‘นฤมล’ ถกทีมงานวิชาการ เดินหน้ายกระดับฝีมือแรงงานไทย รับ S-Curve New S-curve

"นฤมล" นัดประชุมคณะทำงานด้านวิชาการ เพื่อหารือขับเคลื่อนการพัฒนาทักษะฝีมือให้แก่แรงงานทุกกลุ่มเป้าหมาย ป้อนตลาดแรงงานในประเทศและต่างประเทศ รองรับอุตสาหกรรม S-Curve และNew S-curve ฝ่าวิกฤติโควิด–19 ย้ำแรงงานไทยต้องมีอาชีพ มีรายได้ที่ยั่งยืน

วันที่ 26 สิงหาคม 2563 เวลา 11.00 น. ศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมร่วมกับคณะทำงานด้านวิชาการ ห้องประชุมแสงสิงแก้ว ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน  โดยมี ดร.ภาคิน สมมิตรธนกุล ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และทีมงานที่เกี่ยวข้องจากกรมพัฒนาฝีมือ "แรงงาน" (กพร.) ร่วมประชุมและให้ข้อมูลภารกิจของกพร. เพื่อหารือการขับเคลื่อนการพัฒนาทักษะฝีมือให้แก่แรงงานทุกกลุ่มเป้าหมาย ป้อนตลาดแรงงานในประเทศและต่างประเทศ รองรับอุตสาหกรรม S-Curve New S-curve ประกอบด้วย การพัฒนาทักษะให้แก่แรงงานในระบบและแรงงานนอกระบบ โดยกลุ่มแรงงานในระบบ จะให้ความสำคัญกับการ Up skill ให้แก่แรงงาน ด้วยการยกระดับทักษะฝีมือรองรับเทคโนโลยี 4.0 สำหรับแรงงานที่ขาดทักษะ ที่เสี่ยงต่อการถูกเลิกจ้างจะเร่งให้มี Re-Skill ให้มีทักษะตรงกับความต้องการ หรือสามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานในภาคอุตสาหกรรมอื่นได้

ด้านการพัฒนาทักษะให้กับแรงงานนอกระบบนั้น ประกอบด้วย กลุ่มผู้สูงอายุ ผู้พิการ ทหารก่อนปลดประจำการ รวมถึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะกลุ่มสตรี  นอกจากนี้ยังเน้นย้ำการพัฒนาทักษะให้แก่บัณฑิตจบใหม่ มีทักษะ ความรู้ ความสามารถเพื่อเข้าสู่การจ้างงาน ลดปัญหาอัตราการว่างงานด้วย โดยแต่ละกลุ่มมอบหมายให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ปรับหลักสูตรให้สอดคล้องกลุ่มเป้าหมายและความต้องการของตลาด อาทิ การพัฒนาทักษะให้กับผู้สูงอายุ ให้มีความรู้ด้าน IT สามารถประกอบอาชีพการเป็นแคชเชียร์ได้ หรือทักษะที่สามารถรวมกลุ่มเพื่อประกอบอาชีพ เช่น งานศิลปหัตถกรรม การแปรรูปผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างมูลค่าสินค้า รวมถึงการฝึกหลักสูตร การดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งตลาดแรงงานมีความต้องการสูงมากทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้งอัตราค่าจ้างค่อนข้างสูง ซึ่งทักษะขั้นพื้นฐานที่แรงงานต้องมีคือ ดิจิทัลและภาษา

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) ได้เสนอโครงการเพื่อยกระดับทักษะแรงงาน  การส่งเสริมด้านมาตรฐานฝีมือแรงงานเพื่อให้แรงงานได้รับอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ และการฝึกทักษะให้แก่แรงงานนอกระบบ นอกเหนือจาการฝึกอบรมแล้ว กพร.ยังมีการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานภายใต้ พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 เพื่อให้การส่งเสริมและสนับสนุนสถานประกอบที่ปฏิบัติภายใต้ พ.ร.บ. ได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ ทั้งเงินช่วยเหลือหรืออุดหนุนในแต่ละกรณี รวมถึงการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลด้วย ซึ่งภารกิจเหล่านี้ต้องมีการขับเคลื่อนและดำเนินการอย่างเข้มข้น

สำหรับคณะทำงานด้านวิชาการที่เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ ประกอบด้วย หม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ อดีตปลัดกระทรวงแรงงาน สามารถให้คำแนะนำการเชื่อมโยงภารกิจภาพรวมของกระทรวงแรงงาน และเคยเป็นอดีตอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จึงสามารถให้คำแนะนำการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานในเชิงลึก  ท่านที่สองที่ คือ รองศาสตราจารย์ ดร.บุษกร วัชรศรีโรจน์ เป็นอาจารย์ประจำคณะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สถาบันพัฒนาบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ มีความเชี่ยวชาญในด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สามารถให้คำแนะนำการพัฒนาทักษะแก่แรงงาน สอดรับกับความต้องการของตลาดแรงงาน นำเสนอโครงการพิเศษที่โดดเด่นต่อการขับเคลื่อนการพัฒนาทักษะแรงงานที่ส่งผลให้เกิดผลงานอย่างเป็นรูปธรรม ท่านที่สาม คือ รองศาสตราจารย์ ดร.สมชาย นำประเสริฐชัย ผู้อำนวยการสำนักบริการคอมพิวเตอร์/อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้คำแนะนำการวางระบบฐานข้อมูลด้านแรงงาน และท่านที่สี่ คือ คุณพิรัส ศิริขวัญชัย จากภาคเอกชน สามารถวางกลยุทธ์ การพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานที่สอดรับกับความต้องการภาคเอกชน

“ดังนั้น การขับเคลื่อนการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน ต้องเริ่มต้นด้วยยกระดับฝีมือแรงงาน สร้างแรงงานที่มีคุณภาพ เพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจ และให้แรงงานที่ขาดโอกาส สามารถเข้าถึงบริการของภาครัฐ โดยเฉพาะการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน ที่ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย เพื่อตอบสนองความต้องการแรงงาน  ซึ่งจะเป็นหนึ่งในกลไกของการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศให้ดีขึ้นต่อไปในอนาคต” นฤมล กล่าว