'พาณิชย์' ดันการค้า 'เคาเตอร์เทรด' หวังช่วยเศรษฐกิจฐานราก

'พาณิชย์' ดันการค้า 'เคาเตอร์เทรด' หวังช่วยเศรษฐกิจฐานราก

"พาณิชย์"นำพาณิชย์จังหวัดจับคู่เจรจาจัดซื้อขายแลกเปลี่ยน สินค้าเกษตร แบบ Counter Trade ระหว่าง สหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจท้องถิ่น คาดยอดซ่ื้อขายไม่ต่ำกว่า 2,500 ล้านบาท

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ได้จัดงาน “เซลส์แมนจังหวัด จัดซื้อขายแลกเปลี่ยน Counter Trade” และได้ร่วมเป็นสักขีพยานในการทำข้อตกลงแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้าเกษตรระหว่างจังหวัด จำนวน 14 คู่ เช่น บริษัท ท่านกู่กวาง จำกัด จังหวัดสงขลา

ซื้อทุเรียนจากชุมนุมสหกรณ์การเกษตร ยะลา จำนวน 3500 ตัน มูลค่า 367 ล้านบาท สหกรณ์วังน้ำเย็น จำกัด จ.สระแก้ว ซื้อน้ำนมดิบ 10,950 ตันจาก สหกรณ์โคนมไทย-เดนมาร์กสวนมะเดื่อ จำกัด จ.ลพบุรี มูลค่า 208 ล้านบาท ซึ่งการจัดซื้อขายแลกเปลี่ยน Counter Trade เป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของกระทรวงพาณิชย์ในการสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจท้องถิ่น โดยการส่งเสริมตลาดสินค้าและผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น ให้เศรษฐกิจการค้าหมุนเวียนสร้างรายได้ให้ชุมชน และการสร้างเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตร สร้างรายได้ที่เหมาะสมและเป็นธรรมต่อเกษตรกร

ทั้งนี้ ตนให้พาณิชย์จังหวัดทำหน้าที่เป็นพนักงานขายหรือเซลส์แมนจังหวัด นำผลผลิตทางการเกษตรและผลไม้ในจังหวัดตนเอง จับคู่ทำสัญญาซื้อขายระหว่างกันในรูปแบบ Business Matching หรือ การค้าแบบแลกเปลี่ยนกับจังหวัดอื่น ๆ ทั้งในรูปแบบของการแลกเปลี่ยนสินค้า หรือการชำระเป็นตัวเงิน เช่น นำ สินค้ากับสินค้า หรือกับผลิตภัณฑ์บริการมาแลกกัน ถ้าแลกแล้วมูลค่าไม่เท่ากันหรือมีส่วนเหลื่อมของราคาก็จ่ายชำระส่วนต่างเป็นเงินสดน หรือเอาสินค้าอีกชนิดอื่นเติมเข้ามาจนเท่ากันแล้ว ที่ผ่านมาทีมเซลส์แมนจังหวัด ทั้ง 76 จังหวัด สามารถแลกเปลี่ยนสินค้า และซื้อขายสินค้า ใน 5 กลุ่มสินค้า ประกอบด้วย ผลไม้ ข้าวสาร ปศุสัตว์ ประมง และอื่น ๆ รวมมูลค่ากว่า 778 ล้านบาท

“ตั้งแต่เริ่มต้นโครงการนี้เมื่อเดือนเม.ย.จนถึงปัจจุบัน คาดว่าจะเกิดยอดซื้อขายไม่ต่ำกว่า 2,500 ล้านบาท ซึ่งสามารถช่วยกระจายผลผลิตของเกษตรกรที่ประสบปัญหาในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งการขายผ่าน ระบบเคาน์เตอร์เทรด มีความจำเป็นอย่างยิ่งในภาวะวิกฤตโควิด ที่เราต้องให้ความสำคัญมากขึ้น เพราะรูปแบบการแลกเปลี่ยนสินค้าจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องการขาดเงินสด ขาดสภาพคล่อง ของระบบเศรษฐกิจของประเทศได้ “

นายพยุงศักดิ์ ศรีเขียวสด เจ้าของเอนกฟาร์ม จังหวัดอ่างทอง กล่าวว่า เป็นผู้ผลิตไข่นกกระทา และสินค้าแปรรูปจากไข่นกกระทา โดยปัจจุบันมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 15-20 ล้านฟองต่อเดือน จำหน่ายทั้งหน้าฟาร์ม ส่งร้านโมเดิร์นเทรด ซึ่งแต่ละเดือนยอดขายกว่า 20 ล้านบาท แต่เมื่อเกิดปัญหาโควิค -19 ก็กระทบต่อการยอดขายลดลง 40-50 % ไข่ไก่ที่ไม่สามารถจำหน่ายได้ก็ต้องนำไปแจกจ่าย ทำแปรรูป แต่เมื่อมีการผ่อนปรนมาตรการต่างๆยอดขายก็กระเตื้องขึ้น ซึ่งการที่กระทรวงฯจัดงานให้เกษตรกรพบปะเจรจากันถือเป็นเรื่องที่ดีมากๆ คาดว่าจะทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้น และเชื่อว่าการจัดงานนี้จะมีส่วนช่วยผลักดันให้เป้าหมายที่วางไว้เติบโต 5% ต่อปีได้

นางกัลยาณี ทรัพย์ส่องแสง เกษตรกรกลุ่มประมงพื้นบ้านพันท้ายนรสิงห์ จ.สมุทรสาคร กล่าวว่า การพบปะแลกเปลี่ยนกับเกษตรกรนอกพื้นที่เป็นเรื่องที่ดี เพราะสร้างโอกาสการค้าขายให้กับกลุ่มเกษตรกร เนื่องจากได้มีพบเจอกับเกษตรกรในพื้นที่ต่างๆ จากเดิมก็พบแค่เกษตรกรในพื้นที่ สินค้าก็เป็นสินค้าที่ผลิตในท้องถิ่น แต่ครั้งนี้พบกับเกษตรกรหลายกลุ่ม และได้พูดคุยเจรจาทางการค้า โดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง ทำให้ขายได้และมียอดขายเพิ่มขึ้น จึงอยากให้กระทรวงจัดงานในลักษณะแบบนี้ปีละ 2 ครั้ง