‘สหราชอาณาจักร-อาเซียน’ เปิดเวทีหารือเศรษฐกิจนัดแรก

‘สหราชอาณาจักร-อาเซียน’ เปิดเวทีหารือเศรษฐกิจนัดแรก

การประชุมเศรษฐกิจระหว่างสหราชอาณาจักร-อาเซียน (UK-ASEAN Economic Dialogue) จัดขึ้นเป็นนัดแรก เพื่อส่งเสริมการค้าและพัฒนาความร่วมมือในการฟื้นฟูเศรษฐกิจร่วมกันระหว่างสหราชอาณาจักรและอาเซียน ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลก

อลิซาเบธ ทรัส รัฐมนตรีการค้าระหว่างประเทศสหราชอาณาจักร ร่วมกับ เจิน ตวน อัน ประธานการประชุมระดับรัฐมนตรีว่าด้วยความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) เป็นประธานการประชุมเศรษฐกิจระหว่างสหราชอาณาจักร-อาเซียน โดยมีรัฐมนตรีเศรษฐกิจ 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน และ ลิม จ็อก ฮอย เลขาธิการอาเซียนเข้าร่วมผ่านวีดิโอคอนเฟอเรนซ์ เพื่อวางแนวทางส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจร่วมกันในอนาคต 

ทรัส กล่าวว่า สหราชอาณาจักรและอาเซียนมีความมุ่งมั่นต่อยอดความร่วมมือที่มีร่วมกันมากว่า 40 ปี เพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างกันให้แข็งแกร่งและเติบโตยิ่งขึ้นไป

"วิกฤติที่เกิดขึ้นพิสูจน์ให้เห็นว่าความร่วมมือระหว่างนานาชาติสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะหาทางออกร่วมกัน ในช่วงที่โลกกำลังเผชิญความท้าทาย ส่งผลกระทบในวงกว้างต่อทุกประเทศ" ทรัสกล่าวและย้ำว่า ถึงเวลาแล้วที่สหราชอาณาจักร-อาเซียน ต้องสร้างสัมพันธ์การค้า และเศรษฐกิจแบบยืดหยุ่น พร้อมรับมือกับวิกฤติ

รัฐมนตรีการค้าระหว่างประเทศสหราชอาณาจักร มองว่า การค้าเสรีและห่วงโซ่อุปทานที่ยืดหยุ่นคือ “กุญแจสำคัญฟื้นฟูเศรษฐกิจโลก” โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ทั่วโลกกำลังเผชิญผลกระทบจากระบาดโควิด-19 ซึ่งเป็นแนวคิดที่สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการฮานอย ว่าด้วยการส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและความเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานของอาเซียน

159868729113

ประชุมครั้งนี้ สหราชอาณาจักรมุ่งแลกเปลี่ยนมุมมองกับอาเซียนว่าด้วยผลกระทบของโควิด-19 ต่อห่วงโซ่อุปทาน และร่วมกันถอดบทเรียนเพื่อพัฒนาความยืดหยุ่นในห่วงโซ่อุปทานเพื่อฟื้นเศรษฐกิจ และรับมือกับวิกฤติในยุคโควิด-19

ทั้งนี้ สหราชอาณาจักรจะร่วมกับอาเซียนและสถาบันวิจัยทางเศรษฐกิจแห่งอาเซียนและเอเชียตะวันออก (ASEAN and the Economic Research of Institute of ASEAN and East Asia หรือ ERIA) ทำการวิจัยเกี่ยวกับห่วงโซ่อุปทานของสหราชอาณาจักร-อาเซียน เพื่อทำความเข้าใจถึงโครงสร้างที่มีผลต่อความยืดหยุ่นในการรับมือกับวิกฤติและเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับห่วงโซ่อุปทาน

ที่ประชุมยังหารือความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อม สหราชอาณาจักรและอาเซียนเห็นตรงกันว่า สถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบันเป็นโอกาสในการสร้างเศรษฐกิจโลกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและยั่งยืนมากขึ้นตามเป้าหมายของ "ความตกลงปารีส" โดยเฉพาะเมื่อสหราชอาณาจักรกำลังจะเป็นเจ้าภาพการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 26 (COP26) ในปี 2564

"นานาชาติกำลังเผชิญกับความท้าทายจากโควิด-19 ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่ประเทศต่างๆ สามารถหันมาใช้เทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ ยิ่งปรับตัวเร็วยิ่งได้เปรียบ ทางสหราชอาณาจักรได้ผลักดันให้บรรจุเรื่องการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืน และการวางแนวทางการเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเข้าไว้ในแผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยรวม" ทรัสย้ำ

นอกจากนี้ สหราชอาณาจักรยังสนับสนุนอาเซียนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มั่นคงและยั่งยืน อันจะช่วยเสริมสร้างการเชื่อมโยงภายในภูมิภาค ตามแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน ปี 2568

159868730511

ส่วนความร่วมมือภาคการเงินและพลังงาน สหราชอาณาจักรให้การสนับสนุนทางเทคนิคแก่หลายประเทศอาเซียน ในการพัฒนาระบบการเงินสีเขียวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Financial Systems) และการส่งเสริมประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ผ่านโครงการต่างๆ มูลค่ารวมกว่า 1 พันล้านบาท รวมทั้งโครงการ Prosperity Fund Low Carbon Energy Programme เป็นเงิน 15 ล้านปอนด์ และ Green Recovery Challenge Fund เป็นเงิน 12 ล้านปอนด์ 

นาตาลี แบล็ค ผู้แทนการค้าสหราชอาณาจักรประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก กล่าวว่า สหราชอาณาจักรจะยกระดับความร่วมมือด้านดิจิทัลกับอาเซียนผ่านเครือข่ายการค้าดิจิทัลในอาเซียนที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อเดือนมิ.ย. และจะเปิดตัวโครงการใหม่ UK-ASEAN Digital Business Challenge ที่จะส่งเสริมการทำงานร่วมกันระหว่างธุรกิจสหราชอาณาจักรและอาเซียน เพื่อร่วมกันหาคำตอบว่าวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (เอ็มเอสเอ็มอี) จะหาทางรับมือกับความท้าทายใหญ่ ๆ ทางธุรกิจได้อย่างไร

นอกจากนี้ สหราชอาณาจักรยังคงทำงานอย่างต่อเนื่องกับสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน (ASEAN-BAC) เพื่อพัฒนาแผนงานสร้างความเชื่อมโยงทางการค้าดิจิทัลของเอกชนในระดับภูมิภาค เพื่อส่งเสริมความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกด้านศุลกากรด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียน

ในตอนท้าย แบล็ค กล่าวว่า การรักษาความเป็นอันหนึ่งอันเดียวในสถานการณ์การแพร่ระบาดครั้งนี้ สะท้อนแผนการวางกรอบการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ทั้งแข็งขัน ครอบคลุม และนำไปปฏิบัติได้จริง ขณะที่ประชาคมอาเซียนเฉลิมฉลองครบรอบ 53 ปีในเดือน ส.ค.นี้ ซึ่งสหราชอาณาจักรมองว่า ความร่วมมือที่แนบแน่นระหว่างชาติสมาชิกอาเซียนคือปัจจัยสำคัญที่ช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจที่หลากหลายและไม่หยุดนิ่งในอาเซียน