ปั้นแบรนด์ 'ซัคเซสมอร์ฯ' เรียก 'เชื่อมั่น' ธุรกิจขายตรง

ปั้นแบรนด์ 'ซัคเซสมอร์ฯ' เรียก 'เชื่อมั่น' ธุรกิจขายตรง

ขยายสาขา & โรงงาน 'จุดขาย' หุ้นไอพีโอน้องใหม่ 'ซัคเซสมอร์ บีอิ้งค์' เตรียมระดมทุนตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) 8 ก.ย. นี้ 'หมอสิทธวีร์ เกียรติชวนันต์-นพกฤษฏิ์ นิธิเลิศวิจิตร' สองเพื่อนซี้ หวังสร้างแบรนด์ขายตรงไทยน่าเชื่อมั่น พร้อมเดินหน้ารุกตลาด

หากเอ่ยถึง 'ธุรกิจเครือข่าย' (ขายตรง) ในเมืองไทย คงต้องยอมรับว่ายังไม่เป็นที่ยอมรับมาก แม้จะมีนักธุรกิจ 'ขายตรง' นับล้านคน สะท้อนผ่านบริษัทที่ครอง 'ส่วนแบ่งการตลาด' (Market share) เบอร์ 1 ในธุรกิจเครือข่ายในไทยกลับเป็นบริษัทข้ามชาติ โดยธุรกิจมีอัตราการเติบโตทุกปี บ่งชี้ผ่านมูลค่าตลาดขายตรงย้อนหลัง 3 ปี (2560-2562) ระดับ 6-8 หมื่นล้านบาท !

ทว่าล่าสุดธุรกิจเครือข่ายแบรนด์ไทยแท้ๆ ที่มีผลประกอบการเติบโต 'ระดับ 1,000 ล้านบาท' อย่าง บมจ. ซัคเซสมอร์ บีอิ้งค์ หรือ SCM ประกอบธุรกิจจำหน่ายสินค้าในกลุ่มผลิตภัณฑ์อุปโภคและบริโภคทั้งภายในประเทศและต่างประเทศในลักษณะเครือข่ายขายตรง (Multi-level Marketing หรือ MLM) กำลังเป็นสตอรี่บวกของหุ้นไอพีโอน้องใหม่ที่กำลังจะเข้าซื้อขาย (เทรด) ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) จำนวน 150 ล้านหุ้น เข้าซื้อขายวันแรก 8 ก.ย. 2563 ที่ราคาหุ้นละ 1.90 บาท มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) 0.50 บาท ได้เงินระดมทุนราว 269.73 ล้านบาท

'นายแพทย์สิทธวีร์ เกียรติชวนันต์' และ 'นพกฤษฏิ์ นิธิเลิศวิจิตร' สองเพื่อนซี้ตั้งแต่วัยเด็ก… ที่ปัจจุบันกลายมาเป็นหุ้นส่วนธุรกิจเครือข่าย โดย 'ตระกูลเกียรติชวนันต์' ผู้ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 1 จำนวน 245,700,000 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 40.96% และ 'ตระกูลนิธิเลิศวิจิตร' ผู้ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 2 จำนวน186,300,000 หุ้น คิดเป็น 31.05% (ตัวเลขหลังเสนอขายหุ้นไอพีโอ)

โดย 2 เพื่อนซี้บอกว่า เป็นเพื่อนกันมาตั้งแต่ชั้นอนุบาล เรียนโรงเรียนเดียวกันจนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ก่อนจะแยกย้ายกันไปเรียนระดับมหาวิทยาลัยคนละสายวิชาการ โดย 'นพ.สิทธวีร์' เลือกเรียนแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้วุฒิบัตรผู้เชี่ยวชาญด้านหูคอจมูก ก่อนจะมาศึกษาต่อหลักสูตรเวชศาสตร์ผิวพรรณ ที่สถาบันเวชศาสตร์สุขภาพและผิวพรรณ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

ส่วน 'นพกฤษฏิ์' เลือกเรียนบริหารธุรกิจด้านการตลาดมหาวิทยาลัยรามคำแหง ต่อด้วยบริหารการเงินที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอีกหลายวุฒิบัตรจากต่างประเทศเช่นเดียวกัน

ปัจจุบัน SCM แบ่งธุรกิจออกเป็น 3 ประเภท คือ 1.กลุ่มธุรกิจแบบเครือข่าย ซึ่งเป็นสัดส่วนรายได้หลักของบริษัท โดยจำหน่ายสินค้าในกลุ่มผลิตภัณฑ์อุปโภคและบริโภคทั้งในและต่างประเทศ เป็นธุรกิจหลักของกลุ่มบริษัทจำแนกเป็น 6 กลุ่มผลิตภัณฑ์ ได้แก่ 1.1 กลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร 1.2 กลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง 1.3 กลุ่มผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนตัว 1.4 กลุ่มผลิตภัณฑ์สินค้าใช้ในครัวเรือน 1.5 กลุ่มผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร 1.6 กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี

2.กลุ่มธุรกิจให้บริการคำปรึกษาในการดำเนินธุรกิจเครือข่ายและรับจัดงานสัมมนา ดำเนินธุรกิจโดย บริษัท ซัคเซส สปิริต จำกัด (SPT) และ SCM Spirit (Myanmar) Co., Ltd. (SPM) เพื่อสนับสนุนธุรกิจเครือข่ายในประเทศ และตัวแทนจำหน่ายสินค้าในต่างประเทศที่มีเครือข่ายสมาชิกและฐานลูกค้าเป็นของตนเอง และ

และ3.กลุ่มธุรกิจโรงงานผลิตสินค้า ดำเนินธุรกิจโดยบริษัท ซัคเซสมอร์ บีอิ้งค์ แล็บบอราทอรี่ จำกัด (SML) และน้องใหม่ บริษัท เอสซีเอ็ม อินโนเวทีฟ จำกัด (SMI) ที่เป็นบริษัทที่ SCM เข้าลงทุนในช่วงเดือนมีนาคม 2563 ที่ผ่านมา โดยจะดำเนินการจัดตั้งเป็นโรงงานผลิตสินค้าเฉพาะภายในกลุ่มบริษัท โดยมีกำลังการผลิตประมาณ 15,000 ชิ้นต่อเดือน มีการผลิตสินค้าจำนวน 5 SKUs ได้แก่ F4 , Orysamin , Right , Phytaplex และ Vistaplex

'นายแพทย์สิทธวีร์ เกียรติชวนันต์' ประธานกรรมการบริหาร บมจ. ซัคเซสมอร์ บีอิ้งค์ หรือ SCM เล่าสตอรี่การเติบโตให้ 'กรุงเทพธุรกิจ BizWeek' ฟังว่า การตัดสินใจนำ SCM เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ครานี้... เพราะต้องการสร้าง 'แบรนด์ซัคเซสมอร์' ให้มีความเชื่อมั่น เพราะว่าการเป็นบริษัทเครือข่ายของคนไทย หากเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะยิ่งสร้างความเชื่อมั่นทั้งต่อนักธุรกิจคนไทยและตลาดต่างประเทศที่บริษัทจะขยายธุรกิจเข้าไป

'ต่อไป SCM จะเป็นภาพเดียวกันกับบริษัทเครือข่ายรายใหญ่ข้ามชาติที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ของประเทศตัวเอง แล้วขยายมาเจาะตลาดต่างประเทศ นอกจากนี้เขามองว่าการเข้าตลาดฯ ยังทำให้บริษัทโปร่งใส มีธรรมาภิบาล และในอนาคตหากต้องการระดมทุนก็จะสามารถทำได้มีทางเลือกในด้านเงินทุนมากขึ้น' 

สะท้อนผ่านแผนธุรกิจของ SCM ที่วางไว้ภายหลังได้เงินระดมทุนในครั้งนี้... นั่นคือ นำไปใช้สำหรับแผนการขยายสาขาและปรับปรุงสาขาเดิม และเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนภายในกิจการ เพื่อรองรับแผนขยายธุรกิจในอนาคต เช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้า

สอดรับกระแสผู้บริโภคใน 'ยุค New Normal' และ 'สังคมผู้สูงอายุ' (Aging Society) ที่คนหันมาให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาสุขภาพมากขึ้น และเป็นกลุ่ม High growth ที่จะช่วยผลักดันการเติบโตของธุรกิจ SCM ให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืนในอนาคต รวมถึงการมุ่งเน้นพัฒนาในด้านเทคโนโลยีและ E-marketing ซึ่งมั่นใจว่าจะช่วยผลักดันรายได้และกำไรเติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืนในอนาคต

อย่างไรก็ตาม เขา บอกต่อว่า บริษัทเล็งเห็นถึง 'โอกาส' จากการดำเนินธุรกิจในลักษณะเครือข่ายและการแข่งขันที่อาจรุนแรงขึ้นในอนาคต จึงมีแนวคิดที่จะขยายการเติบโตในลักษณะ 'Backward Integration' ในรูปแบบของโรงงานผลิตสินค้า เพื่อให้มีการดำเนินธุรกิจเพื่อจัดจำหน่ายสินค้าให้แก่กลุ่มบริษัท

ดังนั้น บริษัทจึงพิจารณาในการร่วมลงทุนกับผู้รับจ้างผลิตสินค้าภายนอก เพื่อดำเนินการเป็นโรงงานผลิตสินค้าแห่งใหม่ของบริษัทโดยในช่วงเดือนมี.ค. 2563 บริษัทได้เข้าซื้อหุ้นของ บมจ. เอสซีเอ็ม อินโนเวทีฟ หรือ SMI ซึ่งเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในประเทศไทย โดยทำการซื้อหุ้นจากกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิม คือ บริษัท เซน ไบโอเทค จำกัด (ZEN) ซึ่งไม่ได้เป็นบุคคลที่มีความเกี่ยวโยงกับทางบริษัทจำนวน 5,499,998หุ้น หรือคิดเป็น 55% ของทุนที่ออกและชำระแล้วของ SMI คิดเป็นมูลค่าเท่ากับ 115 ล้านบาท

โดยการเข้าลงทุนดังกล่าวจะช่วยให้บริษัทสามารถ 'ลดต้นทุนการผลิตสินค้าในระยะยาว' จากการประหยัดเนื่องจากขนาด (Economy of scale) เพิ่มความยืดหยุ่นในการวางแผนการผลิตและการบริหารจัดการ ช่วยลดการพึ่งพิงผู้รับจ้างผลิตสินค้ารายนอก

@ขยายตลาดต่างประเทศ

'ประธานกรรมการบริหาร' เล่าต่อว่า ปัจจุบันบริษัทขยายฐานธุรกิจขายตรงส่งสินค้าไปจำหน่ายใน 6 ประเทศ ผ่านนักธุรกิจเครือข่ายกว่า 2 แสนราย ถือเป็นการนำร่องที่ดี แต่อาเซียนไม่ใช่เป้าหมายเดียว โดยมองว่าแม้อาเซียนยังมีช่องว่างขยายได้อีก เช่น ที่อินโดนีเซีย ที่มีฐานประชากรกว่า 260 ล้านคน ถือเป็นตลาดที่น่าสนใจ

ทว่า บริษัทยังมองไกลไปถึง 'ประเทศจีน' ที่มีฐานประชากรกว่า 1,300 ล้านคน หากสามารถเจาะตลาดเข้าไปได้ เชื่อว่าจะสร้างการเติบโตได้อีกมหาศาล นั่นคือฝันไกลที่ซีอีโอทั้งคู่บอกว่าอยากจะไปให้ถึง แต่ก่อนจะก้าวไปถึงจุดนั้นสิ่งที่ต้องทำให้เกิดได้อย่างต่อเนื่อง คือความเป็นองค์กรที่ทำให้นักธุรกิจประสบความสำเร็จและมีชีวิตในแบบที่เลือกได้ ซึ่งเป็นที่มาของการก่อตั้งกิจการในครั้งแรก

ด้าน 'นพกฤษฏิ์ นิธิเลิศวิจิตร' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SCM เล่าให้ฟังว่า บริษัทถือเป็นธุรกิจจำหน่ายสินค้าในกลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และผลิตภัณฑ์อุปโภคและบริโภคในรูปแบบ Network Marketing แบรนด์ไทยแห่งแรก ที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ สะท้อนให้เห็นว่า เราคือ “ตัวจริง” เห็นได้จากยอดขายในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทะยานขึ้นระดับพันล้านบาทต่อปี

โดย 'จุดเด่น' ของ SCM นั่นคือ การที่บริษัทมีฐานสมาชิกเหนียวแน่น โดย SCM มีเครือข่ายสมาชิกทั่วประเทศมากกว่า 1.8 แสนราย โดยบริษัทมีรายได้ติดอยู่ในอันดับ TOP 10 ระดับ 1,000 ล้านบาท จากกว่า 400 บริษัทเครือข่ายในประเทศไทย
นอกจากนี้ บริษัทยังคงมองหาโอกาสใหม่ๆ เพิ่มเติม เพื่อที่จะขยายธุรกิจออกไป และทำให้กิจการเติบโตอย่างมั่นคงยั่งยืนในอนาคต

โดยมุ่งเน้นปัจจัยแห่งความสำเร็จ '4 ประการหลัก' ได้แก่ 1.การสร้างแบรนด์ SUCCESSMORE และแบรนด์สินค้าให้แข็งแกร่ง มุ่งเน้นการเติบโตอย่างยั่งยืน 2.การพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพ เป็นที่ต้องการของตลาด และมีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายให้นักธุรกิจสามารถทำการตลาดได้อย่างคล่องตัว มีทางเลือกครอบคลุมกลุ่มลูกค้าที่มีความต้องการที่แตกต่างกัน

3.การพัฒนาทรัพยากรบุคคล ทั้งพนักงานภายในบริษัทและนักธุรกิจในด้าน Mindset และ Skill sets และ 4. การสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่มีค่านิยมส่งเสริมความสำเร็จร่วมกัน มุ่งเน้นความสำเร็จ ผ่านความใส่ใจลูกค้าการพัฒนาตน ความซื่อสัตย์ไว้วางใจได้ การทำงานเป็นทีม และการแบ่งปัน

ทั้งนี้ SCM มุ่งมั่นที่จะสร้างแบรนด์คนไทย ที่ไม่ใช่แค่แข่งขันในธุรกิจเครือข่ายในประเทศเท่านั้น แต่เราต้องการเป็นแบรนด์คนไทยที่แข่งขันในระดับอินเตอร์ได้

'สิ่งที่สำคัญที่เรามุ่งเน้นคือการสร้างแบรนด์ "ซัคเซสมอร์" ให้แข็งแกร่ง เพื่อตอกย้ำ Brand Essence ของเราด้วยการส่งมอบคุณค่า ให้คนมีสุขสุขภาพที่ดีขึ้นจากการใช้สินค้า มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นด้วยแนวคิดการสร้างชุมชน Wellness & Well-being'