‘5จี แซนด์บ๊อกซ์’ จุดสตาร์ทนวัตกรรมดิจิทัล

‘5จี แซนด์บ๊อกซ์’ จุดสตาร์ทนวัตกรรมดิจิทัล

อัพเดตความก้าวหน้าขวบปีที่2 “ศูนย์ทดสอบการใช้งาน 5จี(5G Testbed)”ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์(มก.)วิทยาเขตศรีราชา หลังจากได้รับใบอนุญาตจาก กสทช.ให้ดำเนินกิจกรรมรูปแบบ 5G Sandbox ดึงพันธมิตรทดสอบใช้จริง กระตุ้นให้เกิดการสร้างนวัตกรรม เชื่อมโยงอุตฯเป้าหมาย

ส่องความล้ำเทคโนโลยีอนาคต

รศ.สถาพร เชื้อเพ็ง คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ศรีราชา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา กล่าวว่า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา ในฐานะ“ศูนย์ทดสอบการใช้งาน 5G (5G Testbed) และได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประสานงานพื้นที่กำกับดูแลเป็นการเฉพาะ หรือที่เรียกว่า 5G Sandbox เพื่อพัฒนาในด้านต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการเทคโนโลยี 5G ปูทางไปสู่การพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ต่อยอดสู่การประหยัดงบประมาณในการลงทุนนับแสนล้านบาท

จากการดำเนินการมากว่า 2 ปี ได้มีการร่วมกันกับทุกภาคส่วนเพื่อสร้างเครื่องมือในการทดสอบ ได้แก่ อุปกรณ์โครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งตอนนี้วางโครงข่ายเสารับคลื่น 5G และห้องทดสอบที่เสร็จสมบูรณ์  และมีการวางรูปแบบให้ผู้ประกอบการที่มีอุปกรณ์เครื่องมือที่ต้องการจะทดสอบกับคลื่น 5G นำไปใช้ในภาคอุตสาหกรรม

นอกจากนี้ยังครอบคลุมการส่งเสริมและพัฒนา 10+2 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็น หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมดิจิทัล อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ โลจิสติกส์ การแพทย์ครบวงจร  เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ การท่องเที่ยว การเกษตร และการแปรรูปอาหาร เพื่อที่จะนำสัญญาณ 5G ไปก่อให้เกิดประโยชน์เชิงพาณิชย์เพิ่มมากขึ้น

159845123934

พัฒนาทักษะติดอาวุธคนดิจิทัล

ยกตัวอย่างธุรกิจ Warehouse ได้มีการนำคลื่นสัญญาณ 5G ไปใช้ประโยชน์ในการดำเนินงานบริหารจัดการจัดเก็บสินค้าจำนวนมาก ทั้งนี้ไม่ใช่แค่องค์กรขนาดใหญ่เท่านั้นที่จะเข้ามามีส่วนร่วมและขอทดสอบการใช้งานแต่ยังเปิดกว้างให้ทั้งสตาร์ทอัพ เอสเอ็มอี สามารถเข้ามาใช้บริการที่ได้อีกด้วย

อีกทั้งยังเป็นศูนย์ทดสอบ 5G Sandbox ที่ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช. เพื่อเปิดให้สามารถทดสอบการใช้งานตลอดจน Use case ต่างๆ  มีผู้ที่สนใจไม่ว่าจะเป็นภาคอุตสาหกรรม เอกชน หน่วยงานภาครัฐ ประสานเข้ามาใช้ในส่วนนี้ โดยประสิทธิภาพการใช้งานของคลื่น 5G จะเป็นคลื่นที่ส่งสัญญาณได้เพิ่มขึ้นความเร็วสูงขึ้น ทำให้สามารถใช้อุปกรณ์ที่ต่อเชื่อมกับเครือข่ายได้มากขึ้น หลักๆ จะเป็นในส่วน Indoor ซึ่งอยู่ในอาคาร 23 ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ศรีราชา มี 3 คลื่นที่รับใบอนุญาตคือ 2.4 GHz  26 GHz และ 28 GHz 

และเนื่องจาก ศูนย์ทดสอบ 5G ตั้งอยู่ใน ม.เกษตรศาสตร์ ศรีราชา จึงได้รับอานิสงส์และกลายเป็นแหล่งศึกษานอกห้องเรียนของคณาจารย์ และนิสิตด้วยเช่นกัน ตรงส่วนนี้จะต่อยอดสู่การพัฒนากำลังคนในพื้นที่อีอีซี เนื่องจากการพัฒนาเทคโนโลยีซึ่งจำเป็นที่จะต้องใช้กำลังคนเพื่อดำเนินการให้ระบบสามารถรันได้ ดังนั้นเราจึงต้องพัฒนากำลังคนไปพร้อมๆกัน ส่งผลให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นรศ.สถาพร กล่าว

159845125666

ดึง 5G ยกระดับการศึกษา

ด้าน อาจารย์อุดมพร ตุงคะศิริ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายสารสนเทศ วิทยาเขตศรีราชา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ยูสเคสที่มหาวิทยาลัยได้มีการดำเนินการมีดังนี้ 1.เกษตรและอาหาร โดยการพัฒนาเทคโนโลยีสมัยใหม่ทางการเกษตรตั้งแต่การผลิตจนถึงการแปรรูป นำเทคโนโลยี 5G มาใช้พัฒนา Use Case ตั้งแต่กระบวนการผลิตทั้งพืชและสัตว์ อาทิ ระบบตรวจวัดสภาพแวดล้อมในการปลูกพืชหรือเลี้ยงสัตว์

159845206344

2.อุตสาหกรรม การท่องเที่ยว และการขนส่ง ที่นำ 5G มาใช้ที่เกี่ยวข้องตั้งแต่การพัฒนาระบบการผลิตอัจฉริยะ การพัฒนาหุ่นยนต์เพื่อการผลิตควบคุมได้จากระยะไกล การจัดการของเสียในโรงงานอุตสาหกรรม การจัดการระบบขนส่งอัตโนมัติในคลังสินค้า 3.การศึกษา พัฒนาเครื่องมือเพื่อช่วยในการเรียนการสอน เช่นการใช้ AR/VR เป็นเครื่องมือประกอบการสอน หรือหลักสูตรออนไลน์ต่าง ๆ ในรูปแบบ 4K หรือ 8K

ส่วนความคืบหน้าของโครงการ 5G ขณะนี้ได้มีการสร้างความร่วมมือและขอทุนวิจัยจากหน่วยงานภายนอก เช่น จาก กสทช. เพื่อจัดทำห้องอบรม 5G VR โดยร่วมกับบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และยังมีงานวิจัยจากนักวิจัยที่กำลังดำเนินการเพื่อทำการทดลองทดสอบในพื้นที่แซนด์บ็อกซ์ตามตั้งเป้าหมายไว้อาจารย์อุดมพร กล่าวทิ้งท้าย

159845127622