'น้ำท่วมบ้าน' ต้องทำ 'ประกันภัย' แบบไหน ถึงได้ความคุ้มครอง

'น้ำท่วมบ้าน' ต้องทำ 'ประกันภัย' แบบไหน ถึงได้ความคุ้มครอง

ความจำเป็นของการทำประกันภัย "บ้าน" หรือ "ที่อยู่อาศัย" เพื่อเตรียมรองรับภัยที่มาเยือนได้ทุกเมื่ออย่าง "น้ำท่วม" หรือ "ภัยธรรมชาติ" ที่คาดไม่ถึง

"น้ำท่วม" หรือ "อุทกภัย" ภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นในประเทศไทยบ่อยครั้ง โดยเฉพาะช่วงฤดูฝน หรือมีพายุตามฤดูกาลเข้ามาเยี่ยมเยือน สิ่งที่มักจะตามมาอย่างปฏิเสธไม่ได้คือ "ความเสียหาย" ทั้งในมิติของชีวิต และทรัพย์สิน

การเตรียมความพร้อมเพื่อรับสถานการณ์เหล่านี้ จึงเป็นเกราะป้องกันที่ช่วยลดแรงกระแทกของผลกระทบที่จะเกิดขึ้นเมื่อ "ภัยธรรมชาติ" เกิดขึ้น โดยเฉพาะทรัพย์สินขนาดใหญ่ อย่าง "บ้าน" หรือ "ที่อยู่อาศัย" ซึ่งต้องเผชิญกับน้ำท่วมแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้ "กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" จึงจะพาไปทำความรู้จักกับ "ประกันภัยสำหรับที่อยู่อาศัย" ตัวช่วยรับมือเมื่อน้ำท่วมบ้านที่ช่วยให้เจ็บตัวน้อยที่สุด

159843441999

  •  ทำประกันภัยอย่างไร ให้ครอบคลุม "น้ำท่วมบ้าน" 

การทำประกันภัยสำหรับที่อยู่อาศัยหลักๆ ที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองเมื่อได้รับผลกระทบจาก "น้ำท่วม" แบ่งออกได้เป็น 2 รูปแบบ ได้แก่ ประกันอัคคีภัย และประกันภัยพิบัติ 

"ประกันอัคคีภัย" เป็นการทำประกันภัยสำหรับที่อยู่อาศัยที่กฎหมายบังคับให้ผู้ครอบครองกรรมสิทธิ์ทำเพื่อป้องกันภัยจากไฟเป็นหลัก โดยประเภทนี้จะให้ความคุ้มครองในระยะสั้น เช่น 1 ปี หรือ 2 – 3 ปี ค่าเบี้ยประกันจะขึ้นอยู่กับแต่ละบริษัทและลักษณะของอาคาร โดยจะให้ความคุ้มครองภัย 6 อย่าง ได้แก่ ไฟไหม้ ฟ้าผ่า ระเบิด ภัยจากยานพาหนะ ภัยจากอากาศยาน และภัยเนื่องจากน้ำ

แต่เงื่อนไขของ "ภัยเนื่องจากน้ำ" ณ ทีน้ี ครอบคลุมแค่กรณีภัยหรือความเสียหายที่เกิดขึ้นโดยอุบัติเหตุจากน้ำเท่านั้น เช่น น้ำรั่ว น้ำไหลล้นจากท่อน้ำ ถังน้ำ รวมถึงน้ำฝนที่ผ่านเข้าทางท่ออากาศที่ชำรุด โดยไม่รวมถึง "ภัยน้ำท่วม" ที่เป็นภัยธรรมชาติ และท่อประปาที่แตกจากนอกอาคาร ดังนั้น การทำประกันอัคคีภัยจึงไม่เพียงพอสำหรับการป้องกันความเสียหาย เมื่อเกิดเหตุการณ์ "น้ำท่วม"

"น้ำท่วม" ในกรมธรรม์ประกันภัย หมายถึง น้ำซึ่งไหลล้นหรือไหลออกจากทางน้ำปกติซึ่งจะเป็นทางน้ำธรรมชาติ หรือจะเป็นทางน้ำที่สร้างขึ้น (ไม่รวมถึงรางน้ำบนหลังคา) หรือเกิดจากท่อน้ำสาธารณะแตก ทำให้เกิดการท่วมของน้ำจากภายนอกของอาคารที่เอาประกันภัยไว้ หรืออาคารที่เก็บทรัพย์สินที่เอาประกันภัยตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ รวมถึงน้ำท่วมอันเกิดจากลมพายุ น้ำป่า และโคลนถล่ม

สำหรับผู้ที่ต้องการความคุ้มครองที่ครอบคลุมไปถึงกรณีน้ำท่วมบ้านที่เป็นภัยธรรมชาติ รวมถึงภัยจากน้ำที่เกิดขึ้นภายนอกตัวบ้าน สามารถซื้อความคุ้มครองเพิ่มเติมสำหรับคุ้มครองกรณี "น้ำท่วม" ดังนั้น การทำประกันภัยที่อยู่อาศัยจะครอบคลุมน้ำท่วมได้ก็ต่อเมื่อเงื่อนไขของประกันภัยแพ็คเกจนั้นๆ ระบุว่าคุ้มครอง "ภัยน้ำท่วม" ด้วยเท่านั้น ดัตัวอย่าง เงื่อนไขความคุ้มครองมาตรฐานของประกันภัยรักษ์บ้าน สำหรับที่อยู่อาศัย กรุงเทพประกันภัย ดังภาพต่อไปนี้

159842489120

ส่วน "ประกันภัยพิบัติ" ประกันที่คุ้มครองความเสียหายหรือสูญเสียของตัวบ้านหรือทรัพย์สินที่เกิดจากเหตุธรรมชาติ ได้แก่ น้ำท่วม แผ่นดินไหว ลมพายุ หรือเหตุการณ์ภัยพิบัติอื่นๆ ที่คณะรัฐมนตรีประกาศว่าเป็นสถานการณ์ภัยพิบัติรุนแรง

ความคุ้มครองของประกันภัยบ้านประเภทนี้ จะเป็นแบบจำกัดความรับผิด (Sub limit) หมายความว่า ไม่สามารถซื้อความคุ้มครองได้เต็มมูลค่าของบ้าน  โดยอัตราเบี้ยประกันภัยไม่เกิน 0.5% ของความคุ้มครองต่อปี ทั้งนี้ หากต้องการความคุ้มครองมากกว่า 100,000 บาท ค่าเบี้ยประกันอาจสูงกว่า 0.5% ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละบริษัท  ซึ่ง ประกันภัยพิบัติ จะเป็นประกันที่ตรงจุดสำหรับผู้ที่ต้องการความคุ้มครองจาก "ภัยน้ำท่วม" โดยเฉพาะ

  •  ประกันที่อยู่อาศัย เพิ่มเติมกรณีน้ำท่วม คุ้มครองทรัพย์สินใดบ้าง 

ประกันภัยที่อยู่อาศัย แต่ละแพ็คเกจมีความคุ้มครองสิ่งปลูกสร้างที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ รวมถึงจำนวนเบี้ยประกันที่ต่างกันออกไป โดยส่วนใหญ่จะคุ้มครอง 2 ส่วนหลัก คือ "สิ่งปลูกสร้าง" ได้แก่ บ้าน ทาวน์เฮาส์ บ้านแฝด ตึกแถวสำหรับอยู่อาศัย โรงรถ และอาคารย่อย เช่น เรือนคนใช้ รวมถึงกำแพง รั้ว ประตู และส่วนปรับปรุงต่อเติม ห้องชุดสำหรับอยู่อาศัยในแฟลต อาคารชุด คอนโดมิเนียม

บางแพ็คเกจประกันภัยจะครอบคลุมถึง "ของในบ้าน" เช่น เฟอร์นิเจอร์ เครื่องตกแต่ง เครื่องมือ เครื่องใช้ภายในบ้าน เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในบ้าน เครื่องดนตรี เครื่องเสียง เครื่องครัว เครื่องนุ่งห่ม และทรัพย์สินเพื่อการอยู่อาศัยอื่นๆ ฯลฯ 

159843469171

อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่ต้องการความคุ้มครองไปถึงเฟอร์นิเจอร์ หรือสิ่งของที่อยู่ภายในบ้านด้วย จะต้องตรวจสอบ "เงื่อนไข" ของประกันให้ตรงตามความต้องการ ซึ่งอาจมีเบี้ยประกันเพิ่มมากขึ้น หรือมีเงื่อนไขบางอย่างต่างออกไปจากประกันภัยแบบปกติ ดังนั้น ก่อนทำประกันภัยจึงจำเป็นต้องตรวจสอบเงื่อนไข ให้ตรงกับจุดประสงค์ด้วย เนื่องจากสินทรัพย์ที่ได้รับความคุ้มครองขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของประกันภัยแต่ละแพ็คเกจและแต่ละบริษัท

หรือในกรณีที่ต้องการประกันความเสียหายกรณีน้ำท่วมหรือภัยพิบัติต่างๆ สำหรับ "ทรัพย์สินมีค่า" ที่มีมูลค่าสูง อาจเลือกวิธีการทำ "ประกันภัย" ทรัพย์สินแต่แยกต่างหาก เช่น กล้อง คอมพิวเตอร์ เครื่องเสียง กระเป๋าแบรนด์เนม ฯลฯ ซึ่งการทำประกันโดยเฉพาะเจาะจงสินทรัพย์จะคุ้มครองได้ครอบคลุมลักษณะอาการมากกว่า และตรงจุดมากกว่า

  •  เลือกประกันภัยที่อยู่อาศัยให้คุ้มค่า 

การเลือกประกันภัยที่อยู่อาศัยให้คุ้มค่านั้น จะต้องพิจารณาหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง เช่น บริเวณที่ตั้งของทรัพย์สิน ที่มีความเสี่ยงภัยที่แตกต่างกัน ลักษณะที่อยู่อาศัย รวมไปถึงกำลังทรัพย์ในการส่งเบี้ยประกันที่สอดคล้องกับตัวเอง ซึ่งปัจจุบันสามารถเปรียบเทียบ "ประกันภัยบ้าน" ทั้งแง่ความคุ้มครอง ราคาเบี้ย และเงื่อนไขอื่นๆ จากบริษัทประกันหลายแห่งมาประกอบการพิจารณา เพื่อให้ได้ประกันภัยบ้านที่คุ้มค่าที่สุด หรืออาจใช้ตัวช่วยเปรียบเทียบผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ได้ อาทิ www.frank.co.th

  •  ข้อควรรู้ก่อนซื้อประกันสำหรับที่อยู่อาศัย 

ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ได้ให้คำแนะนำในการซื้อประกันภัยบ้าน สำหรับผู้ที่ต้องการความคุ้มครองในสถานการณ์ต่างๆ ดังนี้

- การทำประกันภัยบ้าน หากเลือกความคุ้มครองหรือเงินชดเชยได้ ควรเลือกอย่างต่ำ 70% ของมูลค่าสินทรัพย์ เพื่อให้ครอบคลุมค่าเสียหายส่วนใหญ่ได้ เช่น ประทำประกันอัคคีภัย

- เบี้ยประกันต่อปีจะถูกลงตามระยะเวลาเอาประกันที่ทำนานขึ้น

- เมื่อได้รับเงินชดเชยจากความสูญเสียแรกแล้ว หากเกิดเหตุในระยะเวลาเอาประกันอีกครั้ง จะได้รับเงินชดเชยจากการประเมินความสูญเสียในจำนวนเงินเอาประกันที่เหลืออยู่

- หากทำประกันมากกว่าหนึ่งประกัน เมื่อเกิดความสูญเสียประกันแต่ละบริษัท/แต่ละประกัน จะหารความรับผิด (ผู้เอาประกันจะไม่ได้เงินประกันเกินกว่าที่ประเมินความเสียหาย)

ที่มา: คปภ. home.co.th กรุงเทพประกันภัย ธนาคารอาคารสงเคราะห์