'พีระพันธุ์' เผย กมธ.ศึกษา รธน. ทำรายงานเสร็จแล้ว พร้อมส่ง 'ชวน' 31 ส.ค.นี้

'พีระพันธุ์' เผย กมธ.ศึกษา รธน. ทำรายงานเสร็จแล้ว พร้อมส่ง 'ชวน' 31 ส.ค.นี้

"พีระพันธุ์" เผยรายงานศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว เหลือเพียงการตรวจสอบ เนื้อหามีทั้งข้อสังเกตเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เตรียมส่งรายงาน ให้ "ชวน" ปธ.สภาฯ 31 ส.ค.นี้

เมื่อวันที่ 27 ส.ค. 63 นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาหลักเกณฑ์และแนวทางแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงการประชุมว่า รายงานของคณะกรรมาธิการฯ เสร็จเรียบร้อยแล้ว วันนี้จะเป็นการประชุมเพื่อตรวจสอบรับรองรายงาน ก่อนนำเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร หากทุกอย่างเรียบร้อย คาดว่าวันจันทร์ที่ 31 สิงหาคม จะยื่นรายงานต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรต่อไป

ส่วนเนื้อหารายงาน นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า รายงานไม่ได้เป็นลักษณะข้อสรุป เพราะคณะกรรมาธิการฯ ชุดนี้เป็นคณะกรรมาธิการที่ทำการศึกษาพิจารณาทั้งข้อดีข้อเสียและแง่มุมต่างๆ ทั้งที่มีความเห็นตรงกันว่าให้แก้ไขและไม่ให้แก้ไข หรือแก้ไขในวิธีการที่ต่างกัน บางคนเห็นตรงกันในหลักการ แต่ละรายละเอียดต่างกัน ซึ่งจะนำเสนอความคิดเห็นแง่มุมต่างๆ ให้ครบถ้วนเพื่อเป็นประโยชน์ในการศึกษาต่อไป

นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า รายงานของคณะกรรมาธิการฯ ไม่ได้มีแต่เรื่องการเมืองและการเลือกตั้ง แต่หัวใจรัฐธรรมนูญคือการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ไม่ใช่เรื่องทางการเมือง แต่ที่ผ่านมามักเน้นไปด้านการเมือง จนทำให้ประชาชนขาดความรู้สึกว่าเป็นเจ้าของรัฐธรรมนูญ แต่สิ่งที่คณะกรรมาธิการฯ ได้ศึกษา ศึกษาทุกด้านทุกหมวด โดยเฉพาะเรื่องหลักประกัน เช่น ที่ดินทำกิน หรือเรื่องกระบวนการยุติธรรมที่ต้องมีหลักประกันมากขึ้น และเรื่องระบบกฎหมายที่มีลักษณะการผ่อนปรนกำกับดูแลมากกว่าควบคุม อะไรที่ไม่ได้เกี่ยวกับประโยชน์ส่วนรวม ความมั่นคง หรือสาธารณะประโยชน์ เช่น การขออนุญาตทำมาค้าขาย การประกอบธุรกิจ ก็สามารถดำเนินการไปได้ โดยให้หน่วยราชการไปตรวจสอบต่อไป ซึ่งเป็นอีกด้านหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับประชาชนโดยตรง

ส่วนเรื่องอำนาจ ส.ว.ในการเลือกนายกรัฐมนตรีที่หลายพรรคเห็นตรงกันว่าควรยกเลิก นายพีระพันธุ์กล่าวว่า ความเห็นด้านนี้ก็มีในรายงาน แต่ก็มีความเห็นด้านที่เห็นว่าแบบเดิมเหมาะสมแล้วก็มี ซึ่งจะมีการใส่หลักการและเหตุผลในรายงาน คนที่เอาไปศึกษาจะได้เห็นเหตุผลและพิจารณาอีกทีหนึ่ง ย้ำว่าในรายงานไม่ได้มีบอกว่าเห็นด้วยหรือไม่ได้เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญ แต่ศึกษาว่าบทบัญญัติต่างๆ ของรัฐธรรมนูญเขียนไว้ถูกต้องเหมาะสมไว้หรือไม่ ใส่ความเห็นทั้งเสียงส่วนใหญ่และเสียงส่วนน้อย ซึ่งเป็นเอกสารทางวิชาการมากกว่า

นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า ตามระบบ เมื่อสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบแล้ว ก็จะส่งรายงานฉบับนี้ไปที่รัฐบาล โดยหลักการรัฐบาลก็ควรที่จะต้องเอารายงานนี้ไปศึกษาประกอบด้วย แต่ในทางปฏิบัติจริงๆ ก็อยู่ที่ผู้ที่จะมาทำหน้าที่ต่อไป ว่าจะให้ความสำคัญกับรายงานของคณะกรรมาธิการฯ แค่ไหน ซึ่งก็ไม่ได้มีบทบังคับไว้