'ฝ่ายค้าน' ยัน 'ก้าวไกล-เพื่อไทย' ไม่ได้แตกกัน ย้ำแก้ รธน. ตั้ง ส.ส.ร. ก่อน

'ฝ่ายค้าน' ยัน 'ก้าวไกล-เพื่อไทย' ไม่ได้แตกกัน ย้ำแก้ รธน. ตั้ง ส.ส.ร. ก่อน

"สุทิน" ยัน "ก้าวไกล-เพื่อไทย" ไม่ได้แตกกัน เผย สภาเหลือ 3 วาระก่อนปิดประชุม ย้ำแก้ไขรัฐธรรมนูญเน้นตั้ง ส.ส.ร. ก่อน

เมื่อวันที่ 25 ส.ค. 63 ที่รัฐสภา นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) เปิดเผยว่า ในวันนี้จะมีการประชุมวิปฝ่ายค้านร่วมกับพรรคก้าวไกล เพื่ออธิบายถึงการดำเนินการยื่นญัตติการเปิดอภิปรายเป็นการทั่วไปตามรัฐบธรรมนูญ มาตรา 152 ซึ่งยืนยันว่าการยื่นญัตติในครั้งนี้เป็นไปตามกลยุทธ์ เพราะหากไม่เปิดอภิปรายในสมัยประชุมนี้ ก็อาจจะไม่ทันกับสถานการณ์บ้านเมือง

“เป็นกลยุทธ์ของเรา พวกเขาเป็นวัยรุ่นเราเข้าใจดี ยืนยันว่าทั้งพรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย ไม่ได้แตกกัน ยังทำงานด้วยกันได้เป็นอย่างดี เพียงแต่บางครั้งพูดคุยกันน้อย ส่วนการทำงานทุกอย่างยังเป็นไปตามปกติ และวันนี้จะมีการอธิบายให้เข้าใจ เพราะหากไปยื่นอภิปรายทั่วไปในสมัยหน้าอาจจะไม่ทันการณ์ เพราะคิดว่าในสมัยประชุมหน้ารัฐบาลไปไม่รอดแน่ๆ จริงคิดว่าต้องยื่นอภิปรายในสมัยประชุมนี้ก่อน” นายสุทิน กล่าว

นายสุทิน กล่าวอีกว่า สำหรับช่วงเวลาที่เหลือในสมัยประชุมนี้ จะมีการพิจารณาวาระสำคัญ 3 เรื่อง ได้แก่ 1.การประชุมรัฐสภาเพื่อแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ 2.การอภิปรายทั่วไป ตามมาตรา 152 และ 3.ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณพ.ศ.2564 วาระที่ 2-3 ส่วนจะพิจารณาเรื่องใดก่อนคงจะต้องมีการหารืออีกครั้ง ส่วนตัวคิดว่าควรพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อน

เมื่อถามถึงกรณีพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล ต่างฝ่ายต่างเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของตนเองเข้ารัฐสภา นายสุทิน กล่าวว่า ไม่ว่าจะเป็นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของฝ่ายใด ต่างมีหลักการตรงกัน คือ การตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เพื่อมายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน เพียงแต่มีความแตกต่างในรายละเอียด ซึ่งคิดว่าสามารถพูดคุยกันในสภาได้ ส่วนกรณีของพรรคก้าวไกลที่ยังมี ส.ส. มาลงชื่อไม่พอที่จะเสนอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ โดยในวันนื้พรรคเพื่อไทย จะมีการประชุมพรรคและจะมีการอธิบายให้กับ ส.ส.ของพรรคเพื่อไทย ได้เข้าใจในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคก้าวไกล แต่จะมีมติอย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับที่ประชุ มส.ส.พรรค

“ในขั้นตอนนี้ โดยหลักการจะแก้ไขรัฐธรรมนูญในหมวดว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญก่อน เพื่อให้มีการตั้ง ส.ส.ร. ให้สำเร็จ โดยจะไม่ไปแตะเนื้อหาในรายมาตราอื่นๆ เพราะคิดว่าควรให้ ส.ส.ร. เข้ามาดำเนินการเว้นเสียแต่หากเกิดกระบวนการเตะถ่วงไม่ให้เกิดการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ หรือเป็นไปอย่างล่าช้า ฝ่ายค้านก็จะเสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราอื่นๆ เข้าไปด้วย" นายสุทิน กล่าว