‘BCPG’ ชู 4 แผนงาน หวังปิดแผล ‘ไดลูชั่น’

‘BCPG’ ชู 4 แผนงาน หวังปิดแผล ‘ไดลูชั่น’

‘บีซีพีจี’ เผย 4 แนวทาง ลดผลกระทบจากการเพิ่มทุน มั่นใจช่วยชดเชยส่วนกำไรต่อหุ้นที่ลดลงจาก ‘ไดลูชั่น’ วางแผนใช้เงินลงทุน 4.5 หมื่นล้านบาท ในช่วง 5 ปีหลังจากนี้ คาดช่วยหนุนอิบิทดาเพิ่มขึ้นเท่าตัว

ก่อนหน้านี้ บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) หรือ BCPG ได้ประกาศเพิ่มทุนจดทะเบียนของบริษัท โดยจะออกหุ้นเพิ่มทุนใหม่ 1,301.7 ล้านหุ้น เสนอขายให้กับทั้งผู้ถือหุ้นเดิม ผู้ลงทุนแบบเฉพาะเจาะจง และออกใบสำคัญแสดงสิทธิในการซื้อหุ้นสามัญ(วอร์แรนต์) โดยหากมีการใช้สิทธิเต็มจำนวน คาดว่าบริษัทจะได้รับเงินลงทุนราว 10,350 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม การเพิ่มทุนในครั้งนี้ ส่งผลกระทบต่อ “กำไรต่อหุ้น” หรือ EPS ของบริษัทให้มีสัดส่วนที่ลดลง เนื่องจากปริมาณหุ้นที่เพิ่มขึ้น

นายบัณฑิต สะเพียรชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ของ BCPG กล่าวว่า ผลกระทบต่อกำไรต่อหุ้นจากการเพิ่มทุนในครั้งนี้ บริษัทเชื่อว่าจะถูกชดเชยด้วยการนำเงินจากการเพิ่มทุนไปลงทุนต่อยอด ซึ่งจะหนุนให้กำไรต่อหุ้นของบริษัทเพิ่มขึ้นในอนาคต โดยสามารถสรุปได้เป็น 4 ปัจจัย 

ปัจจัยแรกคือ ส่วนของเงินลงทุน 3.7 พันล้านบาท ซึ่งบริษัทวางแผนจะนำไปซื้อกิจการโรงไฟฟ้า โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาหลายโครงการ คาดว่าจะสามารถสรุปและลงทุนได้ในช่วงปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้า

ปัจจัยที่สอง คือ กำไรจากโรงไฟฟ้าโซลาร์ 20 เมกะวัตต์ ซึ่งบริษัทซื้อเข้ามาก่อนหน้านี้ โดยเป็นโรงไฟฟ้าที่ยังได้รับเงินอุดหนุน (Adder) 8 บาท จะเริ่มรับรู้รายได้เข้ามาในปีหน้าเต็มปี ปัจจัยที่สาม คือ โรงไฟฟ้าพลังน้ำ 3A และ 3B กำลังการผลิต 114 เมกะวัตต์ 

นอกจากจะรับรู้กำไรเข้ามาเพิ่มเติมแล้ว ยังมีแนวโน้มที่ผลประกอบการของโรงไฟฟ้าจะดีขึ้นจากอดีต เนื่องจากปัญหาภัยแล้งที่น่าจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และปัจจัยสุดท้ายคือ โรงไฟฟ้าพลังงานลมในฟิลิปปินส์ซึ่งจะมีการปรับราคารับซื้อไฟฟ้าขึ้นอีก 15-20% ช่วยหนุนกำไรของบริษัทตั้งแต่ปลายปีนี้

ในความเป็นจริงแล้วบริษัทมีแผนจะเพิ่มทุนเพื่อรองรับการลงทุนตั้งแต่ช่วงก่อนหน้านี้ แต่ด้วยภาวะตลาดที่ไม่เอื้ออำนวย ทำให้แผนการเพิ่มทุนเลื่อนออกมา ส่งผลให้ในบางโครงการบริษัทต้องใช้เงินกู้ระยะสั้นเพื่อลงทุนไปก่อน และเมื่อเพิ่มทุนสำเร็จ จึงต้องนำเงินประมาณ 3 พันล้านบาท ไปคืนเงินกู้ในส่วนนั้น ซึ่งวางแผนไว้ว่าจะเป็นส่วนของทุนตั้งแต่แรก โดยหลังการคืนหนี้จะช่วยลดภาระดอกเบี้ยไปได้ราว 90 ล้านบาทต่อปี

ทั้งนี้ บริษัทวางแผนจะใช้เงินลงทุนราว 4.5 หมื่นล้านบาท สำหรับการลงทุนในอีก 5 ปีถัดจากนี้ โดยเงินลงทุนจะมาจากทั้งส่วนของทุนและส่วนของหนี้ โดยส่วนทุนมาจากการเพิ่มทุนครั้งนี้ราว 1 หมื่นล้านบาท ส่วนของหนี้บริษัทคาดว่าจะกู้ได้ราว 3 หมื่นล้านบาท และอีก 5 พันล้านบาท จะมาจากกระแสเงินสดจากการลงทุนในโครงการต่างๆ