รฟม.เปิดเวทีเช็คเสียงภาคธุรกิจ ลุยแทรมโคราช

รฟม.เปิดเวทีเช็คเสียงภาคธุรกิจ ลุยแทรมโคราช

รฟม.เปิดเวทีรับฟังความเห็นภาคธุรกิจ เช็คความสนใจร่วมทุนระบบขนส่งมวลชนจังหวัดนครราชสีมา ประเดิมสายสีเขียว ช่วงตลาดเซฟวัน – สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์ คาดลุยก่อสร้างปี 2565   

นายสาโรจน์ ต.สุวรรณ ผู้ช่วยผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า วันนี้ (26 ส.ค.) รฟม. และ นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ร่วมเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 (สรุปผลการศึกษาของโครงการ) งานศึกษารายละเอียดความเหมาะสม ออกแบบ และจัดเตรียมเอกสารประกวดราคา โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดนครราชสีมา สายสีเขียว (ตลาดเซฟวัน - สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์)

โดยภายในงานมีผู้นำชุมชนและประชาชนในพื้นที่ ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรอิสระ สถาบันการศึกษา และผู้สนใจ รวมถึงสื่อมวลชน เข้าร่วมการประชุมกว่า 250 คน โดยการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในครั้งนี้ เป็นการนำเสนอผลการศึกษาแนวเส้นทาง สถานี รูปแบบโครงการ และผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมาตรการป้องกัน แก้ไข และลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการดำเนินงานด้านการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการ

159843046277

สำหรับโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดนครราชสีมา สายสีเขียว (ตลาดเซฟวัน - สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์) ได้รับการออกแบบให้เป็นระบบรถรางไฟฟ้า (Tram) ซึ่งมีลักษณะเป็นระบบรถไฟฟ้าที่วิ่งไปตามทางวิ่ง หรือ รางบนถนน รูปแบบคล้ายกับรถไฟฟ้า MRT ที่ใช้ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล แต่มีขนาดเล็กกว่า รวมระยะทางประมาณ 11.15 กิโลเมตร

มีสถานีรับ-ส่ง ผู้โดยสาร 21 สถานี ได้แก่ สถานีมิตรภาพ 1 สถานีสามแยกปักธงชัย สถานีมิตรภาพ 2 สถานีองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ สถานีสวนภูมิรักษ์ สถานีหัวรถไฟ สถานีเทศบาลนคร สถานีศาลเจ้าวัดแจ้ง สถานีโพธิ์กลาง สถานีอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี สถานีแยกประปา สถานีโรงเรียนสุรนารีวิทยา สถานีราชภัฏฯ สถานีราชมงคล สถานีบ้านเมตตา สถานีบ้านนารีสวัสดิ์ สถานีชุมพล สถานีศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา สถานีไปรษณีย์จอมสุรางค์ สถานีวัดแจ้งใน และสถานีดับเพลิง

ในด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นกรณีมีการพัฒนาโครงการ ได้แก่ ผลกระทบด้านคุณภาพอากาศ เสียง และความสั่นสะเทือน จากกิจกรรมในระยะก่อสร้างของโครงการ รวมทั้งปัญหาด้านการจราจรที่มี การรบกวนผิวจราจรปัจจุบัน ซึ่งโครงการได้มีการพิจารณาและให้ความสำคัญเป็นพิเศษ โดยจัดให้มีมาตรการป้องกันและบรรเทาผลกระทบอย่างเต็มที่ อาทิ ฉีดพรมน้ำในบริเวณที่อาจเกิดฝุ่นละอองฟุ้งกระจาย กำหนดช่วงเวลาที่อนุญาตให้มีกิจกรรมก่อสร้างที่ก่อให้เกิดเสียงดังผิดปกติ เฉพาะช่วงเวลา 08.00 – 17.00 น.

อย่างไรก็ดี รฟม. ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ให้เป็นผู้ดำเนินโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดนครราชสีมา ในรูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) โดยให้ดำเนินการก่อสร้าง ครั้งละ 1 เส้นทาง เริ่มจาก สายสีเขียว (ตลาดเซฟวัน – สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์) เป็นลำดับแรก

ซึ่งหลังจากการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 (สรุปผลการศึกษาของโครงการ) นี้ รฟม. ได้ดำเนินการจัดการประชุมเพื่อทดสอบความสนใจของภาคเอกชน และ/หรือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (Market Sounding) ครั้งที่ 1 อย่างต่อเนื่องทันทีในวันเดียวกัน และเตรียมจัดครั้งที่ 2 ในวันจันทร์ที่ 31 สิงหาคม 2563 เพื่อทดสอบความสนใจจากภาคเอกชน นักลงทุน ตัวแทนผู้ผลิต/จำหน่ายรถไฟฟ้า และงานระบบที่เกี่ยวข้อง

สำหรับโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดนครราชสีมา สายสีเขียว (ตลาดเซฟวัน – สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์) นับเป็นโครงการรถไฟฟ้าสายแรกของจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งจะใช้เวลาในการก่อสร้างประมาณ 4 ปี โดยคาดว่าจะเริ่มงานก่อสร้างได้ในปี 2565 และสามารถเปิดให้บริการในปี 2568

ทั้งนี้ เมื่อโครงการแล้วเสร็จสมบูรณ์จะช่วยเพิ่มทางเลือกในการเดินทางที่มีประสิทธิภาพและมาตรฐาน รวมถึงมีความสะดวก รวดเร็ว และความปลอดภัย ให้แก่ประชาชนและนักท่องเที่ยวในจังหวัดนครราชสีมา ทั้งยังสามารถลดการใช้รถยนต์โดยรวมบนท้องถนน จึงช่วยลดปริมาณมลพิษในอากาศที่เกิดจากการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงของรถยนต์ ได้อีกด้วย