'ถาวร' แฉปมบินไทยขาดทุน 3 ปี รวมกว่า 2.5 หมื่นล้าน เตรียมส่ง ป.ป.ช.เอาผิดทุจริต

'ถาวร' แฉปมบินไทยขาดทุน 3 ปี รวมกว่า 2.5 หมื่นล้าน เตรียมส่ง ป.ป.ช.เอาผิดทุจริต

“ถาวร” เปิดโต๊ะแถลง ปม “การบินไทย” เจ๊ง 3 ปี รวมกว่า 2.5 หมื่นล้าน ต้นเหตุเกิดจากทุจริตซื้อฝูงบิน แอร์บัส 340 พร้อมเปิดหลักฐานสายงานพาณิชย์ตั้งกองทุนผิดกฎหมาย โยกเงินขายตั๋วจ่ายค่าตอบแทน เตรียมยื่น ป.ป.ช.กระทรวงการคลังเอาผิด 31 ส.ค.นี้

นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงในการบริหารกิจการของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) นำโดยหัวหน้าคณะทำงานฯ พล.ต.ท.ชาญเทพ เสสะเวช อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ได้เปิดเผยถึงผลการตรวจสอบการขาดทุนของการบินไทย ซึ่งเป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจ และตั้งคำถาม ถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นกับสายการบินแห่งชาติที่เปรียบเสมือนสมบัติของคนไทยทุกคน

นายถาวร ได้เปิดเผยถึงความรู้สึกที่มีต่องานสำคัญในครั้งนี้ว่า ในฐานะที่ได้รับมอบหมายให้กำกับดูแล บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ผมและคณะทำงานฯ ทำงานอย่างเต็มความสามารถ เพื่อตอบข้อสงสัยของสังคม เกี่ยวกับการขาดทุนของการบินไทยที่เป็นปัญหาเรื้อรังมาตั้งแต่ปี 2551 ซึ่งมีสาเหตุสำคัญ มาจากการจัดซื้อเครื่องบิน A340-500 และ A340-600 จำนวน 10 ลำ

เมื่อนำมาทำการบินก็เกิดปัญหาขาดทุน ทุกเส้นทางบิน ตั้งแต่เที่ยวบินปฐมฤกษ์ กรุงเทพ-นิวยอร์ก ในเดือนกรกฎาคม 2548 จนปลดระวางลำสุดท้าย ในปี 2556 และยังเป็นปัญหาภาระในการดูแลจนถึงปัจจุบัน รวมถึงค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีกจำนวนมหาศาล ที่เป็นการใช้เงินแบบไม่สมเหตุสมผล มีการเสียเงินแบบไม่น่าเสีย และส่อไปในทางทุจริต

“จุดเริ่มต้นของการขาดทุน ต้องย้อนไปในปี 2551 ซึ่งนับเป็นเวลา 3 ปี จากเที่ยวบิน A340 เริ่มทำการบิน การบินไทยขาดทุนเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การก่อตั้งบริษัทมา 60 ปี เป็นมูลค่า 21,450 ล้านบาท ต้องแก้ปัญหาด้วยการออกหุ้นกู้เป็นครั้งแรก ซึ่งคณะทำงานฯ พบว่าปัญหาการขาดทุนของการบินไทยจำนวน ไม่ต่ำกว่า 62,803.49 ล้านบาท มาจากการจัดซื้อเครื่องบินรุ่น A340 จำนวน 10 ลำ”

159859317038

ซึ่งปัจจัยหลักของการขาดทุนมี 3 ประการ คือ

  1. การบินไทยไม่ให้ความสำคัญต่อการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีอย่างเคร่งครัด
  2. ปัญหาการจ่ายสินบนของบริษัท โรลส์ - รอยซ์ ผ่านนายหน้าคนกลางให้เจ้าหน้าที่ของรัฐและพนักงานการบินไทย วงเงินกว่า 254 ล้านบาท ในการเอื้อประโยชน์ให้มีการจัดซื้อเครื่องยนต์อะไหล่ 7 เครื่องยนต์และการซ่อมบำรุงแบบเหมาจ่าย Total Care Agreement
  3. มีข้อมูลการจ่ายเงินสินบนไม่ต่ำกว่า 5% หรือประมาณ 2,652 ล้านบาท ผ่านนายหน้าคนกลางให้กับนักการเมือง เจ้าหน้าที่ และพนักงานการบินไทย แลกกับการจัดซื้อเครื่องบินรุ่น A340 จำนวน 10 ลำ

ด้าน พล.ต.ท.ชาญเทพ เสสะเวช ในฐานะหัวหน้าคณะทำงาน เผยว่า การทำหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงในครั้งนี้ คณะทำงานฯ มีเวลาทำงานเพียง 43 วัน มีการแต่งตั้งคณะทำงานชุดย่อย 6 คณะ มีการประชุมไปแล้ว 3 ครั้ง มีผู้มาให้ข้อมูล ทั้งโดยเปิดเผยและไม่เปิดเผยไม่น้อยกว่า 100 คน มีการตรวจสอบรายงานการประชุมของคณะกรรมการชุดต่างๆ ของบริษัท ย้อนหลัง 3 ปี คือ ปี 2560 - 2562

จนกระทั่งการบินไทยพ้นสภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจเมื่อ 22 พฤษภาคม 2563 และเมื่อพ้นสภาพ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ก็ได้มีความเห็นว่าคณะทำงานฯ ไม่มีอำนาจดำเนินการตามกฎหมายได้ต่อไป จึงสิ้นสุดการตรวจสอบและนำข้อมูลที่ตรวจพบนำส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเปิดเผยให้สาธารณชนทราบ

อย่างไรก็ดี จากการตรวจสอบ พบข้อมูลการใช้จ่ายของการบินไทยที่ขาดการตรวจสอบถ่วงดุล ส่อให้เกิดการทุจริต ซึ่งเกี่ยวพันกับการทำสัญญาต่างๆ และ การบริหารงานที่เอื้อประโยชน์แก่ตัวเองและพวกพ้อง คณะทำงานฯ ได้ตรวจสอบช่วงปี 2560 - 2562 ซึ่งการบินไทยขาดทุนรวมไม่ต่ำกว่า 25,659 ล้านบาท มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นสูงมาก เช่น ค่า OT ฝ่ายช่างสูงถึง 2,022 ล้านบาท โดยตรวจพบพนักงาน 1 คน ทำ OT สูงสุด  ได้ถึง 3,354 ชั่วโมง มีวันทำ OT ถึง 419 วัน แต่ 1 ปี มีเพียง 365 วัน

นอกจากนี้ ยังมีการจัดหาเครื่องบินรุ่น B787-800 จำนวน 6 ลำ แบบเช่าดำเนินงาน โดยแต่ละลำมีราคาไม่เท่ากัน มีส่วนต่างของราคาต่างกันถึง 589 ล้านบาท ทั้งที่เป็นเครื่องบินแบบเดียวกัน มีการจ่ายค่าชดเชยการคืนสภาพเครื่องบินแบบเช่าดำเนินงาน รุ่น A330-300 จำนวน 2 ลำ สูงถึง 1,458 ล้านบาท

อีกทั้ง ยังตรวจสอบพบว่า มีผู้รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ได้รับเงินค่าตอบแทนเพิ่มพิเศษในอัตราเดือนละ 200,000 บาท ผ่านไป 9 เดือน เพิ่มเป็น 600,000 บาท โดยอ้างแนวปฏิบัติที่เคยทำมา และยังมีอีกมากมาย ในหลายๆ แผนกทั้งการขายตั๋ว การโฆษณา การจัดซื้ออุปกรณ์ บนเครื่อง ครัวการบินไทย น้ำมันเชื้อเพลิง

159859318275

ขณะเดียวกัน ยังตรวจสอบพบสาเหตุที่ทำให้การบินไทยขาดทุน โดยในช่วง 3 ปี คือ 2560 – 2562 สายการพาณิชย์ไม่มีการจัดทำงบประมาณประมาณการแต่ใช้วิธีการกำหนดเปลี่ยนแปลงงบประมาณเอง โดยผ่านคณะกรรมการบริหารนโยบายของบริษัทเท่านั้น และมีการขายตั๋วโดยสารในราคาที่ต่ำมาก โดยในปี 2562 มีราคาเฉลี่ยใบละ 6,081 บาทเท่านั้น แต่บริษัทฯ มี Cabin Factor เกือบ 80% และมีผู้โดยสารถึง 24.51 ล้านคน มีรายได้ค่าตั๋วโดยสารฯ 149,000 ล้านบาท ในปีดังกล่าว

สาเหตุสำคัญที่ได้จากผลการสอบสวน มีการเอื้อประโยชน์ให้กับตัวแทนจำหน่ายตั๋วโดยสาร (Agent) ทั้งในรูปของค่าคอมมิชชั่น ค่า Tier และค่า Incentive และมีการกำหนดราคา Flash Sale (ราคาต่ำสุด) ทำให้ Agent เพียง 3 - 4 รายได้รับประโยชน์

ประกอบกับผู้บริหารในสายงานพาณิชย์ได้แต่งตั้ง โยกย้ายบุคคลใกล้ชิดให้ไปดำรงตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายขายทั่วไป (AA) ในต่างประเทศ และกำหนดเป้าหมายรายได้จากการขายเพื่อให้ได้ค่า Incentive ตามที่ต้องการ เพื่อให้ AA จัดส่งรายได้ จำนวน 10% ของค่า Incentive เข้าบัญชีกองทุนของผู้บริหารสายงานพาณิชย์และนำเงินในกองทุนดังกล่าวไปจัดสรรและแบ่งปันกันเอง ซึ่งกองทุนดังกล่าวไม่มีระเบียบ ประกาศ หรือกฎหมายของบริษัทฯ รองรับ

ทั้งนี้ รายงานผลการตรวจสอบ จะถูกนำเสนอให้กับ กระทรวงการคลัง ในฐานะผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของการบินไทย คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ภายในวันจันทร์ที่ 31 ส.ค.นี้ เพื่อทำการสอบสวนและเอาผิดผู้ทุจริตตามอำนาจที่มีอยู่ อีกทั้งจะมีการนำเรียนนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีอำนาจในการดำเนินการได้อย่างเด็ดขาดต่อไป