เอกชนเร่งรัฐหนุนรถ EV หวั่นไทยเสียฐานผลิตรถอาเซียน

เอกชนเร่งรัฐหนุนรถ EV หวั่นไทยเสียฐานผลิตรถอาเซียน

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบการขยายตัวของอุตสาหกรรมทั่วโลก แต่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้ายังคาดการณ์ว่าบางประเทศยังเดินหน้าพัฒนา เช่น จีน ในขณะที่ไทยยังไม่ขยายตัวมากนัก

ในขณะที่ตลาดยานยนต์ไฟฟ้าในไทยยังไม่แพร่หลายมากนัก ถึงแม้คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) จะมีมาตรการส่งเสริมการลงทุนมาตั้งแต่ปี 2560 โดยให้สิทธิประโยชน์สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า ประกอบด้วย

1.กิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมและชิ้นส่วน (HEV) 

2.กิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมเสียบปลั๊ก (PHEV) 

3.กิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV)

4.กิจการผลิตรถโดยสารไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่และชิ้นส่วน (Battery Electric Bus)

5.กิจการสถานีบริการอัดประจุไฟฟ้าสำหรับรุยนต์ไฟฟ้า

159801698616

นายยศพงษ์ ลออนวล นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมาสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทยเสนอให้รัฐบาลส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าในไทย 8 ข้อ ได้แก่ 

1.การจัดทำแผนที่นำทางเรื่องยานยนต์ไฟฟ้าแบบบูรณาการ (EV Roadmap) 

2.ปรับปรุงข้อกฎหมายและข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง 

3.ส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า โดยเฉพาะให้ประชาชนซื้อรถยนต์ไฟฟ้าได้ในราคาที่เหมาะสม

4.ส่งเสริมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ทั้งจักรยานยนต์ไฟฟ้าและสามล้อไฟฟ้า 

5.การส่งเสริมศักยภาพของผู้ประกอบการไทยให้พัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้า

6.จัดทำมาตรฐานยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้อง 

7.ให้เตรียมความพร้อมโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับยานยนต์ไฟฟ้า

8.ให้ส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรด้านยานยนต์ไฟฟ้า

ขณะนี้ข้อเรียกร้องของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าได้รับการตอบรับจากภาครัฐและทยอยแก้ไขหลายเรื่อง แต่การลงทุนและการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ไปได้ช้าเพราะเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่มีราคาแพงที่ต้องใช้ระยะเวลาสักระยะจึงจะไปได้เร็ว เหมือนกับโทรศัพท์มือถือรุ่นแรกที่มีราคาเป็นแสนบาทก็ไปได้ช้า เพราะมีราคาแพงและคนยังไม่เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องใช้

"พอมาถึงจุดที่เทคโนโลยีราคาต่ำลงจะเติบโตรวดเร็ว โดยคาดว่าปี 2568–2573 จะเติบโตรวดเร็วเพราะเทคโนโลยีถึงจุดที่มีราคาที่เหมาะสมที่คนทั่วไปเข้าถึงได้"

ทั้งนี้ หากเทียบในอาเซียนแล้วถือว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของไทยไปได้เร็วที่สุด เหนือกว่ามาเลเซีย อินโดนีเซียและเวียดนาม เพราะขณะนี้มีผู้ผลิตคนไทยหลายรายเริ่มผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแล้ว และยังมีค่ายรถยนต์ไฟฟ้าต่างชาติเข้ามาขอส่งเสริมการลงทุนอีกหลายราย เนื่องจากไทยได้เปรียบของการเป็นฐานการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ที่เข้มแข็ง

ทั้งนี้หากไทยไม่ปรับตัวตั้งแต่ตอนนี้จะส่งผลให้ไทยเสียฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของอาเซียนให้กับประเทศเพื่อนบ้านเช่น เวียดนาม มาเลเซียและอินโดนีเซีย และสุดท้ายไทยต้องนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าจากต่างประเทศเข้ามาแทน ทำให้ไทยขาดโอกาสสร้างอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของตัวเองไป

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างศึกษากรณีให้ผู้ใช้รถไฟฟ้าสามารถขายไฟฟ้าส่วนเหลือจากแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าเข้าระบบผลิตไฟฟ้าได้ เพื่อให้ระบบแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้ากลายเป็นระบบสำรองไฟฟ้าช่วยเสริมความมั่นคงไฟฟ้าประเทศ โดยเฉพาะกรณีประเทศเกิดความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีค) ขึ้นจะลดการสร้างโรงไฟฟ้าเพื่อรองรับพีคได้อีกด้วย โดยกระทรวงจะต้องศึกษาทั้งรูปแบบและกฎระเบียบรองรับแนวทางดังกล่าวต่อไป

ส่วนเทคโนโลยีสถานีอัดประจุไฟฟ้า (Charging Station) ปัจจุบันมีความก้าวหน้าขึ้นมากสู่ระดับการเป็นสถานีอัดประจุไฟฟ้าอัจฉริยะ ซึ่งคำนวณได้ว่าควรจะชาร์จไฟฟ้าช่วงไหนเพื่อให้ได้อัตราค่าชาร์จไม่แพง

รวมถึงแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าสามารถทำเป็นโรงไฟฟ้าเสมือนได้ ด้วยการให้รถยนต์ไฟฟ้าสามารถปล่อยประจุไฟฟ้ากลับเข้าสู่ระบบผลิตไฟฟ้า เพื่อสร้างรายได้ให้ผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าได้อีกทางหนึ่ง เป็นต้น ซึ่งกระทรวงพลังงานจะต้องนำมาศึกษารูปแบบและประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับประเทศต่อไป

สำหรับแผนส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้าในไทย กระทรวงพลังงานยังคงเป้าหมายส่งเสริมให้เกิดการใช้รถยนต์ไฟฟ้า 1.2 ล้านคันภายในปี 2573 ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือ PDP2018 และอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานทั้งด้านระบบไฟฟ้า สถานีอัดประจุไฟฟ้า และเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้า

รวมทั้งกระทรวงพลังงานยังมีแผนระบบสายส่งไฟฟ้าอัจฉริยะ ระบบมิเตอร์ไฟฟ้าอัจฉริยะและแผนลดการใช้ไฟฟ้าประชาชนภาคสมัครใจ ซึ่งมั่นใจว่าระบบไฟฟ้าจะมีรองรับรถยนต์ไฟฟ้าในช่วงเปลี่ยนผ่านได้อย่างเพียงพอและอาจรองรับได้มากถึง 3 ล้านคัน