“อาร์เอสที”สตาร์ทอัพไทย บุกตลาดหุ่นยนต์อาเซียน

“อาร์เอสที”สตาร์ทอัพไทย  บุกตลาดหุ่นยนต์อาเซียน

ปัจจุบัน บริษัทผลิตหุ่นยนต์ของไทยส่วนใหญ่เน้นการนำเข้าเพื่อนำมาติดตั้งอุปกรณ์ตามอุตสาหกรรมต่างๆ ก่อนวางระบบในโรงงาน แต่ปัจจุบันมีสตาร์ทอัพไทยที่สามารถทำงานทั้งระบบได้เบ็ดเสร็จและเตรียมออกสู่ตลาดต่างประเทศแล้ว

อินทัช อนุพรรณสว่าง กรรมการผู้จัดการ บริษัท อาร์เอสที โรโบติกส์ จำกัด เปิดเผยว่า อาร์เอสที โรโบติกส์ เป็นบริษัทสตาร์ทอัพที่มุ่งเน้นการผลิตหุ่นยนต์แขนกลที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมเปิดดำเนินกิจการมาแล้ว 4 ปี ซึ่งถือได้ว่าเป็นบริษัทผลิตแขนกลหุ่นยนต์เพียง 1 ใน 3 รายของประเทศ โดยบริษัทฯได้ต่อยอดธุรกิจมาจากอุตสาหกรรมครอบครัวที่ทำในเรื่องเครื่องจักรการเกษตรมานาน จึงมุ่งเน้นผลิตหุ่นยนต์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรเป็นหลัก

อย่างไรก็ตาม บริษัทได้ร่วมมือกับนักออกแบบโปรแกรม และ System Integrator (SI) ที่เชี่ยวชาญในหุ่นยนต์อุตสาหกรรมด้านอื่นๆเข้ามาร่วมพัฒนาหุ่นยนต์ เพื่อขยายไปผลิตหุ่นยนต์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ คาดว่าจะใช้เวลาในการพัฒนาไม่เกิน 3 ปี

ทั้งนี้ อาร์เอสที โรโบติกส์ เป็นบริษัทที่ออกแบบและสร้างหุ่นยนต์ของตัวเอง โดยใช้อุปกรณ์หลักจากประเทศญี่ปุ่น และไต้หวัน แต่มีราคาต่ำกว่าหุ่นยนต์จากญี่ปุ่น 20 - 30% ใกล้เคียงกับจีน แต่ความคงทนเหมือนของญี่ปุ่น จึงเป็นจุดแข็งที่สู้กับหุ่นยนต์นำเข้าได้ ประกอบกับการที่มีโรงงานผลิตและวิศวกรออกแบบผลิตที่เป็นคนไทย ทำให้สามารถเข้าไปให้บริการหลังการขายได้ดีกว่า

159846346623

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้ตั้งเป้าที่จะส่งออกภายใน 5 ปี โดยได้มองไปยังตลาดประเทศเวียดนาม และอินโดนีเซียเป็นหลัก เนื่องจากเวียดนามมีภาคอุตสาหกรรมที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว และมีจำนวนมาก ส่วนอินโดนีเซียก็มีโรงงานแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรจำนวนมาก ซึ่งตรงกับความเชี่ยวชาญของบริษัท และหุ่นยนต์ที่เหมาะกับอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรในภูมิภาคอาเซียนยังมีน้อย จึงเป็นโอกาสที่ดีในการเจาะตลาดนี้

สำหรับยอดขายของบริษัทฯตั้งแต่แต่เริ่มผลิตหุ่นยนต์รวม 4 ปี มียอดคำสั่งซื้อไปแล้วกว่า 30 ตัว มีอัตราการเติบโตประมาณ 50% ทุกปี โดยในปี 2563 คาดว่าจะมีรายได้ประมาณ 30 ล้านบาท และในปี 2564 จะเติบโตได้ไม่ต่ำกว่า 50%

“ปัญหาหลักของผู้ผลิตหุ่นยนต์ของไทย ก็คือการประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการได้รับรู้ว่ามีมีบริษัทคนไทยที่ผลิตหุ่นยนต์อุตสาหกรรมได้ดี และมีคุณภาพไม่แพ้ต่างชาติ”

ดังนั้นจึงอยากให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเผยแพร่สนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยใช้หุ่นยนต์ของคนไทยมากขึ้น รวมถึงการเข้าไปสนับสนุนด้านเงินทุนและเทคโนโลยีให้กับซัพพลาย

เออร์ชิ้นส่วนหุ่นยนต์ทั้งระบบ เพื่อเพิ่มสัดส่วนการใช้ชิ้นส่วนหุ่นยนต์ภายในประเทศมากขึ้น

สมนึก เหรียญรักวงศ์ ผู้จัดการโรงงาน ป.อุบล กล่าวว่า บริษัทเป็นผู้ผลิตหมูยอรายใหญ่ของจ.อุบลราชธานี ขณะนี้ได้เตรียมขยายโรงงาน และลงทุนนำหุ่นยนต์เข้ามาใช้ในโรงงานมีมูลค่าหลายล้านบาท โดยเฉพาะในส่วนที่อันตราย หรือมีความร้อนสูง เพื่อเพิ่มความรวดเร็วและความปลอดภัยในการทำงาน ซึ่งจะช่วยเพิ่มกำลังการผลิตได้กว่า 1 เท่าตัว โดยที่ไม่ต้องเพิ่มคนงาน เพื่อรองรับการส่งออกในอนาคต

ในขณะนี้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้หันเข้ามาใช้หุ่นยนต์และเครื่องจักรอัตโนมัติกันมากขึ้น เพราะมีราคาถูกลง รวมทั้งยังเป็นการยกระดับการผลิตโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปที่ต้องมีมาตรฐานความปลอดภัยขั้นสูง ซึ่งการลงทุนในครั้งนี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และความปลอดภัยทำให้ลูกค้ามีความเชื่อมั่นมากขึ้น”