์และแพลตฟอร์มดิจิทัล 

5 ปีแรก ผู้ประกอบการขาดทุนบักโกรก แกรมมี่ ปี 2558 ขาดทุนถึง 1,288.53 ล้านบาทและขาดทุนต่อเนื่องถึงปี 2560 ก่อนพลิกมี กำไร ในปี 2561 มูลค่า 15.43 ล้านบาท ส่วน อาร์เอสขาดทุนหนักปี 2559 มูลค่า 102.15 ล้านบาท แต่ปีถัดมาพลิกทำกำไรได้อีกครั้ง  

ไม่เพียง 2 บิ๊กธุรกิจบันเทิงที่บาดเจ็บสาหัส เพราะบางรายถึงกับถอดใจยกธงขาวลาจอไปก่อน แต่การห้ามเลือด! ยังไม่บรรเทา จึงมีอาญาสิทธิ์หรือมาตรา 44 ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เปิดทางให้คืนใบอนุญาตมี 7 ราย โบกมือบ๊ายๆ รับเงินชดเชยกันไป 

สถานการณ์อุตสาหกรรมโฆษณาผ่านสื่อทีวีดิจิทัลปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่าง 3 ปีที่ผ่านมา ทีวีครองเม็ดเงินดังนี้ 7 เดือนแรก ปี 2563 มีสัดส่วน 48.7% ปี 2562 สัดส่วน 52% และปี 2561 สัดส่วน 61.5% เทียบกับสื่อดิจิทัลที่เป็นขาขึ้นโดย 7 เดือน ปี 2563 มีสัดส่วน 29.2% ปี 2562 สัดส่วน 21.1% เป็นต้น 

อากู๋ ไพบูลย์”  ฉายภาพให้กรุงเทพธุรกิจฟังว่า การทำธุรกิจทีวีดิจิทัล เผชิญการถูกดิสรัปมาโดยตลอด ทั้งจำนวนช่องทีวีที่เพิ่มมากขึ้น การเข้ามาของแพลตฟอร์มออนไลน์(Over The Top : OTT) ที่ซ้ำเติมอีกคือภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย 

ขณะที่ปัจจัยของผู้กำกับนโยบายอย่าง คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ที่ประกาศตั้งแต่ตอนประมูลทีวีดิจิทัล ว่าจะนำช่องทีวีดิจิทัลไปออกอากาศทุกแพลตฟอร์ม เพื่อให้คนไทยทั่วประเทศได้รับชม แต่พอปฏิบัติจริง สิ่งเหล่านี้ไม่เกิดขึ้น ปัจจุบันยังมีปัญหาใหญ่อย่างการยกเลิกเรียงช่องเข้ามาทุบธุรกิจอีก

การเรียงช่องเหมือนปัญหาเล็ก แต่จริงๆเป็นปัญหาใหญ่ กระทบการนำเสนอรายการต่างๆเพื่อสื่อสารกับประชาชน เป็นปัญหาที่ชุลมุนวุ่นวาย” 

หลากปัจจัยลบรุมเร้า ทำให้ธุรกิจทีวีดิจิทัลคืนทุนช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ แต่ อากู๋ให้มุมมองของนักสู้ ธุรกิจมีปัญหา แต่เราต้องต่อสู้ระยะเวลาใบอนุญาตที่เหลืออีก 9 ปี แต่ละช่องจึงต้องมีกลยุทธ์ในการแก้ไข เช่น มุ่งสู่แพลตฟอร์มออนไลน์

มุมของการทำธุรกิจทีวีดิจิทัล ไม่ได้หดหู่อะไรนะ

159875529779

++แกรมมี่ทรานส์ฟอร์ม

สู่คอนเทนท์โปรวายเดอร์ 

การปรับตัวเกิดขึ้นจาก 2 กรณี คือ องค์กรกำหนดทิศทางปรับตัวเองเพื่อรับการเปลี่ยนแปลง  หรือถูกปัจจัยภายนอกบีบให้ต้องปรับตัว ดิจิทัล ดิสรัปชั่น เป็นตัวแปรใหญ่มาก ยิ่งโรคโควิด-19 ระบาด ทำให้ปรับสูตรรบกันใหม่     

แกรมมี่ชัดเจนมุ่งสู่การเป็นผู้ผลิตคอนเทนท์(Content Provider) เต็มตัว ซึ่ง อากู๋ ไพบูลย์ ถอดบทเรียน 6 ปี บนเส้นทางธุรกิจทีวีดิจทัลทุกรายเริ่มมีพัฒนาการของตัวเอง เมื่อทีวีถูกดิสรัปจากเทคโนโลยี แพลตฟอร์มออนไลน์ แกรมมี่ต้องไปออนไลน์ และหาน่านน้ำใหม่ในตลาดต่างประเทศด้วย 

สถานการณ์ธุรกิจทีวีดิจิทัลโดยรวมมันหดหู่ มันแย่ แต่เราไม่จำกัดตัวเองอยู่แค่ธุรกิจทีวี เราเป็นคอนเทนท์โปรวายเดอร์ กำลังนำคอนเทนท์ไปเสิร์ฟผู้บริโภคทุกมิติ ทุกแพลตฟอร์มเขาขยายความว่าจะนำศิลปิน คอนเทนท์ทุกอย่างต่อยอดสร้างรายได้หลายช่องทาง เช่น การปั้นสินค้าศิลปิน อีเวนท์ คอนเสิร์ต ค้าขายสินค้า  

เรามีทางทำมาหากินได้หลายทาง และทีวีดิจิทัลช่องวันเรามีกำไรแล้ว ซึ่งทีวีดิจิทัลเป็นจุดเริ่มต้นทุกอย่างก่อนหน้าแกรมมี่ต้องการดันช่องวัน 31” และจีเอ็มเอ็ม25” เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) ซึ่งล่าสุด อากู๋ยังคงเจตนารมย์เดิม แต่รายละเอียดยังอุบไว้ 

การทรานส์ฟอร์มธุรกิจดั้งเดิมไปสู่สิ่งใหม่ ได้ดึงคนโฆษณาอย่าง ภาวิต จิตรกรมานั่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายธุรกิจ จีเอ็มเอ็ม มิวสิค บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) พร้อมวางบันได 3 ขั้น ได้แก่ ปรับโครงสร้างองค์กร รับยุคดิจิทัล การหารายได้ผ่าน 7 ยุทธศาสตร์ เช่น ปั้นศิลปินทุกสร้างสรรค์ทุกแนวเพลงป้อนผู้ฟัง ขยายธุรกิจโชว์บิส จับมือพันธมิตรบุกตลาดต่างแดน ล่าสุดผนึกเทนเซ็นต์ เอ็นเตอร์เทนเมนท์ มิวสิค กรุ๊ปหรือ TME เจาะฐานผู้ฟังแดนมังกร 800 ล้านคน ปั้นสินค้าศิลปิน ประเดิมต่าย อรทัย ดาบคำสู่สินค้าสกินแคร์แบรนด์ออร่า-ทัยเตรียมเสริมทัพสินค้าศิลปินเพิ่ม 3 ปี 500 ล้านบาท 

159875532836

แกรมมี่ปั้นสินค้าศิลปิน(Star Product) ประเดิมแบรนด์ "ออร่า-ทัย"

ภารกิจสำคัญไม่แพ้การทำตลาดภาวิตประกาศทำทุกวิถีทางให้ธุรกิจมิวสิคในปี 2563 ไม่ขาดทุนส่วนผลลัพธ์จะออกมาอย่างไร ต้องติดตาม

++อาร์เอส ก้าวสู่เส้นชัยด้วยเอ็นเตอร์เทนเมิร์ซ

ในการเปิดบ้านใหม่ของอาร์เอส เฮียฮ้อเชิญแขกเหรื่อมากมายและนักลงทุร่วมงาน พร้อมโชว์วิสัยทัศน์การเคลื่อนอาณาจักรบันเทิงสู่การเติบโตในอนาคต 

เฮียไม่กลัวการดิสรัปเลย เพราะจริงๆ เราไม่มีทางรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น อย่างโควิด-19 เป็นดิสรัปชันหนึ่ง วิธีการเฮียคือเตรียมองค์กรให้พร้อม ทำสิ่งที่เรารู้ดีกว่านั่งคิดว่าจะเกิดอะไรขึ้น  

เมื่อ Passion to Win คือุดมการณ์สำคัญเพื่อทำงานไปสู่ความสำเร็จ จึงเห็นแม่ทัพและขุนพลข้างกายเล่ากลยุทธ์ด้วยความปรารถนาไปสู่เส้นชัยคือยอดขาย หมื่นล้านบาท

เฮียฮ้อ ฉายภาพว่า ปี 2563 เป็นปีสำคัญเพพราะเป็การสตาร์ทของอาร์เอส กรุ๊ปยุคใหม่ที่พิสูจน์ว่าการเปลี่ยนผ่านองค์กรหรือ Transformation ด้วยโมเดลธุกิจ “Entertainmerce” แตกต่างไม่เหมือนใคร 

159875546176

เฮียฮ้อ-สุรชัย แแม่ทัพพใหญ่ และขุนพลข้างกาย 

ด้วยความเชื่อว่าการขับเคลื่อนธุรกิจในยุคดิจิทัล ไม่ใช่เกมของปลาใหญ่กินปลาเล็ก หรือปลาเร็วกินปลาช้า แต่ปลาฉลาดจะกินรวบทุกปลาจึงเห็นการปรับโครงสร้างทีมบริหารให้มีความคล่องแคล่วขึ้น(Agile) ลดโครงสร้างและขั้นตอนที่ยุ่งยาก เพื่อให้สื่อสาร ทำงานเร็วขึ้น และมุ่งสู่เป้าหมายเดียวกันคือสร้างแรงบันดาลใจ เติมเต็มชีวิตผู้บริโภคด้วยความบันเทิงและสินค้า   

เพราะมุ่งเอ็นเตอร์เทนเมิร์ซเต็มตัว ทุกอย่างที่หยิบมาทำการตลาด ต้องขายทำเงินได้ สิ่งใหม่ๆที่จะเห็นในปี 2563 และก้าวต่อไปของบริษัท สร้างความฮือฮา! ให้ผู้บริโภคยุค 80s 90s ได้ไม่น้อย เช่น การโดดชิงเค้กตลาดอาหารสุนัขและอาหารแมว มูลค่าตลาดกว่า 4 หมื่นล้านบาท เติบโต 10% ต่อเนื่อง 10 ปี  โดยมีหัวหอกไลฟ์สตาร์ทำหน้าที่ป้อนผลิตภัณฑ์ 

การขยายสู่ตลาดใหม่อย่างอาหารสุนัขและแมว ยังเกิดจาก Insight ของเฮียฮ้อที่เลี้ยงสุนัขและยอมทุ่มเทใช้จ่ายเพื่อสัตว์เลี้ยงแสนรักด้วยเงินจำนวนมาก ขณะที่การนำเสนอข้อมูลทำตลาด ได้นำน้องหมาที่ตนเลี้ยงมาเป็นดาราหน้าจอด้วย 

ศิลปิน นักร้องเป็นสินทรัพย์ชั้นยอด จึงผนึกกำลังปั้นสินค้า ประเดิมใบเตย อาร์สยาส่งผลิตภัณฑ์คอสเมติกส์ BT Cosmetics Color Collection ชิมลาง เตรียมคลอดสินค้ารังนกรับความต้องการของผู้บริโภคที่สูงกว่าการผลิต(Demand over Supply) 

ไฮไลท์สำคัญ คือการกลับมาสร้างความยิ่งใหญ่ของค่ายเพลงระดับตำนาน ไม่ว่าจะเป็น อาร์สยาม มุ่งยกระดับเพลงลูกทุ่ง กามิกาเซ่เพื่อทวงบัลลังก์ค่ายเพลงวัยรุ่นในมิติใหม่ รับตลาดไอดอลเกิร์ลกรุ๊ป บอยแบนด์ ที่ได้รับความนิยมอย่างมาก และขาดไม่ได้การคืนชีพของ โรสซาวด์ต้นกำเนิดอาร์เอส จะปลุกศิลปินไอคอนดังในอดีตมาสร้างปรากฏการณ์ให้ฐานแฟนคลับอีกครั้ง ซึ่งกลยุทธ์ดังกล่าว บริษัทได้เตือนความทรงจำแฟนๆด้วยแฮชแท็ก #โตมากับอาร์เอส ด้วย 

คนพูดถึงกันมากว่าอาร์เอสจะเลิกทำเพลง แต่วันนี้เชื่อว่าด้วยโมเดลธุรกิจใหม่ และการกลับมาค่ายเพลงจะทำให้ธุรกิจกลับมาโตอีกครั้งในปีหน้า 

159875560219

#โตมากับอาร์เอส แฮชแท็กเรียกน้ำย่อยแฟนคลับ

หมากรบทุกตัวของเฮียฮ้อให้น้ำหนักการทำกำไรขั้นต้น”(GP)ที่ 50% เพื่อปูทางให้กำไรสุทธิยังคงแข็งแร่ง

อย่างไรก็ตาม หากพูดถึงระบบนิเวศน์ของอาร์เอส เสริมแกร่งให้โมเดลเอ็นเตอร์เทนเมิร์ซอย่างมาก ทีวีดิจิทัลช่อง 8 มีฐานผู้ชมทั่วไทย วิทยุมีผู้ฟังหลักล้าน ธุรกิจเพลงมีฐานแฟนคลับมหาศาลทุกเพศทุกวัยทั่วประเทศ และสาวกเหล่านี้ถูกเปลี่ยนเป็นผู้ซื้อสินค้าได้หมด ส่วนช่องทางจำหน่าย บริษัทมีรองรับครบครันอย่างอาร์เอสมอลล์ทั้งทีวี อีคอมเมิร์ซ และแอ๊พพลิเคชั่น 

ทั้งหมดเป็นยกใหม่ของ “แกรมมี่-อาร์เอสทะยานสู่ความยิ่งใหญ่ในยุคใหม่ที่ “โลกใบเดิมที่หมุนเร็วด้วยดิจิทัล