ปัญหาการ 'ทรมานสัตว์' : ความลิงไม่ทันจาง ความช้างก็เข้ามาแทรก

ปัญหาการ 'ทรมานสัตว์' : ความลิงไม่ทันจาง ความช้างก็เข้ามาแทรก

เรื่องลิงเก็บมะพร้าว ยังไม่ทันจบ ก็มีเรื่องช้าง ซึ่งองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกเปิดเผยหลักฐานคลิปทรมานช้าง อีกเรื่องที่ต้องตั้งคำถามว่า แค่ไหน ถึงเรียกว่า "ทรมานสัตว์"

ประเทศไทยโดนกล่าวหาเรื่องสัตว์ติดต่อกันมาพักใหญ่เริ่มจากประเด็นค้าสัตว์ป่า การต่อต้านการเลี้ยงสัตว์แบบทรมานในระบบฟาร์มขนาดใหญ่ เช่น ฟาร์มไก่ ฟาร์มหมู ฟาร์มวัว

เร็วๆ นี้ก็เรื่องลิงเก็บมะพร้าว ยังไม่ทันจบก็มีเรื่องช้าง ซึ่งองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกเปิดเผยหลักฐานคลิปทรมานช้างให้ดู ความลิงไม่ทันจาง ความช้างก็เข้ามาแทรกจริงๆ

มนุษย์ฝึกบังคับสัตว์เพื่อใช้งานด้วยการทำให้เชื่อง เข้าใจคำสั่งด้วยวิธีการแบบ “ให้รางวัลและลงโทษ” สัตว์ใช้งานแทนแรงคน เช่นวัวควายไถนา ม้าลาบรรทุกของหรือเป็นพาหนะเดินทางเป็นสัตว์เลี้ยงมานานจึงไม่ดุร้ายไม่ต้องฝึกด้วยวิธีรุนแรงก็นำมาใช้งานได้ แต่ที่ทรมานระดับทารุณกรรมมากคือการฝึกสัตว์ที่ดุร้าย เช่นฝึกเสือ สิงโต หรือสัตว์ใหญ่เช่น ช้าง ปลาโลมา เพื่อแสดงโชว์ของคณะละครสัตว์ที่ต้องฝึกหนักมากกว่าสัตว์จะเชื่องและปฏิบัติตามคำสั่งได้

การทรมานสัตว์อย่างโหดร้ายที่สุดก็คือ การจัดแข่งขันต่อสู้ของสัตว์ ซึ่งมีตั้งแต่สัตว์ขนาดเล็ก เช่น การกัดแมงกว่าง กัดปลา ชนไก่ กัดสุนัข จนถึงสัตว์ขนาดใหญ่เช่นวัว จุดจบของการต่อสู้คือยอมแพ้หรือตาย บางแห่งเจตนาให้ตายจึงผูกอาวุธ เช่นผูกใบมีดไว้กับขาไก่ ไก่ก็จะต่อสู้ตีกันจนตาย ปัจจุบันแม้มีกฎหมายห้ามและควบคุมแต่ยังมีการลักลอบจัดแข่ง

จริงแล้วความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสัตว์เลี้ยงในสังคมไทยตั้งแต่ในอดีต ถ้าดูการเลี้ยงวัวควายไว้ไถนาของชาวนา เลี้ยงลิงไว้เก็บมะพร้าวของชาวสวน เลี้ยงหมาไว้เฝ้าบ้าน เลี้ยงแมวไว้จับหนู หรือเลี้ยงนกกรงไว้ฟังเสียง ก็ต้องยอมรับว่าคนไทยรักสัตว์ ไม่นิยมฆ่าสัตว์เป็นเกมส์หรืออวดความเก่งกล้าในวัฒนธรรมของชนเผ่าบางแห่ง สังคมไทยจึงมองเรื่องการฝึกลิงการฝึกช้างเป็นเรื่องวิถีวัฒนธรรม ไม่ได้ทารุณกรรมสัตว์เว้นกรณีอุบัติเหตุหรือพลั้งเผลอจนเป็นข่าวเท่านั้น

แต่ที่ประเทศไทยถูกกล่าวหาอยู่เสมอคือเรื่องค้าสัตว์ป่า ทั้งค้าเอง เช่นนก นางอาย งู และเรื่องเป็นเส้นทางการค้าสัตว์ป่าและซากสัตว์ป่า โดยเฉพาะงาช้าง หรือหนังเสือ ไปยังประเทศเวียดนามและประเทศจีน และเมื่อถูกกล่าวหาว่าทารุณกรรมสัตว์ ทั้งลิงและช้างอีกด้วย ก็ยิ่งกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศมากขึ้น จนยังโยงไปถึงเรื่องการกีดกันทางการค้าและการท่องเที่ยวซึ่งมีมูลค่ามหาศาล จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ประเทศไทยต้องพิจารณาและทำความเข้าใจกับประชาคมโลก

กรณีลิงขึ้นมะพร้าวซึ่งประเทศไทยถูกกล่าวหาว่าฝึกใช้งานสัตว์อย่างทรมาน ถึงขั้นผู้นำประเทศอังกฤษทวิตภาพลิงขึ้นมะพร้าวในกรงขังแคบๆ รณรงค์ให้ถอดสินค้ากะทิสำเร็จรูปออกจากห้างสรรพสินค้า เรื่องนี้ในความเป็นจริงเจ้าของลิงขึ้นมะพร้าวจะเลี้ยงดูลิงอย่างดี เพราะค่าตัวลิงแพงมาก ตัวละสี่ห้าหมื่นบาท อีกทั้งการฝึกลิงปัจจุบันก็เปลี่ยนไปโดยไม่ใช้ความรุนแรงแล้ว โรงเรียนฝึกลิงที่สุราษฎร์ธานีก็เป็นตัวอย่างที่ดีให้เห็นได้ หน่วยงานรับผิดชอบควรจะเผยแพร่ความจริงให้รับรู้และเข้าใจได้ในระดับนานาชาติ ไม่ควรปล่อยให้เรื่องเงียบหายไปพร้อมกับความเข้าใจผิดอยู่

159833864384

ส่วนกรณีทารุณกรรมช้าง เป็นเรื่องใหญ่และส่งผลกระทบมาก เพราะเกี่ยวข้องกับช้างบ้านถึง 4000 เชือกซึ่งกระจายอยู่ใน 40 จังหวัด 117 อำเภอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ เช่นภูเก็ต เชียงใหม่ และสุรินทร์ จนถูกองค์กรต่างชาติบางแห่งต่อต้านไม่ให้มาท่องเที่ยวไทย บริษัทท่องเที่ยวในไทยส่วนใหญ่ได้ตัดรายการเที่ยวชมการแสดงช้างออกจากโปรแกรมทัวร์เป็นส่วนใหญ่แล้ว

ประเด็นการทารุณกรรมช้างในมุมมองขององค์กรอนุรักษ์ป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ มีหลายประเด็น เช่น การฝึกลูกช้างด้วยวิธีรุนแรง การล่ามโซ่ การบังคับช้างให้แสดงโชว์ รวมทั้งการขี่ช้างท่องเที่ยว ก่อนหน้านี้ประเทศไทยเองก็มีปัญหาช้างเร่ร่อน ควาญช้างที่ไม่มีงานก็มักนำช้างบ้านมาเดินขอรับบริจาคตามถนนและมักถูกรถยนต์ชนได้รับอุบัติเหตุบ่อยครั้ง

ปัญหานี้คลี่คลายไประดับหนึ่งด้วยโครงการนำช้างคืนถิ่น ตามพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ โดยองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย (อสส.) ซึ่งได้นำช้างและควาญไปอยู่ในคชอาณาจักรในพื้นที่อำเภอท่าตูม จ.สุรินทร์ แบ่งพื้นที่ให้รายละ 2 ไร่ ให้เงินตอบแทนประจำเดือนละ 10,800 บาท และจัดฝึกการแสดงช้างและให้นักท่องเที่ยวเข้าไปเยี่ยมชม

การฝึกช้างของ อสส. ฝึกเชิงบวกที่เรียกว่า target training คือไม่ลงโทษแต่ให้รางวัลเมื่อทำตามคำสั่งและใช้การบังคับด้วยเครื่องมืออุปกรณ์ตามวิถีวัฒนธรรมเมื่อจำเป็น เช่นควบคุมการตกมันหรือวางยาสลบเมื่อเจ็บป่วยต้องรักษา ซึ่งทั้งหมดเป็นไปตามข้อกำหนดตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ ซึ่งเป็นมาตรฐานสากล ที่องค์การ SEAZA (Southeast Asian Zoos and Aquariums Association) ยอมรับได้ ช้างที่อยู่ในความดูแลของ อสส.มีไม่มาก ที่อยู่ในสวนสัตว์เพียง 17 เชือก และในโครงการคชอาณาจักรอีก 189 เชือกก็พอดูแลได้ทั่วถึง

แต่ช้างบ้านอีกกว่า 3000 เชือกซึ่งกระจายอยู่ในพื้นที่ 40 จังหวัด 117 อำเภอ และตามแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ โดยเฉพาะที่จังหวัดสุรินทร์แห่งเดียวก็มีมากกว่า 400 เชือก อาจจะดูแลไม่ได้เป็นไปตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ ยังใช้วิธีฝึกและบังคับช้างแบบดั้งเดิมด้วยวิธีให้รางวัลและลงโทษ และลงโทษรุนแรง จนเป็นที่มาของคลิปทารุณกรรมช้างซึ่งประชาคมโลกรับไม่ได้ และเชื่อว่าหากยังฝืนทำอีกก็อาจจะไม่มีนักท่องเที่ยวมาชมการแสดงช้างอีกต่อไป

ยามการท่องเที่ยวบูมช้างและควาญช้างมีรายได้ดีจากการแสดง แต่ช่วงวิกฤติโรคระบาดโควิด-19 การท่องเที่ยวหยุดชะงัก ยังโดนกล่าวหาทารุณกรรมสัตว์อีก ทั้งช้างและควาญจึงตกงานและอดไปด้วยกัน แม้มีความพยายามช่วยเหลือในกลุ่มเจ้าของช้างรายใหญ่ด้วยกัน แต่การอยู่รอดในระยะยาวก็ยังไม่มีความชัดเจน

หากจะแก้ปัญหาการทารุณกรรมช้างให้หมดไปโดยยังคงการแสดงช้างเอาไว้ รัฐจะต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ควบคู่ไปกับมาตรการสนับสนุนให้ปรับเปลี่ยนวิธีการฝึกการบังคับช้างตามวิถีวัฒนธรรมดั้งเดิมให้สอดคล้องกับหลักการสากลซึ่งไม่เป็นการทารุณกรรมสัตว์ และหาวิธีดูแลช้างบ้านช่วงวิกฤติโควิดให้อยู่รอด ทั้งพื้นที่แหล่งอาหาร และการจัดแสดงหารายได้ที่เหมาะสม

อาจต้องพัฒนานวัตกรรมการท่องเที่ยวเยี่ยมชมช้างรูปแบบใหม่ๆ ที่ไม่ทรมานสัตว์เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว หารายได้ช่วยช้าง ควาญช้าง และธุรกิจการแสดงช้างในแหล่งท่องเที่ยวอยู่รอดได้ด้วยตนเอง สังคมก็ควรมีส่วนช่วยเหลือด้วยการบริจาคเงินเป็นค่าอาหารและการดูแลช้างด้วย ก็จะช่วยรักษาภาพลักษณ์ของประเทศและรักษาวิถีวัฒนธรรมคนกับช้างให้อยู่ได้สืบต่อไป