'ภาษี' ยื่นไม่ทันวันที่ 31 ส.ค. 63 'เสียภาษี' ไม่ครบตามกำหนด จะเจออะไรบ้าง?

'ภาษี' ยื่นไม่ทันวันที่ 31 ส.ค. 63 'เสียภาษี' ไม่ครบตามกำหนด จะเจออะไรบ้าง?

คนลืม ยื่น "ภาษี" ต้องรู้! สำหรับผู้ที่ไม่ได้ "ยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา" จนหมดเขตการขยายเวลา 31 ส.ค. 63 จะต้องปฏิบัติตามขั้นต้อน 'ยื่นภาษีย้อนหลัง' และข้อกำหนดต่างๆ ของกรมสรรพากร

เหลืออีกแค่ 1 วัน ถึงกำหนดขยายเวลา "ยื่นภาษี" วันสุดท้ายของปีภาษี 2562 จะมาถึง สำหรับผู้ที่ยังไม่ได้ยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดายังสามารถยื่นภาษีผ่านช่องทางออนไลน์ของกรมสรรพากร "www.rd.go.th" ภายในวันที่ 31 ส.ค. 63

ช่วงเวลาที่กระชั้นชิดแบบนี้อาจทำให้หลายคนลืมยื่นภายในเวลาที่กำหนด หรือเตรียมเอกสารไม่ครบทำให้เกิดความผิดพลาดในการยื่นภาษี ทำให้ต้องติดต่อยื่นเพิ่มเติมในภายหลังจากเวลาที่กำหนด ซึ่งกรณีต่างๆ เหล่านี้ จะมีค่าปรับตามมา หรือถึงขั้นมีโทษทางอาญา (แล้วแต่กรณี)

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง: 

"กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" รวบรวมข้อมูลจาก "กรมสรรพากร" เกี่ยวกับสิ่งที่ผู้มีเงินได้จะต้องรับผิดชอบเมื่อ ยื่นภาษีช้าเกินกำหนดเวลา และ กรณีที่ไม่ชำระภาษีในกำหนดเวลา หรือชำระไม่ถูกต้อง ดังนี้

  •  กรณียื่นภาษีช้าเกินกำหนดเวลา 

1. บุคคลธรรมดาที่ไม่ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 ภายในวันที่ 31 มีนาคม ของทุกปี (ปีภาษี 2562 ขยายเวลาการยื่นภาษีถึง 31 ส.ค.63) หรือยื่นแบบฯ เกินกำหนดเวลา

ต้องระวางโทษค่าปรับไม่เกิน 2,000 บาท ตามมาตรา 35 แห่งประมวลรัษฎากร แต่สามารถขอลดค่าปรับได้ 

2.  ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 /91 ผ่านอินเทอร์เน็ต กรณีมีเงินภาษีต้องชำระ

หากท่านมิได้ชำระเงินภาษีภายในวันที่ 31 มีนาคม ของทุกปี ถือว่ามิได้ยื่นแบบ  ท่านต้องไปยื่นแบบ ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา  และชำระเงินภาษี พร้อมเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระ รวมทั้งค่าปรับตามข้อ 1

3. ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 เกินกำหนดเวลา

3.1  กรณีมีเงินภาษีต้องชำระ ให้ชำระเงินภาษี  พร้อมเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระ รวมทั้งค่าปรับตามข้อ 1
3.2  กรณีไม่มีเงินภาษีต้องชำระ ให้ชำระค่าปรับตามข้อ 1 เพียงอย่างเดียว

4.  ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 เพิ่มเติมภายหลังกำหนดเวลาการยื่นแบบ

4.1 กรณีมีเงินภาษีต้องชำระ ให้ชำระเงินภาษี พร้อมเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระ โดยไม่ต้องเสียค่าปรับ
4.2 กรณีไม่มีเงินภาษีต้องชำระ ไม่ต้องเสียเงินเพิ่มและค่าปรับ

5.  ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 ขอผ่อนชำระเงินภาษี

หากมิได้ชำระภาษีงวดใดงวดหนึ่งภายในกำหนดเวลา จะหมดสิทธิ์การผ่อนชำระและต้องชำระภาษีอากรที่ค้างอยู่ทั้งหมด โดยต้องเสียเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนของเงินภาษีงวดที่เหลือ

  •  ไม่ชำระภาษีในกำหนดเวลา หรือชำระไม่ถูกต้อง 

นอกจากกรณีที่ยื่นภาษีช้า แล้ว ข้อมูลจาก "กรมสรรพากร" ระบุถึงที่สิ่งผู้มีเงินได้จะต้องรับผิดชอบในกรณี "ไม่ชำระในกำหนดเวลาหรือชำระไม่ถูกต้อง" จะมีความรับผิด ดังนี้    

เบี้ยปรับและเงินเพิ่ม ถือเป็นบทลงโทษเกี่ยวกับภาษีอากรอย่างหนึ่ง และอาจมีโทษทางอาญาด้วย แล้วแต่ความผิดว่าเป็นเรื่องร้ายแรงขั้นไหน

โดยหากบุคคลใดยื่นแบบฯ ภายในกำหนดแต่ชำระภาษีไม่ครบถ้วน หรือยื่นแบบฯ ล่าช้า ละเลย หรือหลีกเลี่ยงการยื่นแบบฯ จะต้องเสียเงินเพิ่มและเบี้ยปรับตามกฎหมายกำหนด และหากฝ่าฝืนไม่ยอมชำระ ก็ต้องรับโทษทางอาญาด้วย ซึ่งมีบทลงโทษ ดังนี้
  
1. กรณีไม่ชำระภาษีภายในกำหนดเวลา จะต้องเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน (เศษของเดือนให้นับเป็น 1 เดือน) ของเงินภาษีที่ต้องชำระนับแต่วันพ้นกำหนดเวลาการยื่นรายการจนถึงวันชำระภาษี   

2. กรณีเจ้าพนักงานตรวจสอบออกหมายเรียก และปรากฏว่ามิได้ยื่นแบบแสดงรายการไว้หรือยื่นแบบแสดงรายการไว้แต่ชำระภาษีขาดหรือต่ำไป นอกจากจะต้องรับผิดชำระเงินเพิ่มแล้ว ยังจะต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับอีก 1 เท่าหรือ 2 เท่าของภาษีที่ต้องชำระแล้วแต่กรณี เงินเบี้ยปรับดังกล่าวอาจลดหรืองดได้ตามระเบียบที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี     

3. กรณีไม่ยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.90, 91 หรือ 94 ภายในกำหนดเวลา ต้องระวางโทษปรับทางอาญาไม่เกิน 2,000 บาท      

4. กรณีจงใจ แจ้งข้อความเท็จ หรือแสดงหลักฐานเท็จหรือฉ้อโกง เพื่อหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร มีโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือนถึง 7 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000 บาท ถึง 200,000 บาท

5. กรณีเจตนาละเลยไม่ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร มีโทษปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ

อย่างไรก็ตาม รายละเอียดความรับผิดชอบในแต่ละกรณี จะแตกต่างกันออกไป ทั้งนี้ และทางที่ดีที่สุดคือยื่นภาษีตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อให้สามารถยื่นภาษีได้ครบและถูกต้องตามกำหนดเวลา หรือจะดีกว่านั้นหากวางแผนภาษีไว้ล่วงหน้าในทุกๆ ปี ซึ่งจะช่วยให้ประหยัดภาษีที่ต้องชำระเพิ่ม หรือมีโอกาสรับเงินภาษีคืนมากขึ้นนั่นเอง

ที่มา: rd.go.th กรมสรรพากร