ทร.ดัน 'ซื้อเรือดำน้ำ' เซ็นสัญญาก.ย. กระแสสังคมคัดค้านจี้ทบทวน

ทร.ดัน 'ซื้อเรือดำน้ำ' เซ็นสัญญาก.ย. กระแสสังคมคัดค้านจี้ทบทวน

กองทัพเรือตั้งโต๊ะชี้แจงโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำ ยืนยัน“จีทูจี”ของจริง ครม.มอบอำนาจ “ลือชัย” อ้างเซ็นสัญญาไม่เรียกเอ็มโอยู ยกเหตุจำเป็นความมั่นคง ซัดตีกินทางการเมือง ขณะที่“เพื่อไทย-ก้าวไกล” ลุยค้าน จี้ทบทวน ขณะที่กระแสสังคมต้านหนัก

จากกรณีคณะอนุกรรมาธิการครุภัณฑ์ ไอซีที รัฐวิสาหกิจ และทุนหมุนเวียน ในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เสียงข้างน้อย โดยนายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย รองประธานอนุกมธ.ฯ ฝ่ายค้าน ออกมาคัดค้านและเปิดเผยข้อมูลว่ามีการล็อบบี้เรื่องดังกล่าว รวมทั้งมีข้อพิรุธในการจัดซื้อจากรัฐบาลจีนว่าไม่ใช่แบบรัฐต่อรัฐ หรือจีทูจี และ พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ ผบ.ทร. เสนาธิการทหารเรือในขณะนั้น ไม่มีอำนาจลงนามในสัญญา จึงทำให้การจัดซื้อเรือดำน้ำเป็นโมฆะ

ประเด็นร้อนดังกล่าวทำให้กองทัพเรือ(ทร.)ได้นัดแถลงข่าวชี้แจงทุกข้อกล่าวหา โดยวานนี้ (24 ส.ค.) ที่กองบัญชาการกองทัพเรือ วังนันทอุทยาน พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) มอบหมายให้ พล.ร.อ.สิทธิพร มาศเกษม เสนาธิการทหารเรือ และหน่วยงานของ ทร.ที่เกี่ยวข้องออกมาชี้แจง โดยได้อธิบายถึงความเป็นมาของโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำลำแรกและลำที่ 2 และ 3 รวมถึงไทม์ไลน์และจำนวนงบประมาณที่ต้องจ่ายแต่ละงวด

พล.ร.อ.สิทธิพร ระบุว่า การจัดหาเรือดำน้ำลำแรกที่ดำเนินการเป็นรูปแบบจีทูจี หรือรัฐบาลกับรัฐบาลเมื่อปี 2560 พร้อมทั้งระบุว่าขณะนี้ ประเทศเพื่อนบ้านต่างก็มีเรือดำน้ำเพิ่มขึ้น ส่วนประเทศไทยจัดหาลำแรกในปี 2560 จะเข้าประจำการปี 2566

พล.ร.ท. ธีรกุล กาญจนะ ปลัดบัญชีทหารเรือ อธิบายว่า การจัดหาเรือดำน้ำลำที่ 2 และ 3 เป็นการทยอยจ่ายทั้งหมด 7 ปี ตั้งแต่ปี 2560-2566 ซึ่งเป็นการจัดหาต่อเนื่องเพื่อให้ครบ 3 ลำ ไม่ใช่โครงการผูกพันงบประมาณที่เริ่มใหม่ในปี 2564 นี้ แต่เป็นโครงการในการเสริมสร้างกำลังของกองทัพที่เริ่มตั้งแต่ปี 2563-2569 เป็นการทยอยตั้งงบประมาณรายปีภายในงบฯ ที่กองทัพเรือได้รับตามปกติ ไม่ได้ขอรับงบฯเพิ่มเติม และรายการนี้ได้ตราไว้แล้วในพ.ร.บ.งบฯ 2563

ตามกำหนดที่ต้องชำระใน 7 งวดที่ตั้งไว้ในตอนแรก ระบุไว้ว่า ในปี 2563 จ่ายวงเงิน 3,375 ล้านบาท ปี 2564 วงเงิน 3,925 ล้านบาท ปี 2565 วงเงิน 2,640 ล้านบาท ปี 2566 วงเงิน 2,500 ล้านบาท ปี 2567 วงเงิน 3,060 ล้านบาท ปี 2568 วงเงิน 3,500 ล้านบาท ปี 2569 วงเงิน 3,500 ล้านบาท

แต่เนื่องจากเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด รัฐบาลได้ให้หน่วยงานราชการโอนงบฯคืนไปใช้สำหรับการแก้ไขปัญหา ทร.จึงตัดลดงบฯ ที่ตั้งเอาไว้ในปีงบประมาณ 2563 และจ่ายงวดแรกในวงเงินงบฯปี 2564 แทน และไปจบงวดสุดท้ายในปี 2570

“ในการจัดทำร่างพ.ร.บ.งบฯ 2564 ซึ่งขณะนี้กำลังพิจารณาการจัดทำคำขอของ ทร. ได้มีการกำหนดรายละเอียดของงบฯ ตามคำแนะนำและความเห็นชอบของสำนักงบฯ โดยยึดความประหยัดและความคุ้มค่าตระหนักถึงคุณค่าของเงินทุกบาทของประเทศชาติและตั้งงบประมาณรายจ่ายอยู่ในกรอบที่เคยได้รับโดยประมาณมาทุกปี ทั้งนี้กองทัพเรือเตรียมลงนามในสัญญาจัดซื้อเรือดำน้ำลำที่ 2-3 ในเดือนกันยายนนี้” พล.ร.ท.ธีรกุล ระบุ

ยันครม.มอบ“เสธ.ทร.”ลงนาม

น.อ.ธาดาวุธ ทัตพิทักษ์กุล รอง ผอ.สำนักงานจัดหายุทโธปกรณ์ทหารเรือ ชี้แจงว่า ยืนยันว่าการมีเรือดำน้ำจะช่วยเพิ่มอำนาจการต่อรอง ทร.จึงได้ศึกษา และเสนอแนะต่อรัฐบาล กระทั่ง 18 เม.ย.2560 ครม.มีมติเห็นชอบจัดหาเรือดำน้ำ 3 ลำ สืบเนื่องมาจาก ทร.ตระหนักถึงความจำเป็นของเรือดำน้ำ และพบว่าข้อเสนอของจีนนั้นดีที่สุด และอนุมัติการจัดหาเรือดำน้ำในปี 2559

“ส่วนที่บอกว่าจีทูจีปลอมเป็นการให้ข้อมูลเท็จ เนื่องจากคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติและอำนาจให้ ผบ.ทร. และผบ.ทร.อนุมัติให้ประธานกรรมการบริหารโครงการจัดหาเรือดำ และเสนาธิการ ทร.เป็นผู้แทนในการลงนามข้อตกลง จึงยืนยันว่า ทุกอย่างเป็นไปด้วยความถูกต้อง พิจารณารอบคอบตามระเบียบวิธีราชการทุกประการ” น.อ.ธาดาวุธ กล่าว

ยัน“จีทูจี”จริง-จีนมอบเอกชนเซ็น

“รัฐบาลจีนสั่งการให้หน่วยงาน SASTIND ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐของจีน ด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและการส่งออกอาวุธ มอบอำนาจให้บริษัท CSOC ซึ่ง CSOC ให้ประธานบริษัทลงนามแทน ดังนั้น คนที่มาลงนามของจีน ได้รับมอบอำนาจมาอย่างชัดเจน จึงเป็นจีทูจีของจริง ไม่ใช่จีทูจีของปลอม”

“สำหรับประเด็นที่ยังคลาดเคลื่อน เรื่องการทำสัญญาระหว่างรัฐบาลจีนกับไทย เนื่องจากเป็นจีทูจี คือ ความเอื้อเฟื้อมิตรไมตรีระหว่างรัฐบาล จึงไม่ใช้คำว่าสัญญา และใช้คำว่า ข้อตกลง ทำให้มีผู้เข้าใจผิดไปแปลว่า ข้อตกลงคือเอ็มโอยู(MOU )ที่ต้องลงนามโดยนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ทั้งที่ข้อตกลงนี้ เป็น Agreement ไม่ใช่เอ็มโอยู”

ชี้ถูกกว่าลำแรก-ไม่ซื้อเสียเครดิต

พล.ร.ต.อรรถพล เพชรฉาย ผอ.สำนักงานจัดหายุทโธปกรณ์ทหารเรือ กล่าวว่า การเจรจากับจีน อยู่บนพื้นฐานเรือดำน้ำ 3 ลำมาโดยตลอด และรัฐบาลจีนรับทราบการจัดหาเป็นระยะ แต่เนื่องจากประเทศไทยประสบปัญหาด้านงบประมาณจึงได้จัดหาเรือดำน้ำระยะที่ 1 จำนวน 1 ลำก่อน ซึ่งได้ลงนามข้อตกลงไปแล้ว ส่วนการจัดหาในระยะที่สองในปีงบประมาณ 2563 ถึง 2569 การเจรจาได้ข้อยุติแล้ว และสามารถจัดหาได้ในราคาลำละ 11,250 ล้านบาท ซึ่งมีราคาต่อลำต่ำกว่าลำที่หนึ่ง

รวมถึงได้รับการติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มเติม ประกอบด้วยแผ่นยางลดเสียงสะท้อน ระบบสื่อสารดาวเทียม ระบบสื่อสารข้อมูลทางยุทธวิธีและอาวุธทั้ง จรวดนำวิถี ทุ่นระเบิด ตอร์ปิโด โดยมีมูลค่ากว่า 2,100 ล้านบาท ซึ่งไม่ต้องเพิ่มวงเงินแต่อย่างใด ในปี 2560-2570 ประเทศไทยจะมีเรือลำดำหน้าตาคล้ายกันทั้งหมด 3 ลำ แต่หากไม่ดำเนินการตามที่เจรจาไว้ทั้งหมด ประเทศไทยก็จะหมดความน่าเชื่อถือเชิงพาณิชย์

อ้างความมั่นคงทางทะเลสุ่มเสี่ยง

พล.ร.ท.เถลิงศักดิ์ ศิริสวัสดิ์ เจ้ากรมยุทธการทหารเรือ กล่าวว่า ทร.พยายามจัดซื้อเรือดำน้ำมาหลายปี แม้จะยังไม่เห็นสงครามโลกในขณะนี้ แต่มีความขัดแย้งเกิดขึ้นในน่านน้ำ จากสถานการณ์ความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ รวมถึงคาบสมุทรเกาหลี รวมถึงการวางกำลังทางเรือสหรัฐฯ ในพื้นที่ใกล้เคียงกับพื้นที่ความขัดแย้งมีความเป็นไปได้ว่าจะมีการปะทะกัน ซึ่งส่งผลต่อเส้นทางการเดินเรือและผลประโยชน์ทางทะเลของประเทศมูลค่ามหาศาล รวมถึงเปี 2572 ข้อตกลงระหว่างไทยกับมาเลเซียในการพัฒนาพื้นที่ร่วมทางทะเล หรือเจดีเอ จะยุติลงซื้อคาดว่าจะมีการพูดคุยเพื่อทำสัญญาก่อนปี 2572 ดังนั้นการที่เรามีเรือดำน้ำในปี 2570 จะส่งผลต่อการเจรจาต่อรองเกี่ยวกับพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล ส่งผลให้ไทยไม่เสียเปรียบ

พล.ร.ท.ประชาชาติ ศิริสวัสดิ์ รองเสธ.ทร.ตอบโต้นายยุทธพงศ์ อนุกมธ.ครุภัณฑ์ ว่า เป็นการพูดที่บิดเบือนข้อเท็จจริงนำไปซึ่งความแตกแยก นำมาสู่ความเกลียดชังต่อกองทัพและเป็นสิ่งที่ไม่สมควร และนำมาเป็นประเด็นเคลื่อนไหวทางการเมือง ที่กล่าวหาว่าการจัดซื้อเรือดำน้ำเป็นสัญญาเก๊ ก็ไม่เป็นความจริง โครงการรับจำนำข้าว ที่พรรคเพื่อไทย ทำต่างหากที่เป็น จีทูจีเก๊ ขอสังคมอย่าตกเป็นเหยื่อเรื่องการเมือง อย่าดึงประชาชนมาเกลียดชัง ทร.

“ก้าวไกล”บุกทร.-จี้ทบทวนจัดซื้อ

ทางด้านนายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ซึ่งเข้าสังเกตการณ์การแถลงของ ทร.กล่าวว่า ทางทร.ยืนยันว่าจำเป็นที่จะต้องจัดหาเรือดำน้ำ แต่เรามองว่าไม่จำเป็น และจะต้องผลักดันไม่ให้ กมธ.งบฯ 64 ลงมติเห็นชอบ

“ประวิตร”ปัดล็อบบี้อนุกมธ.ครุภัณฑ์ฯ

ส่วนท่าทีของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รมว.กลาโหม ได้ปฏิเสธที่จะตอบคำถามสื่อมวลชน เกี่ยวกับการจัดซื้อเรือดำน้ำ ระหว่างที่ลงพื้นที่ครม.สัญจร จ.ระยอง โดยพล.อ.ประยุทธ์ กล่าวสั้นๆว่า “เป็นเรื่องของกรรมาธิการ”

ขณะที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกระแสข่าวมี “นายพล ป.” มาล็อบบี้คณะอนุกมธ.ครุภัณฑ์ฯ ให้โหวตผ่านงบซื้อเรือดำน้ำว่า “จะล็อบบี้ได้อย่างไร เป็นเรื่องของกรรมาธิการ”

เมื่อถามว่า มีความกังวลว่าการซื้อเรือดำน้ำ จะทำให้เป็นประเด็นบานปลายเกิดการชุมนุมลุกลามมากขึ้นหรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ไม่มี