สธ.ดัน “น้ำมันกัญชาสูตรเดชา”เข้าบัญชียาหลักแห่งชาติ

สธ.ดัน “น้ำมันกัญชาสูตรเดชา”เข้าบัญชียาหลักแห่งชาติ

1 ปีนโยบายกัญชาทางการแพทย์ กรมแพทย์แผนไทยฯเตรียมเสนอ “น้ำมันกัญชาเดชา”เข้าบัญชียาหลักแห่งชาติ หลังผลศึกษาในผู้ป่วยกว่า 1.8 หมื่นคน ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิต กินได้-นอนหลับ เน้นใช้ในผู้ป่วยประคับประคองอาการ พร้อมสร้าง “แพลตฟอร์มกัญชา”ออนไลน์ข้อมูล-ความรู้

      เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2563 ที่กระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมว.สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานแถลงข่าวการจัดงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ และการประชุมวิชาการประจำปีการแพทย์แผนไทย การแพทย์ทางเลือก และการแพทย์ทางเลือกแห่งชาติ ครั้งที่ 17 ว่า ทราบว่าขณะนี้กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เตรียมที่จะนำเสนอเพื่อผลักดันให้น้ำมันกัญชาสูตรอาจารย์เดชา เข้าบรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติ หลังจากที่ผลการศึกษาในผู้ใช้มีจำนวนมากเพียงพอและได้ผลเป็นที่น่าพอใจในการเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย

     ในส่วนของการอนุญาตให้ปลูก ขณะนี้ร่างพรบ.ยาเสพติดให้โทษ ฉบับแก้ไข ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี(ครม.)แล้วอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาก่อนนำเข้าสู่รัฐสภา ซึ่งจะเป็นการใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ หากพรบ.ฉบับนี้ผ่านและมีผลบังคับใช้ ก็จะช่วยให้คนเลิกถามถึงนโยบายปลูกกัญชา 6 ต้น เพราะจะปลูกจำนวนกี่ต้นก็ได้ หากปลูกแล้วมีความชัดเจนว่าจะนำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ โดยมีแพทย์ แพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ หรือหมอพื้นบ้านที่ขึ้นทะเบียนออกใบรับรองความจำเป็นต้องใช้ในผู้ป่วย รวมถึง กรณีการปลูกของเกษตรกรที่มีการลงนามความร่วมมือชัดเจนที่จะผลิตและสกัดสารสำคัญนำไปใช้ประโยชน์

นพ.ปราโมทย์ เสถียรรัตน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ในส่วนของน้ำมันกัญชาสูตรอาจารย์เดชานั้น จากผลการศึกษาวิจัยในผู้ป่วยที่ใช้ราว 1.8 หมื่นราย ซึ่งงานวิจัยดูในเรื่องของการเพิ่มคุณภาพชีวิต พบว่า ช่วยให้นอนหลับดี เจริญอาหาร และลดอาการปวดจากโรค และผลข้างเคียงที่รุนแรงไม่มี เกิดอาการเล็กน้อย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เป็นผื่นเล็กน้อยที่ไม่อันตราย ดังนั้น การเสนอเข้าสู่คณะกรรมการบัญชียาหลักแห่งชาติ จะเน้นการใช้ในผู้ป่วยประคับประคอง และใช้กรรมวิธีการผลิตตามแบบของอาจารย์เดชา ส่วนการเสนอตำรับยาไทยที่มีกัญชาเป็นส่วนผสมตัวอื่น เช่น ทำลายพระสุเมรุ สนั่นไตรภพ ศุขไสยาศน์นั้นยังมีข้อมูลการใช้ที่ยังไม่มากพอในการที่จะใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณานำเข้าบัญชียาหลักแห่งชาติ

ภญ.ผกากรอง ขวัญข้าว หัวหน้าศูนย์หลักฐานเชิงประจักษ์ด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวว่า โมเดลการให้บริการรักษาด้วยคลินิกกัญชาของ รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร มีทั้งการใช้แบบแผนปัจจุบันเป็นสารสกัด และตำรับยาไทย โดยในส่วนของแผนปัจจุบัน ยาที่จะจ่ายจะเป็นเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วยมะเร็งระยะท้าย บรรเทาอาการปวดในผู้ป่วยปวดระบบประสาทที่ไม่ตอบสนองต่อยาแผนปัจจุบัน

จากที่เปิดให้บริการมา 12 เดือน มีผู้ป่วยที่ได้รับการจ่ายยา 133 ราย จำนวน 425 ขวด ซึ่งผลพบว่ามีแนวโน้มเพิ่มคุณภาพชีวิตในผู้ป่วยมะเร็งและผู้ป่วยปวดระบบประสาท มีผลลดความปวดในผู้ป่วยปวดประสาท ขณะที่ในผู้ป่วยมะเร็งช่วยลดปวด ช่วยเจริญอาหาร ช่วยนอนหลับ และช่วยให้สุขสบายขึ้น ผลข้างเคียงที่พบมีเพียงเล็กน้อย ได้แก่ ปากแห้ง คอแห้ง วิงเวียนศีรษะ ไม่มีผลต่อค่าตับ ค่าไต ความดันหรือสัญญาณชีพจึงค่อนข้างปลอดภัยกรณีไม่ใช่ผู้ป่วยโรคไต หรือโรคตับ

สำหรับการใช้ในแผนไทยมีการใช้ 2 ตัว คือ ตำรับยาศุขไสยาศน์มีผู้ป่วย 56 ราย พบว่า ช่วยนอนหลับ เจริญอาหาร เพิ่มคุณภาพชีวิต โดย 82.2% หลับได้ดีขึ้นหลังใช้ตำรับยานี้ ทั้งหลับเร็ว หลับลึก และกระชุ่มกระชวยมากขึ้นหลังตื่นนอน ผลข้างเคียงที่พบมีเพียงร้อนปาก คอ และตำรับทำลายพระสุเมรุที่ใช้ในการลดปวดและชา ยังมีผู้ป่วยที่ได้รับยานี้น้อยเพียง 6 ราย แต่ทุกรายลดปวดทั้งหมดแต่ไม่ลดชา ทั้งนี้ รพ.มีแนวทางการพัฒนายากัญชาแผนไทยในอนาคต ในโรคทางผิวหนัง เช่น สะเก็ดเงิน และเรื้อนกวาง เพราะผู้ป่วยโรคนี้ค่อนข้างมีทางเลือกยาน้อย และยาแผนปัจจุบันที่ตอบสนองต่อโรคในการบล็อคเซลล์ยังมีราคาที่แพงมาก 1 คอร์ส ราว 8 หมื่นบาท

พญ.โศรยา ธรรมรักษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวว่า ขณะนี้ข้อจำกัดในเรื่องกัญชาอยู่ตรงที่แต่ละหน่วยงานมีข้อมูลของตัวเอง จึงมีการเสนอให้มีการจัดทำแพลตฟอร์มกัญชาออนไลน์ระดับประเทศ ที่เป็นแหล่งรวมข้อมูลกัญชาของแต่ละหน่วยงานมาไว้ที่เดียวกัน โดยมีระบบของแอดมินในการอนุญาตเข้าถึงข้อมูลของแต่ละบุคคล เหมือนการออกวีซ่า อย่างเช่น เกษตรกรอาจจะได้รับอนุญาตให้เข้าไปดูข้อมูลในแพลตฟอร์มเกี่ยวกับการปลูก การจำหน่าย หรืออื่นที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น ทำให้สามารถค้นหาข้อมูลที่ต้องการได้จากระบบออนไลน์ ลดการเดินทางเข้าไปติดต่อยังหน่วยงานต่างๆ ซึ่งใช้เวลามาก

อนึ่ง มหกรรมสมุนไพรแห่งชาติฯจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-6 กันยายน 2563 ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี อาคาร 10-12 ภายในงานจะแบ่งเป็น 4 โซน คือ โซนวิชาการ โซนภูมิปัญญา โซนบริการ และโซนผลิตภัณฑ์ อีกทั้ง มีบริการตรวจสุขภาพฟรี มีบริการคลินิกกัญชา รวมถึง การแจกสมุนไพรวันละ 300 ต้นสามารถรับหน้างานหรือลงทะเบียนออนไลน์