'สุริยะ' อัดมาตรการหนุนรถยนต์ไฟฟ้า BOI จ่อเพิ่มสิทธิจูงใจลงทุน

'สุริยะ' อัดมาตรการหนุนรถยนต์ไฟฟ้า BOI จ่อเพิ่มสิทธิจูงใจลงทุน

“สุริยะ” ดันแผนศูนย์กลางรถยนต์ไฟฟ้า ตั้งเป้าปี 2573 ผลิตให้ได้ 30% ของจำนวนผลิตทั้งหมด “บีโอไอ” เตรียมหารือเพิ่มมาตรการส่งเสริมการลงทุน กฟภ.ตั้งเป้าปี 65 สร้างปั๊มชาร์จ 137 แห่ง ทั่วประเทศ กฟน.เร่งเพิ่มแท่นชาร์จ

หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ และบริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด จัดสัมมนา “New Generation of Automotive” เพื่อระดมความเห็นเกี่ยวกับแนวทางการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV)

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “New Generation of Automotive” ว่า กระทรวงอุตสาหกรรมให้ความสำคัญกับการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้าต่อเนื่อง นับตั้งแต่ปี 2560 ที่เปิดให้บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนรถยนต์ไฟฟ้า จากนั้นเดือน มี.ค.2563 รัฐบาลตั้งคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ เพื่อขับเคลื่อนไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ จักรยานยนต์ และรถบัสไฟฟ้า ลดปัญหา PM 2.5 ในระยะยาว พร้อมสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุน

ทั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ เห็นชอบโรดแมปการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า หรือแผน 30@30 ซึ่งความหมายของแผนนี้ คือ ในปี 2030 (2573) วางเป้าหมายให้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าให้ได้ 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมด แบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่ 

1.ระยะสั้น จะให้ผลิตรถราชการ รถบัสสาธารณะ และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้ารับจ้างสาธารณะ และยานยนต์ส่วนบุคคลอื่นๆ โดยมีเป้าหมาย 60,000–110,000 คัน 

2.ระยะกลาง เร่งให้มีการผลิต ECO EV และ Smart City Bus ประมาณ 300,000 คัน และ 3.ระยะยาว ให้มีการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า 750,000 คัน

สำหรับในแผน 30@30 จะมีมาตรการส่งเสริมทุกด้าน เช่น มาตรการส่งเสริมการลงทุน ในการยกระดับมาตรการจูงใจเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย เช่น การยกระดับสิทธิประโยชน์ สำหรับมาตรการกระตุ้นตลาด เช่น การนำร่องให้มีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในส่วนราชการ รวมทั้งการจัดทำมาตรฐานของยานยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น รวมทั้งยังได้บูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อเร่งรัด ส่งเสริม แก้ไขประเด็นปัญหา รวมทั้งอุปสรรค เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามแผนนี้

ถกคลังนำรถเก่าแลก“อีวี”

นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมจะหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาข้อเสนอสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ภายใต้โครงการรถเก่าแลกรถใหม่ โดยการนำรถเก่าที่มีอายุการใช้งานมากกว่า 15 ปี ขึ้นไป มาเปลี่ยนเป็นยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อเป็นการส่งเสริมมาตรการกระตุ้นการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าและเป็นการบริหารจัดการซากยานยนต์

ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมได้มีการจัดตั้งคณะทำงานศึกษาแนวทางการจัดการซากยานยนต์ เพื่อศึกษาให้ข้อคิดเห็นและเสนอแนวทางมาตรการจัดการซากยานยนต์ภายในประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งศึกษาแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่องหรืออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการนำกลับมาใช้เป็นวัตถุดิบใหม่ ตามแนวคิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อให้เกิดกลไกการจัดการซากยานยนต์อย่างเป็นระบบ และกำหนดหลักเกณฑ์การตั้งโรงงานรีไซเคิลยานยนต์ และส่งเสริมการลงทุนกิจการโรงงานรีไซเคิลซากรถ และแบตเตอรี่

ส่วนประชาชนที่นำรถเก่ามากำจัดจะได้รับส่วนลดภาษีไม่เกิน 1 แสนบาท และคูปองส่วนลดในการซื้อรถยนต์ใหม่ ที่จะได้รับการสนับสนุนจากค่ายรถยนต์ต่างๆ โดยคาดว่าโครงการนี้จะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายใน 2-3 เดือน โดยแนวทางการดำเนินงาน รัฐบาลจะเปิดให้ประชาชนนำรถยนต์เก่าที่มีอายุการใช้งานตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป นำมาแลกสิทธิประโยชน์จากรัฐบบาลที่จะยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ไม่เกิน 1 แสนบาทต่อคัน

“บีโอไอ”เล็งเพิ่มมาตรการหนุน

นายโชคดี แก้วแสง รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า มาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ออกมาครบทุกเรื่องทั้งการผลิตยานยนต์ ชิ้นส่วนและแบตเตอรี่ โดยบีโอไอเปิดส่งเสริมการลงทุนรถยนต์ไฟฟ้าทุกประเภท เพียงแต่การเปิดส่งเสริมมีเส้นตายยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุน เช่น รถไฮบริดมีกำหนดปี 2560 รถสาธารณะไฟฟ้ามีกำหนดปี 2561

ทั้งนี้ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มี 16 บริษัท ที่ได้รับส่งเสริมการลงทุน รวม 26 โครงการ กำลังการผลิต 560,000 คัน ถือว่าเกินกว่าที่คาดไว้ รวมทั้งมียื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนทั้งจากญี่ปุ่นและยุโรป ยกเว้นค่ายรถสหรัฐที่ไม่ยื่นขอ คือ ฟอร์ด เพราะสหรัฐเริ่มถอยการลงทุนจากเอเชีย

ทั้งนี้ ในการประชุมคณะกรรมการบีโอไอครั้งต่อไปจะเสนอให้พิจารณาปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการลงทุนรถยนต์ไฟฟ้าอีกรอบให้ครอบคลุมรถยนต์นั่งไฟฟ้า จักรยานรถยนต์ไฟฟ้า รถสามล้อไฟฟ้า และรถยนต์สาธารณะไฟฟ้า เพราะยังมีความต้องการการลงทุน และตลาดภายในประเทศมีความต้องการสูง

กฟภ.เล็งขยายปั๊มชาร์จทั่วประเทศ

นายเสกสรร เสริมพงศ์ รองผู้ว่าการวางแผนและพัฒนาระบบไฟฟ้า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) กล่าวในหัวข้อ “New Generation of Automotive” ว่า กฟภ.ได้ติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าแล้ว 11 แห่ง รอบพื้นที่กรุงเทพฯ และพัทยา เปิดให้ใช้บริการฟรีมากแล้ว 2 ปี และในปีนี้ มีแผนจะติดตั้งอีก 62 แห่ง ภายใต้ความร่วมมือกับบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ครอบคลุม 42 จังหวัด 

ทั้งนี้ จะเห็นการติดตั้งในทุกพื้นที่ระยะทาง 100 กิโลเมตรในสถานีบริการน้ำมันบางจากฯ ซึ่งเดิมจะติดตั้งแล้วเสร็จช่วงไตรมาส 3 ปีนี้ แต่เนื่องจากติดปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 และระบบการประมูลจัดซื้อจัดจ้างที่ล่าช้า ทำให้คาดว่าจะติดตั้งเสร็จตามแผนได้ในไตรมาส 2 ปี64

รวมถึงในช่วงปี 64-65 มีแผนจะติดตั้ง 64 แห่ง ครอบคุลม 75 จังหวัด ซึ่งจะเห็นการติดตั้งในทุกพื้นที่ระยะทาง 100 กิโลเมตรในถนนสายรอง หรือ ภายในปี 2565 จะมีสถานีอัดประจุไฟฟ้าทั้งหมด 137 แห่ง โดยจะใช้เงินลงทุน 2.5 ล้านบาทต่อสถานี

นอกจากนี้ เดิม กฟภ.มีแผนทดลองเก็บค่าบริการ ผ่าน 11 สถานี ช่วงต้นปี 2563 แต่ติดปัญหาโควิด-19 เลยคาดว่า จะเริ่มเก็บอัตราค่าบริการในเดือน ก.ย.นี้ ซึ่งอัตราค่าไฟที่จำหน่ายให้สถานีของเอกชน ในกรณี Low Priority คาดว่า 2.63 บาทต่อหน่วยนั้น อัตราค่าบริการสถานีของ กฟภ.สำหรับการใช้งานประเภท DC Charger และประเภท AC Charger ในช่วงเวลา Peak จะอยู่ที่ 7.5798 บาทต่อหน่วย ช่วง off-Peak จะอยู่ที่ 4.7972 บาทต่อหน่วย เป็นอัตราที่แข่งขันได้กับรถยนต์ที่ใช้น้ำมันและแก๊ส โดยเงินลงทุนต่อสถานีชาร์จ 2 หัวจ่ายอยู่ที่ 2.5 ล้านบาท