“เหล่าหญ้า”ดูแลสูงวัยทุกมิติ สู่ความหวัง “รพ.สต.เดย์แคร์”

“เหล่าหญ้า”ดูแลสูงวัยทุกมิติ  สู่ความหวัง “รพ.สต.เดย์แคร์”

 รพ.สต.เหล่าหญ้า เป็นหนึ่งในหน่วยบริการที่ให้บริการผู้สูงอายุครบทุกมิติ และมีเป้าหมายจะขยายสู่การเป็น “รพ.สต.เดย์แคร์”

    บรรณกร เสือสิงห์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.)เหล่าหญ้า ต.แคมป์สน อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ บอกว่า รพ.สต.ได้รับการยกระดับเป็น “คลินิกหมอครอบครัว” โดยมีการสนับสุนนทั้งกรอบโครงสร้าง บุคลากรอย่างพอเพียง มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวมาประจำที่รพ.สต. 3 วันต่อสัปดาห์ และบูรณาการงบประมาณในเครือข่ายเพี่อสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ เวชภัณฑ์ ยา ให้เป็นไปตามมาตรฐานรพ.สต.ติดดาว ขณะที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) เขต 2 สนับสนุนด้านบริหารจัดการ ระบบวิชาการ และวางแผนการดำเนินงานร่วมกัน เพื่อให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานที่สปสช.กำหนด

รพ.สต.จึงมีบริการดูแลสุขภาพประชาชนในหลายมิติทั้งการส่งเสริมป้องกัน คัดกรอง รักษา และฟื้นฟูสมรรถภาพที่ผสมผสานทั้งแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนไทย อย่างเช่น การคัดกรองโรคที่ได้รับสนับสนุนเครื่องตรวจคลื่นหัวจใจEKGจากภาคเอกชน การได้รับงบประมาณจากกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับพื้นที่ หรือกองทุนสุขภาพตำบล ในการใช้รถเอ็กซเรย์เคลื่อนที่ตรวจคัดกรองความผิดปกติของปอด จำนวน 300 คน พบความผิดปกติประมาณ 50 คน และผิดปกติมาก 1 คน เมื่อส่งต่อเพื่อตรวจเพิ่มเติมพบว่าเป็นมะเร็งปอด คนไข้จึงได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที เป็นต้น
159860833137

“เหล่านี้ทำให้ประชาชนเชื่อมั่น เห็นความสำคัญของที่นี่และมาใช้บริการมากขึ้น ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายให้กับคนไข้ที่ต้องเดินทางไปรักษาที่รพ.เขาค้อซึ่งอยู่ห่างออกไปราว 20 กิโลเมตร อีกทั้ง ลดความแออัดของโรงพยาบาล” บรรณกรกล่าว

ในส่วนของการส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ ใช้งบฯจากกองทุนระบบการดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง (Long Term Care : LTC) ของสปสช. เฉลี่ย5,000 บาทต่อคนต่อปี ซึ่งในตำบลผู้ที่มีอายุเฉลี่ย 70-80 ปี ประมาณ 800 คน ส่วนใหญ่ติดสังคม จะเน้นกิจกรรมและการดูแล 5 สุข ได้แก่ สุขสนุก สุขสบาย สุขสง่า สุขสว่าง และสุขสงบ และพบมีภาวะติดเตียงราว 30 คน โรคที่พบบ่อย เช่นเบาหวาน ความดัน โรคหัวใจและหลอดเลือด จะมี “ทีมสหวิชาชีพ” ประกอบด้วยแพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล นักกายภาพ แพทย์แผนไทย ทันตาภิบาล อสม.และผู้ให้การดูแล (caregiver) ลงเยี่ยมบ้าน ดูแลและฟื้นฟู 6 ครั้งต่อเดือน

เหนืออื่นใด ตัวชี้วัดความสำเร็จที่สำคัญยิ่งอยู่ที่ “คนไข้” ซึ่งนางเสวียน พระฤาษี อายุ 70 ปี เป็นอดีตผู้ป่วยติดเตียงที่เมื่อผ่านไป 3 เดือนสามารถกลับมาเดินได้ นพ.นรัญธกร สมรูป แพทย์เฉพาะทางเวชศาสตร์ครอบครัว กล่าวว่า ผู้ป่วยรายนี้กระดูกทับเส้นประสาท และมีปัญหาเกี่ยวกับกล้ามเนื้อ เดินแล้วมีอาการเจ็บจึงกลายเป็นคนติดเตียง แต่เมื่อได้รับการรักษาและทีมสหวิชาชีพติดตามดูแลต่อถึงบ้าน เน้นการช่วยบริหารกล้ามเนื้อ ลดอาการปวด ผสมผสานกับแนวทางแพทย์แผนไทย ทำให้มีกำลังกล้ามเนื้อดีขึ้น ปัจจุบันจึงลุกเดินได้โดยการใช้วอล์กเกอร์ 4 ขา สามารถช่วยเหลือตนเองในชีวิตประจำวันได้มากขึ้น
159860836682

ขณะที่ เสวียน บอกว่า เมื่อก่อนลุกนั่งได้ แต่เดินไม่ได้ เดินเจ็บๆ เวลาจะไปไหนหรืออาบน้ำ ลูกชายจะต้องอุ้มไป แต่ตอนนี้เดินไปเองได้ อาการดีขึ้นมาก ตั้งใจจะฟื้นฟูให้สามารถช่วยเหลือตัวเองได้มากขึ้น ซึ่งสิ่งสำคัญเกิดจากการดูแลช่วยฟื้นฟูของทีมเจ้าหน้าที่และกำลังใจจากคนในครอบครัว จึงอยากให้กำลังใจถึงผู้ป่วยติดเตียงทุกคน ให้นึกเสมอว่าสามารถฟื้นูตัวเองให้อาการดีขึ้นได้

การขยับต่อในแง่ของการดูแลผู้สูงอายุ บรรณกร บอกว่า ต้องการปรับพื้นที่ส่วนหนึ่งของรพ.สต.ให้เป็นสถานที่ดูแลผู้สูงอายุแบบเช้าไปเย็นกลับ หรือ เดย์แคร์(Day Care) จะได้ดูแลแบบไร้รอยต่อ เพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีมากขึ้น โดยตอนเช้าให้ญาติมาส่งผู้สูงอายุที่เดย์แคร์แล้วตอนเย็นมารับกลับบ้าน คล้ายกับเนอร์สเซอรี่เด็กเล็ก เน้นกลุ่มที่ลูกหลานต้องออกไปทำงานนอกบ้าน เพื่อที่ช่วงกลางวันผู้สูงอายุไม่ต้องอยู่บ้านคนเดียว ซึ่งจะสุ่มเสี่ยงต่ออันตรายที่จะเกิดขึ้น แต่การมาอยู่ที่เดย์แคร์จะมีเจ้าหน้าที่และ Caregiver ดูแล ขณะที่หากลูกหลานจะจ้างเอกชนดูแลมีค่าใช้จ่ายสูงมากถึงเดือนละ 25,000-30,000 บาท นอกจากนี้ ด้วยการเป็นเมืองท่องเที่ยว จะกลายเป็นสถานที่รองรับการดูแลผู้สูงอายุที่ลูกหลานพามาเที่ยวได้ด้วย
159860839518

อย่างไรก็ตาม บรรณกร ยอมรับว่า การจะเพิ่มงานให้รพ.สต.เป็นเดย์แคร์นั้นไม่ง่าย จะต้องพิจารณาทั้งในเรื่องของงบประมาณสนับสนุนในการก่อสร้างอาคา จัดหาอุปกรณ์ต่างๆและบุคลากรเพิ่มเติม แต่เชื่อมั่นว่าด้วยความเข้มแข็งของชุมชน การให้การสนับสนุนจากท้องถิ่นและภาคเอกชน ในการช่วยกันคิดและร่วมกันทำก็จะเกิดขึ้นได้ หากสำเร็จจะถือเป็นรพ.สต.แรกในประเทศไทยที่จัดตั้งเดย์แคร์

ในมุมมองของ นพ.ประจักษวิช เล็บนาค รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) เห็นว่า บทเรียนจากการทำศูนย์เดย์แคร์ในประเทศญี่ปุ่น พบว่า มีต้นทุนสูง และทำให้ความสัมพันธ์ ความผูกพันในบ้านไม่ดี เพราะผู้สูงอายุจะเกิดความรู้สึกเหมือนถูกนำมาทิ้งไว้ให้แพทย์ดูแล ซึ่งรพ.สต.มีจุดเด่นในเรื่องความใกล้ชิดกับชุมชน หากจะดำเนินการเรื่องนี้จะต้องออกแบบระบบให้ดี ที่สำคัญ สร้างความเข้าใจกับคนไข้ ญาติ และชุมชน โดยชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุเองและญาติ เช่น ผู้สูงอายุได้ฟื้นฟูตัวเองมากขึ้น ลดอันตราย ส่วนญาติสามารถออกไปทำงานได้โดยไม่ห่วงหน้าพะวงหลัง ทั้งนี้ อาจทดลองนำร่องเป็นต้นแบบก่อนด้วยการขอใช้งบประมาณจากกองทุนสุขภาพตำบล