ชงอัยการ ฟัน 15 แกนนำม็อบ - มธ.สั่งยกเลิกเวทีเสวนา

ชงอัยการ ฟัน 15 แกนนำม็อบ - มธ.สั่งยกเลิกเวทีเสวนา

ตร.เร่งสรุปสำนวน ชงอัยการฟัน 15 แกนนำม็อบปลดแอก สั่งรวบรวมพยานหลักฐานเอาผิดปมสาดสีใส่เจ้าหน้าที่เพิ่ม ขณะที่ "ธรรมศาสตร์" สั่งยกเลิกเสวนา “สถาบันกษัตริย์กับการเมืองไทย” หวั่นสร้างความขัดแย้ง

ความเคลื่อนไหวกลุ่มผู้ชุมนุม วานนี้(28 ส.ค. )ที่สถานีตำรวจนครบาลสำราญราษฎร์ นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ“ไผ่ดาวดิน” พร้อมผู้ที่ถูกออกหมายเรียกได้เดินทางเข้าพบพ.ต.อ.อิทธิพลพงษ์ธรผู้กำกับการสน.สำราญราษฎร์เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาตามความผิดฐานฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินความผิดตาม พ.ร.บ.จราจร พ.ร.บ.ความสะอาด และพ.ร.บ.ควบคุมโรค จากกรณีที่เมื่อวันที่18ก.ค.ได้ขึ้นเวทีปราศรัยที่งานชุมนุมของกลุ่ม“เยาวชนปลดแอก”บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

ทั้งนี้ทั้งหมดได้รวมตัวเดินขบวนจากบริเวณอนุสรณ์สถาน14ตุลาสี่แยกคอกวัวถนนราชดำเนินกลางแขวงวัดบวรนิเวศเขตพระนครกรุงเทพฯพร้อมถือป้ายข้อความต่างๆมาที่สน.สำราญราษฎร์โดยมีกลุ่มผู้ชุมนุมเดินทางมาให้กำลังใจด้วย นอกจากนี้มีเจ้าหน้าที่จากองค์กรสหประชาชาติ(ยูเอ็น)ส.ส.พรรคก้าวไกลนักวิชาการมาร่วมสังเกตการณ์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้เกิดความวุ่นวายขึ้นเมื่อกลุ่มผู้มารายงานตัวมาถึงหน้าโรงพัก ได้เกิดความวุ่นวายขึ้น เมื่อผู้ชุมนุมพยายามฝ่าแผงกั้นพร้อมเทสีใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจที่วางกำลังอยู่

ขณะที่พล.ต.ต.เมธี รักพันธุ์ ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 6 (ผบก.น.6) เดินทางมาสังเกตการณ์การสอบปากคำผู้ชุมนุม พร้อมกล่าวว่า ขณะนี้มีผู้ชุมนุมทั้งหมด 15 คน มารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียก ซึ่งกลุ่มผู้ชุมนุมส่วนมากจะขอไปให้การในชั้นศาล โดยตำรวจจะเร่งดำเนินการตามกฎหมายให้เร็วที่สุด และจะนัดส่งสำนวนให้อัยการวันที่ 16 ก.ย.นี้ ส่วนกรณีการฝ่าแนวกั้นตำรวจของผู้ชุมนุมตอนนี้พนักงานสอบสวนกำลังรวบรวมพยานหลักฐานว่าผู้ก่อเหตุกระทำผิดในด้านใดบ้าง ก่อนพิจารณาดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมาย สำหรับแกนนำชุมนุมที่ตกเป็นผู้ต้องหาอีก 2 ราย ตำรวจยังไม่ได้รับการติดต่อขอมอบตัว หากได้รับการประสานมา ก็จะดำเนินการตามขั้นตอนให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย

ขณะที่ความเคลื่อนไหวแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม หลังจากที่ก่อนหน้านี้โพสต์ข้อความระบุว่าเชิญเข้าฟังเสวนาวิชาการหัวข้อ“สถาบันกษัตริย์กับการเมืองไทย” โดยมีวิทยากร ได้แก่นายปิยบุตรแสงกนกกุล นายอนุสรณ์ อุณโณ นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข และนายจตุภัทร บุญภัทรรักษาในวันที่30ส.ค.

ล่าสุด เฟซบุ๊คแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมโพสต์ ข้อความแจ้งว่า ทางมหาวิทยาลัยมีคำสั่งให้ยกเลิกการชุมนุมดังกล่าวด้วยเหตุผลว่าประเด็นเสวนาสร้างความขัดแย้งในสังคม

“เราไม่ยอมรับการกระทำดังกล่าวดังนั้นจึงจัดประท้วงให้ผู้บริหารได้ฟังกันชัดๆหากเพื่อนธรรมศาสตร์คนไหนไม่เห็นด้วยกับการปิดกั้นเสรีภาพทางวิชาการวันนี้เลิกเรียนแล้วขอให้มารวมตัวกันที่หน้าตึกโดมบริหารศูนย์รังสิต16.30 น. เป็นต้นไป”

ขณะที่เฟซบุ๊คเพจ “ไทยภักดี ประเทศไทย” แจ้งว่า เนื่องจากมีเหตุขัดข้องบางประการ กลุ่มไทยภักดี ขอย้ายสถานที่จัดกิจกรรม จากหอศิลป์กรุงเทพฯ มาเป็น ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร ไทย-ญี่ปุ่น (สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง) วันที่ 30ส.ค.เวลา 14.00 น.-18.00 น. เช่นเดิม

ที่กระทรวงศึกษาธิการนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังหารือร่วมกับกลุ่มภาคีเครือข่ายนักเรียนแห่งประเทศไทย เพื่อติดตามผลการออกมาตรการป้องกันการคุกคามนักเรียนจากการแสดงความคิดเห็น โดยใช้เวลาพูดคุยนานกว่า 1 ชั่วโมง ทั้งนี้ ตัวแทนนักเรียนได้ส่งข้อมูลโรงเรียนที่มีปัญหาคุกคามเด็กเพิ่มให้เป็น 170 โรงเรียน จากเดิม 109 โรงเรียน ทั้งนี้ จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงโรงเรียนทั้ง 109 โรงเรียนที่มีข้อมูลว่าคุกคามนักเรียน เบื้องต้นพบว่า มีการใช้ความรุนแรงเกิดขึ้นจริง หลายแห่งได้มีการหาทางออกโดยการพูดคุยทำความเข้าใจแก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธี ซึ่งเป็นแนวทางที่เหมาะสม เป็นจุดเริ่มต้นของการทำความเข้าใจกัน

ส่วนกรณีที่กลุ่มนักเรียนจำนวน 25 โรงเรียนนัดหมายจะมาชุมนุมที่ศธ. ในวันที่ 5 ก.ย. นี้นั้น ตนก็พร้อมต้อนรับและจะลงมารับฟังข้อเสนอด้วยตนเอง

“ผมขอยืนยันว่าโรงเรียนยังเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัย และนักเรียนสามารถแสดงความคิดเห็นได้ทุกเรื่อง” นายณัฏฐพล กล่าว

ส่วนความเคลื่อนไหวการแก้รัฐธรรมนูญ นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.และโฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา กล่าวว่า การจะไปถึงรัฐธรรมนูญใหม่ได้ตามร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 1 ของพรรคร่วมรัฐบาลฉบับนี้ อย่างน้อย.ต้องผ่านการลงประชามติ 1 - 2 ครั้ง และหากเป็นไปตามร่างฯของพรรคร่วมรัฐบาลถ้าไม่นับการยุบสภาเลือกตั้งส.ส.ตามรัฐธรรมนูญใหม่ จะเป็นอย่างน้อยที่สุดเร็วที่สุดก็ 16 เดือน และอาจจะถึง 19 - 20 เดือน โดยถ้านับรวมเวลายุบสภาเลือกส.ส.ตามรัฐธรรมนูญใหม่ด้วยก็บวกเข้าไปอีก 3 เดือน สรุปรวมแล้วใช้เวลาสูงสุดเกือบ 2 ปีเต็ม

“วันนี้ หากจะถามความเห็นในเบื้องต้นก็ต้องบอกว่าเมื่อเห็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมมากร่างขึ้น ก็จะพบทางออกมากขึ้น เพราะมีทางเลือกมากขึ้น สุดท้ายบทสรุปจะเป็นอย่างไรอยู่ที่การหาทางออกที่เหมาะสมที่สุดร่วมกันของทุกฝ่ายในระหว่างนี้” นายคำนูณ ระบุ