ครช. จัดเสวนา ผ่าทางตันรัฐธรรมนูญไทย ไม่แก้ไขเขียนใหม่เท่านั้น

ครช. จัดเสวนา ผ่าทางตันรัฐธรรมนูญไทย ไม่แก้ไขเขียนใหม่เท่านั้น

ครช. จัดเสวนา ผ่าทางตันรัฐธรรมนูญไทย ไม่แก้ไขเขียนใหม่เท่านั้น ห่วง ตั้ง สสร. กินเวลานานถึง 2 ปี ไม่ตอบโจทย์ประเทศ ศก.ตกเหว หนุน การเมืองนอกสภา ชวนประชาชนล่าชื่อแก้รธน. อย่าหยุดที่ 5 หมื่นชื่อ

คณะรณรงค์​เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน​ หรือ ครช. จัดเสวนาในหัวข้อ​ "ผ่าทางตัน​ รัฐธรรมนูญไทย​ ไม่แก้ไข...เขียนใหม่เท่านั้น" โดยมีผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย​ อดีตคณบดี​ คณะศิลปศาสตร์​ มหาวิทยาลัย​ธรรมศาสตร์ นายธเนศ​ อาภรณ์สุวรรณ​ อาจารย์ประจำภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นายเดชรัตน์​ สุขกำเนิด อาจารย์ประจำวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายสามชาย​ ศรีสันต์​ และคณะนิติศาสตร์​มหาวิทยาลัย​เชียงใหม่​ นายสมชาย​ ปรีชาศิลปกุล​

159869027068

นายธเนศ กล่าวว่า สถานการณ์การเคลื่อนไหว ในปัจจุบันเพื่อเปลี่ยนแปลงร่างรัฐธรรมนูญ ถือว่าเป็นการเคลื่อนไหวสำคัญทางประวัติศาสตร์การเมืองไทย ในเรื่องของความชอบธรรม ไม่มีใครสามารถอ้างได้ แม้รัฐธรรมนูญก็อ้างไม่ได้ กลายเป็น​ว่าต้องขึ้นอยู่ว่าใครจะเป็น​ผู้ใช้อำนาจ โดยเป็นตรรกกะในการต่อสู้ทั้งหมดเพื่อชนะทางการเมือง ดังนั้นระบอบการปกครองใดๆ ก็ตาม จะทำงานได้จึงต้องมีเสถียรภาพ และประชาชนจะต้องยอมรับได้ อย่างไรก็ตามคสช. ก็ไม่สามารถทำให้คนส่วนใหญ่ยอมรับได้ เพราะฉะนั้นเมื่อมองย้อนกลับไปประวัติศาสตร์ 10 ปีที่ผ่านมา การเคลื่อนไหวที่แตกต่างไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคนเสื้อเหลือง เสื้อแดง หรือสลิ่ม แต่นำมาสู่ข้อเรียกร้องเดียวกัน นำไปสู่ร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่เอา ส.ว. ซึ่งคนส่วนใหญ่รับรู้ ไม่ใช่เขียนกันเอง ตีความกันเอง การเมืองที่เป็นประชาธิปไตย มาจากสามัญสำนึกไม่ใช่การเมืองของนักกฎหมาย จึงต้องเป็นเหตุผลที่ชาวบ้านทั่วไปเข้าใจได้

159869034723
ด้านนายสมชาย กล่าวว่า รัฐธรรมนูญในหลายประเทศมีหลักการพื้นฐานเป็นที่ยอมรับ แต่รัฐธรรมนูญ 2560 ถูกคัดค้านตั้งแต่ก่อนประกาศใช้ ฉายารัฐธรรมนูญปราบโกง เห็นได้ชัดว่าไม่ได้เป็นแบบนั้น รัฐธรรมนูญฉบับนี้ทำ 2 อย่าง คือ 1.ทำให้ความวิปริตผิดเพี้ยนกลายเป็นสิ่งที่ชอบด้วยกฎหมาย เช่นกรรมการเลือก ส.ว. ผลัดกันเลือกตัวเองไปเป็น ส.ว. ไม่ต้องพูดถึง ป.ป.ช. กกต. และศาลรัฐธรรมนูญมีเรื่องให้ด่าจนเอือม

2.รัฐธรรมนูญนี้ไม่ยอมหรือขัดฝืนต่อความเปลี่ยนแปลง ถ้าต้องการแก้ไขแทบไม่เปิดช่องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแก้ไข ซึ่งหัวใจของรัฐธรรมนูญส่วนใหญ่ในโลก ระบบต้องเปิดโอกาสให้แก้ไขง่ายพอสมควรถ้ามีปัญหา รัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกายังแก้ไข 20 กว่าครั้ง รัฐธรรมนูญปัจจุบันเปลี่ยนแปลงยากมาก มีกับดักหลุมพรางเต็มไปหมด จาก ส.ว. ผ่านไปอาจเจอศาลรัฐธรรมนูญอีก กินเวลาแน่นอน ต้องตั้งฉายารัฐธรรมนูญนี้ว่ากำลังทำให้บ้านเมืองลุกเป็นไฟ


นายสมชาย ยังกล่าวถึงข้อสังเกตในการเคลื่อนไหวทางการเมืองของคณะประชาชนปลดแอกว่า 1.ข้อเรียกร้องหยุดคุกคามประชาชนและการไม่เอารัฐประหารนั้น เห็นได้ชัดการคุกคามยังมีอยู่ รัฐประหารจะมีหรือไม่ไม่รู้ กระบวนการเคลื่อนไหวต้องเตรียมรับมือ อย่างการที่นักเรียนควรไปหน้ากระทรวงศึกษาธิการ หากมีการคุกคาม การหยุดเรียนเพื่อรักษาสวัสดิภาพของนักเรียนเป็นสิ่งพึงกระทำ และลองเสนอมาตรการตอบโต้การรับประหาร เพราะการเผชิญหน้าระบอบอำนาจนิยมต้องมีตระเตรียม การใช้ความรุนแรงสู้รัฐไม่ได้

2.เราคงเคยได้ยินคำว่าสงครามครั้งสุดท้าย ถ้า นายกฯ และ รมว.กลาโหม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกเรื่องไม่จบ รองนายกฯ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ลาออกไม่จบ ออกไปทั้งรัฐบาลไม่จบ เราจะขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ จังหวะที่จะเกิดขึ้นไม่ใช่การโค่นล้มรัฐบาลเพียงอย่างเดียว ต้องจำแนกเป้าหมายระยะสั้นระยะยาว ทั้งการต่อสู้เชิงโครงสร้างอำนาจและวัฒนธรรม ไม่มีสงครามครั้งสุดท้าย

3. ต้องแยกมิตรแยกฝ่ายตรงกันข้าม เราเห็นคนจำนวนไม่น้อยที่ยืนตรงข้ามประชาธิปไตย หันกลับมามีจุดยืนประชาธิปไตย นี่คือความสำเร็จของความเคลื่อนไหว การขยายแนวร่วมโดดเดี่ยวเผด็จการเป็นเรื่องจำเป็น การแยกกันเดินตีกันเองอย่าให้เกิด รายละเอียดต่างกันได้ต้องจำแนกให้ได้ พวกชัยชนะเสียงข้างน้อยอยู่ได้ยาวนาน เพราะเหนียวแน่นผิดถูกกอดกันไว้ก่อน กลุ่มเสียงข้างมากอาจไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร

4. ข้อเรียกร้อง จุดยืน และความฝัน (คณะประชาชนปลดแอก) คือฉันทามติโดยนัย คือธงนำที่ต้องแบกไปให้ถึงฝั่ง

ส่วนแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายสมชาย กล่าวว่า แนวทางแรกการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) มาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ กระบวนการนี้ใช้เวลาแน่นอน เกินปี 2 ปี และสุดท้ายต้องกลับไปลงประชามติ ผลก็อาจเป็นไปได้ทั้ง 2 ทาง แนวทางที่สองแก้ไขรายมาตรา อาจพุ่งเป้าสำคัญในประเด็นที่ไม่ต้องทำประชามติ เช่นเรื่อง ส.ว. ที่ถูกพุ่งเป้า ระบบเลือกตั้งที่พิศวง ความเห็นขัดแย้งในการแก้ไขไม่ใช่เรื่องแปลก รัฐธรรมนูญตั้งใจร่างไม่ให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ขณะที่การเคลื่อนไหวล่าลายชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญของกลุ่มไอลอว์ สามารถระดมชื่อได้มากในเวลาอันสั้น สะท้อนความไม่พอใจของสังคม ถ้าเราได้รายชื่อเป็นแสนยิ่งดี มีส่วนกดดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ที่เราขยับมาได้จนถึงขณะนี้เพราะการเมืองนอกสภามีความสำคัญ เราจะรักษาให้หนักแน่นกว้างขวางมากขึ้นอย่างไร ให้รัฐธรรมนูญถูกแก้ไขได้

159869021139


ขณะที่นายสามชาย กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้จำเป็นต้องยกร่างใหม่ทั้งฉบับ ต้องเห็นพ้องต้องกันของคนในสังคม ไม่ใช่คนที่กระจุกตัวอยู่ข้างบนอำนาจ รัฐธรรมนูญนี้ไม่ได้ดีไซน์มาเพื่อประชาชน แต่ดีไซน์เพื่อใครบางคนบางกลุ่ม เกิดความเสื่อมถอยกระบวนการยุติธรรม การประดิษฐ์คำแปลกๆ สร้างความชอบธรรม ความเป็นชาติถูกทำให้กลายเป็นเรื่องส่วนตัว รัฐธรรมนูญทำให้สังคมไทยเป็นสังคมทหาร เชื่อฟังผู้บังคับบัญชา กฎระเบียบไม่เท่าคำสั่ง เป็นไปเพื่อความมั่นคงของรัฐไม่ใช่เพื่อประชาชน ทำให้ทหารสอดแทรกการบริหารราชการแผ่นดินไปทุกภูมิภาค การให้สิทธิเสรีภาพประชาชนอยู่ภายใต้เงื่อนไขความมั่นคงของรัฐ กฎหมายออกมาลิดรอนเสรีภาพอย่างประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มี พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ให้ทหารไปแทรกซึมปัญหาที่ดิน ป่าไม้ น้ำ จำกัดสิทธิเสรีภาพในการชุมนุม ตีความมั่นคงในเชิงทรัพยากร ควบคุมชาวบ้านไม่ให้มีปากมีเสียง

นายสามชาย ยังกล่าวถึงการเคลื่อนไหวของเยาวชนว่า ถูกทหารเข้าไปแทรกแซงในโรงเรียน มีครูเป็นสลิ่ม โรงเรียนและมหาวิทยาลัยถูกบล็อก ส่งเข้าไปเจรจาห้ามเคลื่อนไหว นักเรียนถูกกดทับไว้นานแล้ว เขาจึงต้องออกมาเรียกร้อง บางครั้งมีทหารเข้าไปฝึกนักเรียน รับน้องระบบโซตัส ปลูกฝังอาชีพใช้อำนาจ สมัยรัฐบาลทักษิณ มีคนบอกทำประเทศให้เป็นบริษัท แต่รัฐธรรมนูญปัจจุบันทำประเทศให้เป็นบ้านสงบสุข ใครต่างกำจัดให้หมดสิ้นไป ทหารเข้ามาอยู่ในบ้าน เอาประชาชนเป็นรั้วแทนตากแดดตากฝนพูดอะไรไม่ได้ เจ้าบ้านไม่อยู่ในบ้าน วิปริตเพราะทหารอยู่ในบ้านจัดการเรื่องต่างๆ มีหมอไล่ล่าคน ตำรวจคุกคามประชาชน รัฐธรรมนูญเผด็จการนี้ ทำให้รัฐอยู่เหนือรัฐธรรมนูญบิดเบือนความเป็นประชาธิปไตย ส่วนตัวขอเสนอให้ใช้รัฐธรรมนูญ 2540 ชั่วคราว ให้มีการเลือกตั้ง และให้มี สสร.

159869030535


ด้านนายเดชรัตน์ กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเกิดจากแรงกดดันทางการเมือง ความเปราะบางทางเศรษฐกิจ รัฐบาลจึงต้องยอมถอยออกมา เพื่อนำไปสู่กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 ปี โดยแบ่งออกช่วงแรก 4-5 เดือน ซึ่งรัฐบาลยอมถอยให้มีการตั้งสสร. แม้รัฐบาลจะไม่เต็มใจให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 เท่าไหร่ แต่ก็เชื่อว่าถ้ารัฐบาลมีโอกาสพลิกเกมส์ได้เขาจะทำอย่างแน่นอน ดังนั้นจึงต้องพยายามรักษาบรรยากาศทางการเมืองแบบนี้ไว้เพื่อ สสร. แก้ไขรัฐธรรมนูญให้ได้ อย่างไรก็ตามสำหรับ สสร. จึงต้องมีการเลือกตั้งขึ้นมาเพื่อสร้างกติการ่วมกันเพราะเราไม่อยากเป็นผู้ชนะเพียงฝ่ายเดียวในระยะที่ 2 คือการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะต้องใช้ระยะเวลาเป็นปี โดยมีเนื้อหาหลายประเด็นที่จะต้องแก้ไขโดยเฉพาะการเลือกตั้ง ในฝั่งของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)​ หน้าที่ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน​แห่งชาติ ​(กสม.)​ รวมถึงส.ว.มีความจำเป็นว่าต้องยังมีอยู่หรือไม่ เป็นต้น จากนั้นก็เข้าสู่ระยะสุดท้ายคือการมีรัฐบาลใหม่ภายใต้กติกาของประชาชนผ่านรัฐธรรมนูญที่ร่างโดย สสร.