'รัฐธรรมนูญ 60' ฉบับลุกเป็นไฟ ?

'รัฐธรรมนูญ 60' ฉบับลุกเป็นไฟ ?

เสวนา “ผ่าทางตันรัฐธรรมนูญไทย” ครช.ตั้งฉายารัฐธรรมนูญ 60 ฉบับลุกเป็นไฟ ประกาศจุดยืนปิดสวิตช์ ส.ว.สกัดอำนาจกลับมาเลือกนายกฯ รอบใหม่ หนุนงัดมาตรการเตรียมพร้อมต้านรัฐประหาร

ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา (แยกคอกวัว) คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) จัดเสวนาวิชาการ “ผ่าทางตันรัฐธรรมนูญไทย : ไม่แก้ไข เขียนใหม่เท่านั้น” โดยมี ศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รศ.ดร.สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดร.เดชรัตน์ สุขกำเนิด คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และรศ.ดร.สามชาย ศรีสันต์ วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นวิทยากร

เริ่มที่ ศ.ดร.ธเนศ กล่าวว่า สถานการณ์เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันถือว่ามีความสำคัญอย่างสูง โดยมีนัยทางการเมืองแตกต่างจากหลายฉบับ ซึ่งความชอบธรรมของรัฐบาลมาจากอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน โดยหลังจากมีการประท้วงจากกลุ่มพันธมิตรฯ ซึ่งก่อนหน้านี้ เป็นความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนำกันเอง ส่วนประชาชนไม่มีส่วนร่วม ถูกจำกัดนอกเวทีเท่านั้น แต่กลุ่มพันธมิตรฯ เป็นการต่อสู้ของประชาชนอีกระนาบหนึ่ง ทำให้การต่อสู้ยืดเยื้อออกไปกลายเป็นความขัดแย้งที่ยาวนานและขยายไปทุกจุด ทำให้ไม่มีจุดหมายจะยุติลงได้อย่างรวดเร็ว จนนำไปการรัฐประหาร 19 ก.ย.2549 จนมาถึงรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็มีการชุมนุมจากกลุ่มคนเสื้อแดง พอมาถึงรัฐบาลพรรคเพื่อไทยก็มีกลุ่ม กปปส.ออกมา

“ถ้าใช้อำนาจนอกระบบไม่ได้ ก็มีอำนาจนอกระบบเข้ามา จนนำไปสู่การรื้อฟื้นความขัดแย้งในระนาบเดิม ๆ เพราะไม่มีใครยอมใคร โดยใช้ปริมาณต่อต้านอีกฝ่าย ไม่ว่ารัฐบาลใดเข้ามาก็อยู่ไม่ได้อย่าง คสช.เข้ามา คนส่วนใหญ่ไม่ยอมรับ" 

"ส่วนการเคลื่อนไหวครั้งนี้แตกต่างจากทุกกลุ่มที่ผ่านมา ไม่ได้เน้นปริมาณ แต่เรียกร้องให้ไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญ ที่คนส่วนใหญ่ต้องรับรู้ ไม่ใช่เขียนกันเอง และสร้างการยอมรับให้กันอย่างกว้างที่สุด เพื่อให้เป็นมาตรฐานที่ให้หลายฝ่ายยอมรับได้

ศ.ดร.ธเนศ ยังกล่าวถึงกระบวนการนักศึกษาขณะนี้ ถือว่าสำเร็จแล้วที่ช่วยจุดชนวนความคิดและจุดความถูกต้องให้คนมองเห็น เป็นเปิดประตูสำหรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นคราวนี้ไม่ใช้ 14 ตุลา หรือ 6 ตุลา แต่เป็นเยาวชนอีกยุคหนึ่งในศตวรรษใหม่แล้ว ถือเป็นผู้เริ่มกระบวนการให้เกิดความชอบธรรมที่ถูกต้องตามหลักการ ไม่ใช้เงิน ไม่ใช้รถถัง แต่เป็นเหตุผลในความถูกต้องชอบธรรม จึงเป็นพลังบริสุทธิ์ที่มาจากนักเรียนนักศึกษา

ด้าน รศ.ดร.สมชาย กล่าวว่า หากมีการพูดถึงรัฐธรรมนูญ 2560 จะมีเสียงบอกว่า ผ่านประชามติมาแล้ว แต่ในความเห็นตน รัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกคัดค้านก่อนประกาศใช้ ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ฉายาว่าปราบโกง แต่เรากลับได้เห็นปัญหาจากการใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ 

1.ทำให้ความวิปริตผิดเพี้ยนเป็นความถูกต้องด้วยกฎหมาย อาทิ กรรมการคัดเลือก ส.ว.กลับมาเป็น ส.ว. 

2.เป็นรัฐธรรมนูญที่ฝืนต่อความเปลี่ยนแปลง เพราะไม่สามารถเปิดให้เกิดการแก้ไขได้ ทั้งที่รัฐธรรมนูญจะต้องเปิดให้การแก้ไขได้ด้วยตัวเอง ส่วนแนวทางจะแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ กลับมีกับดักเต็มไปหมด ตั้งแต่การพิจารณาผ่านขั้น ส.ว. หรือไปถึงศาลรัฐธรรมนูญ ทำให้เราต้องตระหนักว่าการแก้ไขโดยตัวระบบจะกินเวลาแน่นอน จึงขอตั้งฉายารัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่า ทำให้บ้านเมืองลุกเป็นไฟ เป็นรัฐธรรมนูญที่วิปริต ที่ไม่สามารถทำให้เกิดการแก้ไขได้

รศ.ดร.สมชาย กล่าวอีกว่า ส่วนข้อสังเกตการเคลื่อนไหวที่มาจากการชุมนุมที่เกิดขึ้นขณะนี้ จาก 3 ข้อเรียกร้อง 2 จุดยืน และ 1 ความฝัน เห็นได้ชัดว่า การคุกคามที่ยังมีอยู่ ต้องมีการเตรียมปฏิบัติการ อื่น ๆ เช่น การหยุดเรียนเพื่อรักษาสวัสดิภาพของนักเรียนต้องทำโดยพร้อมเพรียงกัน หรือหากมีรัฐประหารจะต้องเตรียมมาตรการตอบโต้อย่างไรเป็นข้อๆ เพราะหากมีการลุกฮือในแง่การใช้อำนาจประชาชนจะสู้รัฐไม่ได้ 

นอกจากนี้ ต้องแยกเป้าหมายว่า สิ่งใดเป็นการต่อสู้โครงสร้างอำนาจ อาทิ ส.ว. หรือการต่อสู้เชิงวัฒนธรรม รวมถึงต้องแยกมิตร และฝ่ายตรงกันข้าม เพราะเราเห็นคนจำนวนไม่น้อยหันหลังมามีจุดยืนประชาธิปไตย ดังนั้นการโดดเดี่ยวฝ่ายเผด็จการ ยังเป็นสิ่งจำเป็น

ข้อเสนอ 3 ข้อเรียกร้อง 2 จุดยืน 1 ความฝัน ถือเป็นฉันทามติโดยนัย ที่จะผลักดันในช่วงเวลาข้างหน้า หากจะขยายประเด็นออกไปต้องขยับพื้นที่ทางการเมืองให้มากกว่านี้ ส่วนแนวทางจากนี้ จะเห็นการเคลื่อนไหวจากคนหลายกลุ่ม เริ่มที่การไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ ส.ส.ร.มาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งเป็นแนวทางจะยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2560 ออกทั้งหมด แต่ยอมรับว่าเป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลาเกิน 1 ปีแน่นอน" 

"ขณะที่อีกกลุ่มเสนอแนวทางแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา บางประเด็น อาทิ ส.ว. ระบบเลือกตั้งให้กลับมาสะท้อนความรู้สึกของประชาชนได้มากขึ้น ส่วนการล่ารายชื่อของโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชนนั้น ถึงจะใช้เวลานาน แต่การล่ารายชื่อที่ได้มาอย่างรวดเร็วได้สะท้อนความรู้สึกของประชาชนที่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลง” รศ.ดร.สมชาย กล่าว

ขณะที่ ดร.เดชรัตน์ กล่าวว่า สำหรับกรอบเวลาการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องใช้เวลาประมาณ 2 ปีเป็นอย่างเร็ว แต่ในแง่ของเศรษฐกิจซึ่งขณะนี้ดิ่งอยู่ในเหว ถือเป็นการฟื้นตัวอย่างช้าๆ และบอบบาง ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาอย่างเร็วประมาณ 2 ปี ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แรงกดดันทางเศรษฐกิจทำให้รัฐบาลต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ 

โดยการถอยของรัฐบาลขณะนี้ ต้องยอมรับว่าคิดรอบคอบพอสมควร ในจุดต่ำสุดที่รัฐบาลยืดได้โดยการมี ส.ส.ร.ที่จะต้องใช้เวลาอีก 2 ปี แต่ใน 4 เดือนรัฐบาลกำลังหาโอกาสพลิกเกมเสมอ เพราะรัฐบาลไม่มีความรู้สึกอยากแก้รัฐธรรมนูญ มีเพียงการถอยออกมาเท่านั้น 

ส่วนการตั้ง ส.ส.ร.หรือการแก้รายมาตรา ก็มีความจำเป็น แต่การมี ส.ส.ร.เป็นเพื่ออยากมีกติการ่วมกันจริงๆ แต่การร่างรัฐธรรมนูญจะต้องดีเบตเนื้อหากันเข้มข้น ตั้งแต่วิธีการเลือกตั้ง การได้มาของรัฐบาล และการได้มาของ ส.ว.จำเป็นต้องมีหรือไม่ หรือข้อถกเถียงจากกระบวนการยุติธรรม องค์กรอิสระ สิทธิเสรีภาพของประชาชน เป็นต้น จึงเชื่อว่าจะมีการพูดคุยในเรื่องนี้

 

“ถ้าเรามี ส.ส.ร.ยังมีข้อเสนอให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด เกษตรจังหวัด ซึ่งเป็นข้าราชการส่วนภูมิภาค เป็นสิ่งที่ต้องเตรียมการไว้ จากนั้นหากได้ ส.ส.ร.ไปจนถึงการลงประชามติ จะมาถึงช่วงเลือกตั้ง และมีรัฐบาลใหม่ ผมเสนอให้ปิดสวิตช์ ส.ว.ตั้งแต่ตอนนี้ไปเลย ในช่วง 4 เดือนจากนี้ เพราะไม่อย่างนั้น อาจจะกลับมาเลือกนายกฯ อีกครั้งได้ เพราะรัฐบาลชุดนี้จะยังมีเครื่องมือภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้มาดำเนินการ ดังนั้นเป็นช่วง 2 ปีที่ต้องสู้กันต่อไป โดยส่วนหนึ่งต้องช่วยนักศึกษาให้ทำสำเร็จให้ได้” ดร.เดชรัตน์ กล่าว

ขณะที่ รศ.ดร.สามชาย กล่าวว่า ต้องมีการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยมีความเห็นพ้องต้องกันมากที่สุดของทุกฝ่ายในสังคมต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกออกแบบเพื่อใครบางคน เราจะเห็นว่า มีการผลิตถ้อยคำแปลกใหม่ จากองค์กรอิสระเพื่อสร้างความชอบธรรมในการตีความของตัวเอง เช่น บัตรเขย่ง ส่วน ส.ว.ให้เหตุผลการเลือก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาเป็นนายกฯ เพื่อให้กลับมาสานต่อการปฏิรูปประเทศ แต่ ส.ว.สนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ มาทำหน้าที่ต่อเป็นการออกแบบที่ไม่ได้ทำเพื่อประชาชน 

นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ออกแบบมาให้สังคมไทยเป็นสังคมแบบทหาร ที่ผู้ใต้บังคับบัญชาจะโต้แย้งไม่ได้ เปรียบเทียบว่ากฎหมายที่ตราออกมาหลายฉบับ มีการใช้คำว่าความมั่นคงของรัฐมากกว่าคำว่าสิทธิประชาชน ทำให้ทหารเข้ามาสอดแทรกระเบียบการบริหารราชการแผ่นดินได้ทุกระดับ

“การเคลื่อนไหวของเยาวชนทหาร ได้เข้ามาแทรกแซงการเคลื่อนไหวในโรงเรียน ซึ่งมีหลายกรณีที่สะท้อนออกมาว่า ถูกเจรจาห้ามเคลื่อนไหวใด ๆ เป็นการกดทับเยาวชน เพราะเขาต้องออกมาเรียกร้องเพราะไม่สามารถพึ่งพาผู้ใหญ่ได้” รศ.ดร.สามชาย กล่าว

รศ.ดร.สามชาย กล่าวอีกว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ทำประเทศให้เป็นบ้าน ที่มาบอกว่าให้ทุกคนอยู่ด้วยกันอย่างสงบสุข จนมีทหารออกมาอยู่ในบ้าน เอาประชาชนไปเป็นรั้ว และส่งกำลังบำรุงมาดูแลทหารแทน ไม่ว่าคนในบ้านจะพูดอะไร ก็มาบอกว่ากระทบความมั่นคงของรัฐทั้งหมด ถือเป็นการทำสิ่งวิปริตต่างๆ ในบ้านเมืองนี้