'นอนแบงก์’ ไร้ผลกระทบมัดหนี้ ‘อิออน’ ชี้เงื่อนไขเยอะ

'นอนแบงก์’ ไร้ผลกระทบมัดหนี้ ‘อิออน’ ชี้เงื่อนไขเยอะ

“นอนแบงก์” ยืนยันไร้ผลกระทบมาตรการ “มัดรวมหนี้” หลัง “แบงก์ชาติ” ไฟเขียวนำหนี้สินเชื่อรายย่อยรวมกับสินเชื่ออสังหาฯ เพื่อใช้หลักประกันจากบ้านในการลดดอกเบี้ย “อิออน” ชี้ยังมีข้อจำกันเยอะ เหตุต้องผ่อนหนี้มาแล้วระยะหนึ่ง

มาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ออกมาล่าสุด เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยอนุญาตให้สามารถรวมหนี้สินเชื่อรายย่อย ไม่ว่าจะเป็น สินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล หรือสินเชื่อเช่าซื้อ รวมกับหนี้สินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ เพื่อใช้หลักประกันจากอสังหาฯ มาช่วยทำให้การคิดอัตราดอกเบี้ยลดลง จากปกติสินเชื่อรายย่อยประเภทดังกล่าวจะคิดในอัตรา 16-25% แต่หากนำมารวมกับสินเชื่ออสังหาฯ แล้วใช้หลักประกันจากอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว จะช่วยให้การคิดดอกเบี้ยลดลงเหลือในอัตราไม่เกิน ดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี (Minimum Retail Rate: MRR) ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 5.75-8.8%

ขณะที่ ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ยังช่วยลูกหนี้ ด้วยการอนุญาตให้รีไฟแนนซ์หนี้สินเชื่อรายย่อยจาก สถาบันการเงินอื่น หรือจากบริษัทที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์) เพื่อมาใช้ประโยชน์จากหลักประกันอสังหาริมทรัพย์ได้ด้วย ทำให้ นอนแบงก์ มีโอกาสที่จะสูญเสียลูกค้าบางกลุ่มไป อย่างไรก็ตาม นอนแบงก์ ส่วนใหญ่มั่นใจว่าไม่ได้รับผลกระทบดังกล่าวมากนัก

นายนันทวัฒน์ โชติวิจิตร กรรมการบริหาร บริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) หรือ AEONTS กล่าวว่า มาตรการรวมหนี้ของธปท. ไม่กระทบต่อธุรกิจนอนแบงก์แต่อย่างใด เพราะต้องมาจากรวมหนี้จากสถาบันเดียวและการรวมหนี้ไปที่แบงก์ค่อนข้างมีข้อจำกัดไม่ว่าจะเป็นการต้องผ่อนหนี้มาแล้วระยะหนึ่งและยังต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ซึ่งแบงก์เองก็ต้องประเมินหลักทรัพย์ค้ำประกันใหม่ ลูกหนี้จะผ่านเงื่อนไขรวมหนี้ได้แค่ไหนยังต้องรอประเมิน

“เราไม่ได้รับผลกระทบเลย และตอนนี้เรายังสามารถดูแลช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย ตามมาตรการของธปท. ที่มีอยู่ได้ และจำนวนลูกหนี้ที่ขอรับความช่วยเหลือยังทรงตัวเท่าเดิม”

นางสาวณญาณี เผือกขำ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อยุธยา แคปปิตอล เซอร์วิสเซส จำกัด ผู้ให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิตเฟิร์สช้อยส์ กล่าวว่า ในส่วนของการรวมหนี้ของเรายังต้องรอข้อสรุปที่ชัดเจนก่อนว่า นอนแบงก์ในเครือแบงก์ที่มีสินเชื่อบ้านอยู่สรุปแล้วจะให้รวมมาจากสถาบันเดียวกันได้หรือไม่

แต่สุดท้ายแล้วไม่ว่าจะแนวทางจะออกแบบไหน เชื่อว่าจะเป็นสิ่งที่ดีสุดสำหรับลูกหนี้ในเวลานี้ ซึ่งเราพร้อมสนับสนุนตามมาตรการธปท.อยู่แล้ว และขณะนี้ด้วยมาตรการการช่วยเหลือที่มีอยู่เราสามารถดูแลลูกหนี้ได้เต็มที่

นายกิติพัฒน์ ชลวุฒิ ประธานเจ้าหน้าที่ บริหาร บริษัท เจ ฟินเทค จำกัด หรือ J Fintech กล่าวว่า หากเป็นลูกหนี้ที่ไปไม่ไหวและต้องการลดดอกเบี้ยลงอีก เราพร้อมแนะนำและสนับสนุนลูกหนี้ดำเนินการตามมาตรการใหม่ของธปท.ให้รวมหนี้ไปรีไฟแนนซ์ที่แบงก์ แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าแบงก์จะรับได้มากน้อยแค่ไหน

อย่างไรก็ตามในส่วนของลูกหนี้ของเราส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อส่วนบุคคล ที่เข้ามาขอความช่วยเหลือตามมาตรการธปท.ระยะที่ 2 เพื่อไม่ให้ตกชั้นเป็นหนี้เสียปัจจุบันเราก็ยังสามารถดูแลได้ และมีลูกหนี้ขอช่วยเหลือลดลง เหลือเพียง 100-200 ราย มูลหนี้ไม่มากแล้ว เป็นลูกหนี้ที่ยังได้ผลกระทบโควิด-19 ประกอบอาชีพในธุรกิจโรงแรมและการบิน จากในช่วงโควิด-19 มีลูกหนี้มาขอความช่วยเหลือ 8,000 ราย มูลหนี้ 400 ล้านบาท

นางสาวธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกร กล่าวว่า มาตรการล่าสุดของ ธปท. มีส่วนช่วยรายย่อยค่อนข้างมาก ทำให้ภาระดอกเบี้ยลดลง มีสภาพคล่องในการใช้ดำเนินชีวิตมากขึ้น อีกทั้งยังช่วยลดภาระการตั้งสำรองของแบงก์เพิ่มขึ้นด้วย เนื่องจากหากเป็นสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน แบงก์ต้องตั้งสำรองถึง 100% แต่หากเป็นสินเชื่อบ้าน เป็นสินเชื่อบ้านที่มีหลักประกัน ทำให้ภาระสำรองลดลงค่อนข้างมาก อีกทั้งทำให้แบงก์ลดความเสี่ยงจากการปล่อยสินเชื่อ และลดโอกาสการเป็นหนี้เสียได้

อย่างไรก็ตาม คาดว่า การรวมหนี้ครั้งนี้ จะทำให้แบงก์มีรายได้ดอกเบี้ยลดลงในช่วง 4 เดือนที่เหลือราว 0.56% หากเทียบกับรายได้ดอกเบี้ยทั้งหมด ขณะที่หากคิดทั้งปีคาดว่ารายได้ดอกเบี้ยแบงก์ทั้งระบบจะลดลงราว 1.67% หากเทียบกับรายได้ดอกเบี้ยของแบงก์ทั้งระบบมีอยู่ราว 7 แสนล้านบาทต่อปี