พาณิชย์เผยยอดตั้งธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ขนส่ง มาแรงรับนิวนอร์มอล

พาณิชย์เผยยอดตั้งธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ขนส่ง มาแรงรับนิวนอร์มอล

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เผย บริษัทตั้งใหม่เดือนก.ค.ธุรกิจขนส่งและขนถ่ายสินค้า อีคอมเมิร์ซ มาแรง พุ่งติดอันดับ 3 ต่อเนื่อง 3 เดือนติดต่อกัน หลังมีการลงทุนทำธุรกิจรับชีวิตวิถีใหม่ และการเติบโตของการค้าออนไลน์

นางโสรดา เลิศอาภาจิตร์ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า การจดทะเบียนธุรกิจในเดือนก.ค.2563 มีผู้ประกอบธุรกิจยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัทใหม่ทั่วประเทศจำนวน 5,667 ราย เมื่อเทียบกับเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา ลดลง 1% และเทียบเดือนก.ค.2562 ลดลง 12% เนื่องจากคนยังกังวลสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ชะลอการทำธุรกิจใหม่ แต่ถือว่าทิศทางเริ่มดีขึ้นจากการระบาดในช่วงแรกๆ และมีแนวโน้มที่จะดีขึ้นต่อเนื่อง โดยการตั้งธุรกิจใหม่มีมูลค่าทุนจดทะเบียนจำนวน 16,714ล้านบาท เมื่อเทียบกับมิ.ย.2563 เพิ่มขึ้น 13% เทียบกับก.ค.2562 ลดลง 27% ธุรกิจจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป รองลงมา คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจขนส่งและขนถ่ายสินค้า รวมถึงคนโดยสาร

ทั้งนี้ การจัดตั้งธุรกิจใหม่อันดับ 1 และ 2 ยังคงเหมือนกับการจัดตั้งธุรกิจใหม่ในเดือนก่อนหน้านี้ แต่อันดับ 3 เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงมาตั้งแต่เดือนพ.ค.2563 จากปกติจะเป็นธุรกิจภัตตาคารและร้านอาหาร เปลี่ยนมาเป็นธุรกิจที่เกี่ยวกับการขนส่ง อีคอมเมิร์ซ ที่เติบโตขึ้นจากมาตรการล็อกดาวน์ และวิถีชีวิตของคนที่เปลี่ยนไปหันไปใช้ช่องทางออนไลน์ในการซื้อสินค้าและอาหาร มากขึ้น ทำให้มีการจดตั้งบริษัทใหม่เพิ่มขึ้น

ส่วนธุรกิจภัตตาคารและร้านอาหาร ที่มีการจดตั้งใหม่ลดลง เพราะได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของภาคการท่องเที่ยว ที่เกิดขึ้นจากการล็อกดาวน์ และไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา แต่คาดว่าทิศทางน่าจะดีขึ้น หลังจากที่รัฐบาลได้เร่งกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ และส่งเสริมให้หน่วยงานรัฐจัดกิจกรรมอบรม สัมมนาในต่างจังหวัด ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจฟื้นตัว

สำหรับธุรกิจเลิกกิจการ มีจำนวน 1,261 ราย เทียบกับมิ.ย.2563ลดลง 6%และเทียบกับก.ค.2562ลดลง 21%มีมูลค่าทุนจดทะเบียนจำนวน 7,668ล้านบาท เทียบกับมิ.ย.2563ลดลง 49%และเทียบกับก.ค.2562ลดลง 7%โดยธุรกิจที่เลิกกิจการสูงสุด3อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ภัตตาคารและร้านอาหาร

ขณะที่ยอดรวมการจัดตั้งธุรกิจใหม่ในช่วง 7 เดือนปี 2563 (ม.ค.-ก.ค.) มีจำนวน 39,004ราย ลดลง 13% ทุนจดทะเบียนรวม 121,285ล้านบาท ลดลง 14% และธุรกิจเลิกกิจการ มีจำนวน 7,488ราย ลดลง 9% ทุนจดทะเบียน 34,015 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11% โดยคาดว่าปี 2563 ทั้งปี จะมีการจดตั้งธุรกิจใหม่ประมาณ 65,000-70,000 ราย

ล่าสุดมีธุรกิจดำเนินกิจการอยู่ทั้งสิ้น (ณ วันที่ 31 ก.ค.2563) มีจำนวน 768,874ราย มูลค่าทุน 18.53 ล้านล้านบาท แยกเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล จำนวน 187,265ราย คิดเป็น 24.35% บริษัทจำกัด จำนวน 580,332ราย คิดเป็น 75.48% และบริษัทมหาชนจำกัด จำนวน 1,277 ราย คิดเป็น 0.17% ตามลำดับ

สำหรับการลงทุนประกอบธุรกิจในไทยภายใต้กฎหมายต่างด้าว ในเดือนก.ค.2563 มีการอนุญาตให้คนต่างชาติประกอบธุรกิจทั้งสิ้น มีจำนวน 62 ราย แบ่งเป็นใบอนุญาตประกอบธุรกิจ จำนวน 24 ราย และหนังสือรับรองประกอบธุรกิจ จำนวน 38 ราย โดยมีนักลงทุนต่างชาติลงทุนเพิ่มขึ้น 6 ราย เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน (มิ.ย.63) 11% และมีเม็ดเงินลงทุนทั้งสิ้น 5,284 ล้านบาท ซึ่งนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยมากที่สุด ได้แก่ ญี่ปุ่น จำนวน 16 ราย เงินลงทุน 1,867 ล้านบาท รองลงมา ได้แก่ สิงคโปร์ จำนวน 7 ราย เงินลงทุน 645 ล้านบาท และจีน จำนวน 6 ราย เงินลงทุน 1,157 ล้านบาท

“แนวโน้มการจัดตั้งธุรกิจใหม่ มีแนวโน้มไปในทิศทางรองรับวิถีชีวิตใหม่ คือ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอุปกรณ์ทางการแพทย์ การป้องกันเชื้อโรค เช่น การผลิตถุงมือยาง เพิ่มขึ้นถึง 12 เท่า ธุรกิจอีคอมเมิร์ซรองรับพฤติกรรมชีวิตที่เปลี่ยนไป ทั้งสั่งของ ซื้อของออนไลน์ ธุรกิจการจัดทำซอฟแวร์แอบพลิเคชั่น ธุรกิจขนส่ง”