ส่ง 'สำนวนบอส' ใหม่ ถึงอัยการสัปดาห์หน้า จ่อเอาผิดอดีต ผบช.น.

ส่ง 'สำนวนบอส' ใหม่ ถึงอัยการสัปดาห์หน้า จ่อเอาผิดอดีต ผบช.น.

ตำรวจสรุปคดี “บอส อยู่วิทยา” ชง ผบ.ตร. เอาผิดพนักงานสอบสวน 21 นาย บกพร่องในการทำคดี ระบุมีชื่ออดีต ผบช.น.-อดีตตำรวจเกษียณ เผยสัปดาห์หน้า สน.ทองหล่อ ส่งสำนวนใหม่ให้ “อัยการ” พิจารณา

“วิษณุ” เผยชุดสอบอาจารย์วิชาส่งผล 31 ส.ค.พร้อมข้อเสนอแนะด้านปฏิรูป

คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง กรณีสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ไม่แย้งคำสั่งไม่ฟ้องเด็ดขาดของอัยการ คดีนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือบอส ขับรถชนตำรวจเสียชีวิต เมื่อปี 2555 ได้ข้อสรุปการสอบสวนคดีดังกล่าว โดย พล.ต.ท.จารุวัฒน์ ไวศยะ ผู้ช่วย ผบ.ตร.ในฐานะรองประธานคณะกรรมการ กล่าวว่า คณะกรรมการฯได้สรุปผลการตรวจสอบเสนอ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. เนื่องจากพบพยานหลักฐานใหม่ที่นำไปสู่การดำเนินคดีนายวรยุทธ ใน 3 ข้อหา คือขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้ถึงแก่ความตาย ขับรถในทางก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคล ไม่หยุดรถและให้ความช่วยเหลือฯ และเสพยาเสพติดให้โทษประเภท 2 (โคคาอีน) โดยผิดกฎหมาย

พร้อมเสนอ ผบ.ตร. ให้พิจารณาข้อบกพร่องข้าราชการตำรวจ รวม 21 นาย แบ่งเป็นตำรวจรายเดิมที่เคยถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดแล้ว 11 นาย และตำรวจที่เพิ่งพบความผิดรายใหม่ 10 นาย โดยในจำนวนนี้มีอดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) และตำรวจที่เกษียณอายุราชการไปแล้ว ส่วนจะสามารถดำเนินคดีทางอาญาย้อนหลังได้หรือไม่ ต้องพิจารณาอีกครั้ง อย่างไรก็ตามโทษทางวินัยนั้นไม่สามารถดำเนินการย้อนหลังได้

ส่วนผลการสอบสวนพยานใหม่ตามคำสั่งของอัยการ และ ตร.ขณะนี้ สน.ทองหล่อ สอบพยานความเร็ว 4 ปาก และพยานเกี่ยวกับผลการตรวจสารเสพติด 4 ปาก ครบทั้งหมดแล้ว ไม่เกินในสัปดาห์หน้าจะสามารถส่งสำนวนให้อัยการรับไปพิจารณาได้

สำหรับผลความเร็วที่เป็นที่สนใจของสังคม ในส่วนของตำรวจยังยืนยันใช้ผลการคำนวณของกองพิสูจน์หลักฐานเป็นหลัก ส่วนผลการสอบเรื่องการคำนวณความเร็ว พบว่ามีความแตกต่างกัน ซึ่งมีทั้ง 125 กม./ชม. 144 กม./ชม. และ 177 กม./ชม. แต่ผลคำนวณทั้งหมดเกินกว่า 80 กม./ชม. ตามที่กฎหมายกำหนดแน่นอน

“การทำสำนวนในคดีใหม่นี้ ทางคณะกรรมการฯไม่ได้นำพยานเดิมที่อยู่ในสำนวนคดีเก่ามาพิจารณาประกอบคดีใหม่ เพราะคดีสิ้นสุดไปแล้ว ส่วนการทำสำนวนคดีใหม่ จะยึดหลักผลการสอบพยานและเทคโนโลยีแทน”

ทั้งนี้ตามระเบียบหลังจากออกหมายจับตาม ป.วิอาญา เราต้องดำเนินการตามขั้นตอนดังนี้ 1.ให้แจ้งกองทะเบียนประวัติอาชญากรเพื่อประกาศสืบจับ 2.แจ้งกองการต่างประเทศเพื่อประสานตำรวจสากล 3.แจ้งตำรวจตรวจคนเข้าเมือง(สตม.)ที่เป็นไปตามระเบียบปฏิบัติ

พล.ต.ต.วรวัฒน์ อมรวิวัฒน์ ผู้บังคับการกองการต่างประเทศ กล่าวว่า หลังจากนี้จะต้องรอให้อัยการมีความเห็นสั่งฟ้อง ถึงจะเข้าสู่ขั้นตอนการดำเนินการของกองการต่างประเทศ ในการประสานไปยังองค์การตำรวจสากล หรืออินเตอร์โพล เพื่อขอให้พิจารณาออกหมายแดง เพื่อสืบหาแหล่งที่อยู่ของผู้ต้องหาที่หลบหนีในต่างประเทศ ก่อนดำเนินการตามช่องทางส่งผู้ร้ายข้ามแดน

ด้าน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ ถึงกรณี ตร.ประสานงานกับตำรวจสากล ในการจับกุมนายวรยุทธ ส่งกลับมาดำเนินคดีในประเทศไทยว่า เมื่อตั้งข้อหาใหม่แล้วคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาฯ ได้หยุดพิจารณากรณีนายวรยุทธแล้ว เพราะถือว่ากลายเป็นคดีที่ไปอยู่ในอำนาจศาลแล้ว ดังนั้น ตร.สามารถออกหมายแจ้งไปที่อินเตอร์โพลได้ หากต้องการตัวและเชื่อว่านายวรยุทธอยู่ต่างประเทศ โดยให้ถือเป็นการเริ่มต้นคดีใหม่

ส่วนคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในความสนใจของประชาชน ที่มีนายวิชา มหาคุณ เป็นประธาน กำลังจะส่งรายงานฉบับใหญ่ให้นายกฯ ในวันที่ 31 ส.ค.นี้ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ส่งตามรอบ 10 วันมาแล้ว 2 ครั้ง

ขณะเดียวกัน นายวิชาได้ขอเวลาอีก 30 วัน เพื่อทำในเรื่องของการปฏิรูป โดยที่ไม่เกี่ยวกับคดี เพราะถือว่าจบลงแล้ว แต่สิ่งที่นายวิชาและคณะกรรมการฯ จะทำต่อไปนั้น เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการปฏิรูปว่ากรณีของนายวรยุทธถือเป็นบทเรียนที่ทำให้เห็นว่าจะต้องไปแก้อะไรตรงไหน เขาจึงได้ขอเวลาทำต่อ และเมื่อทำเสร็จแล้ว ก็จะเสนอต่อนายกฯ เช่นเดิม

ทั้งนี้ ข้อเสนอแนะของคณะกรรมการฯ อาจแบ่งเป็น 2 ส่วน คือข้อเสนอแนะในเชิงคดีที่เกี่ยวกับตำรวจและอัยการ หรือบุคคลอื่น ซึ่งอาจนำไปสู่การดำเนินคดี หรือนำไปสู่การทำคดีใหม่ ส่วนอีกข้อเสนอแนะหนึ่งคือ ข้อเสนอในเชิงปฏิรูป ก็จะถูกนำมาผสมกันแล้ว ทำโดยที่ไม่ต้องแก้กฎหมาย ซึ่งไปเปลี่ยนเลย หรือต้องแก้กฎหมายที่มีอยู่ในมือแล้ว