เจาะ '4 หุ้นสายการบิน' ในวันที่ธุรกิจ 'ติดลบ' หนักสุด

เจาะ '4 หุ้นสายการบิน' ในวันที่ธุรกิจ 'ติดลบ' หนักสุด

เปิดตัวเลขผลดำเนินงานของ '4 หุ้นสายการบิน !' ในวันที่ธุรกิจ 'ติดลบหนักสุด' เป็นประวัติการณ์ พิษโควิด-19 บ่งชี้ผ่านไตรมาส 2 ปี 2563 ขาดทุนสุทธิเฉียด 'หมื่นล้าน' ด้าน 'เอกชน' ปรับโมเดลใหม่สอดรับพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน หวังคืนชีพครึ่งปีหลัง

การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) เป็นชนวนเหตุสำคัญที่ฉุด 'อุตสาหกรรมการบินโลก' ตกต่ำสุด ! หลังอุตสาหกรรมการบินต่างได้รับผลกระทบอย่างหนักจากมาตรการปิดประเทศ (ล็อกดาวน์) และ การปิดพรมแดน ทำให้การเดินทางต้องระหว่างกันต้อง 'หยุด' เพื่อหวังเป็นการหยุดยั้งการระบาดของโควิด-19 ที่หลายประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน

หากย้อนกลับไปดูปัญหาของธุรกิจสายการบินไม่ใช่เพิ่งมาเกิดขึ้นในปีนี้ ! แต่ลองไล่เรียงดูพบว่า 'จุดเริ่มต้น' คือ ช่วงปี 2558 เป็นต้นมา สะท้อนผ่านจากสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบโลกที่พุ่งสูงขึ้นมาก จนกลายมาเป็นอุปสรรต่อความสามารถทำกำไรของธุรกิจสายการบิน  เนื่องจากธุรกิจสายการบินมีต้นทุนน้ำมันคิดเป็นกว่า 30% ประกอบกับภาวการณ์ 'แข่งขัน' ของอุตสาหกรรมการบินที่ 'รุนแรง' ต่อเนื่อง ทั้งในเรื่องของราคา การแข่งจันขยายเส้นทางบินใหม่ๆ และต่อมาถึงค่าเงินบาทที่แข็งค่าอย่างต่อเนื่อง 

สารพัดปัญหาดังกล่าวที่เกิดขึ้นมานั้น ก็ยังไม่ 'ร้ายแรง' เท่ากับผลกระทบของโควิด-19 ! เพราะที่ผ่านมาเปรียบเสมือนเป็นการ 'แช่แข็ง' ธุรกิจสายการบินแบบยังหาทางรอดไม่เจอ หลังธุรกิจไม่สามารถหารายได้เข้ามาได้เลย จนส่งผลให้ 2 สายการบินไทย ต้องเดินเข้าสู่กระบวนการขอศาลล้มลายกลางเพื่อขอฟื้นฟูกิจการ

สะท้อนผ่าน ตัวเลขผลประกอบการไตรมาส 2 ปี 2563 ของ '4หุ้นสายการบิน' ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ที่ 'ติดลบ' กันถ้วนหน้า นั่นคือ บมจ.การบินไทย หรือ THAI เจ้าของสายการบินไทย บมจ. การบินกรุงเทพ หรือ BA เจ้าของสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส บมจ. เอเชีย เอวิชั่น หรือ AAV เจ้าของสายการบินไทยแอร์เอเชีย และ บมจ.สายการบินนกแอร์ หรือ NOK เจ้าของสายการบินนกแอร์ 

โดย 4 หุ้นสายการบิน อาการหนักตัวเลข 'ขาดทุนสุทธิ' ไตรมาส 2 ปี 2563 หุ้น THAI ขาดทุน 5,339.90 ล้านบาท หุ้น BA ขาดทุน 2,974.80 ล้านบาท หุ้น AAV ขาดทุน 1,141.30 ล้านบาท และ หุ้น NOK ยังไม่ส่งงบไตรมาส 2 ปี 2563 (โดยขอเลื่อนส่งงบเป็นวันที่ 31 ส.ค.นี้) ส่งผลให้ไตรมาส 2 ปี 2563 หุ้นสายการบินมีผลขาดทุนสุทธิเฉียด 'หมื่นล้านบาท' 

ขณะที่ ผลการดำเนินงานงวด 6 เดือนแรก ปี 2563 (ม.ค.-มิ.ย.) ของ THAI , BA , AAV และ NOK ขาดทุนสุทธิ 28,016.50 ล้านบาท 3,313.40 ล้านบาท 1,812.80 ล้านบาท และ ยังไม่ส่งงบ ตามลำดับ ส่งผลให้ครึ่งปีแรกหุ้นสายการบินขาดทุนสุทธิรวม 3.3 หมื่นล้านบาท !

ทว่า ผลงานที่เริ่มต้นไม่สวยได้กดดันให้ราคา หุ้น THAI หุ้น BA หุ้น AAV และ หุ้น NOK ตั้งแต่ต้นปี 2563 จนถึง ปัจจุบัน (20 ส.ค.) ปรับลงค่อนข้างมาก สะท้อนผ่านราคาหุ้นที่ขยับตัวลดลงเฉลี่ย 52.12% 22.30% 17.41% และ 61.00% ตามลำดับ 

โดยช่วง 6 เดือนแรกปี 2563 หุ้น THAI ทำราคา 'สูงสุด' (New High) 7.85 บาทต่อหุ้น (29 เม.ย.) 'ต่ำสุด' (New Low) 2.74 บาทต่อหุ้น (24 มี.ค.) หุ้น BA ทำราคาสูงสุด 7.85 บาท (18 มิ.ย.) ต่ำสุด 3.58 บาท (24 มี.ค.) หุ้น AAV ทำราคาสูงสุด 2.46 บาท (5 มิ.ย.) ต่ำสุด 1.00 บาท (19 มี.ค.) และ หุ้น NOK ทำราคาสูงสุด 2.08 บาท (2  ม.ค.) ราคาต่ำสุด 0.61 บาท (4 ส.ค.)

ขณะที่ 'มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด' (มาร์เก็ตแคป) ของหุ้น THAI , BA , AAV และ NOK ตั้งแต่ต้นปี 2563-ปัจจุบัน (19 ส.ค.) 'ปรับตัวลดลง' อยู่ที่ 7,159.49 ล้านบาท 11,340.00 ล้านบาท 8,972.50 ล้านบาท และ 2,908.77 ล้านบาท จากต้นปี 14,951.99 ล้านบาท 14,595.00 ล้านบาท 10,864.00 ล้านบาท และ 6,217.03 ล้านบาท ตามลำดับ 

สอดคล้องกับ 'พุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ' กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ. การบินกรุงเทพ หรือ BA บอกว่า ผลการดำเนินงานไตรมาส 2 ที่ผ่านมา 'ลดลง' โดยมีรายได้ 1,043.7 ล้านบาท ลดลง 82.8% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลมาจากการที่บริษัทหยุดทำการบินทุกเส้นทางบินเป็นการชั่วคราว นับตั้งแต่ 7 เม.ย. 2563 ตามนโยบายภาครัฐและประกาศของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 15 พ.ค. ที่ผ่านมา บริษัทได้กลับมาทำการบินในเส้นทางภายในประเทศ โดยได้เริ่มเปิดดำเนินการบินเส้นทางระหว่าง กรุงเทพ-สมุย และเปิดดำเนินการเส้นทางระหว่าง กรุงเทพ-เชียงใหม่, กรุงเทพ-สุโขทัย และ กรุงเทพ-ลำปาง ในช่วงเดือนมิ.ย. ที่ผ่านมา พร้อมทั้งได้ปรับแผนเส้นทางบินและจำนวนเที่ยวบินให้เหมาะสมกับความต้องการเดินทาง ส่งผลให้ไตรมาส 2 ปี 2563 บริษัทมีจำนวนผู้โดยสารลดลง 97.8% เทียบกับปีก่อนหน้า มีอัตราขนส่งผู้โดยสารอยู่ที่ 47.3% 

ขณะที่ 'การบินไทย' แจกแจงว่า การระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการบินของโลกในไตรมาส 2 ปี 2563 อย่างรุนแรงเป็นประวัติการณ์ ทำให้การเดินทางทั้งในประเทศและระหว่างประเทศหยุดชะงัก ! แต่ในเดือนมิ.ย. 2563 ความต้องการเดินทางทางอากาศ และการขนส่งสินค้าเริ่มมีสัญญาณของการฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดในเดือนเม.ย. จากการเดินทางภายในประเทศ แต่ยังคงต่ำกว่าระดับปกติอยู่มาก

จากข้อมูลของสมาคมการขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ปริมาณการขนส่งผู้โดยสารในเดือน เม.ย.-พ.ค. และมิ.ย. ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 94.3% 91.3% และ 86.5% ตามลำดับ 

สะท้อนผ่าน บริษัทได้ยกเลิกเที่ยวบินแบบประจำทั้งหมดเป็นการชั่วคราว ตั้งแต่ 5 เม.ย. 2563 เพื่อให้สอดคล้องกบมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ของแต่ละประเทศ โดยยังคงให้บริการขนส่งสินค้าในบางเส้นทาง รวมทั้งการจัดเที่ยวบินพิเศษกรณี มีผู้โดยสารตกค้างเป็นจำนวนมาก และได้รับการติดต่อประสานงานจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง 

โดย 'เอเชีย เอวิเอชั่น' แจ้งผลการดำเนินงานไตรมาส 2 ปี 2563 ขาดทุนสุทธิ 1,141.32 ล้านบาท ขาดทุนเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ขาดทุนสุทธิ 482.47 ล้านบาทบริษัทได้เริ่มกลับมาทำการบินในเส้นทางบินในประเทศบางเส้นทางตั้งแต่ 1 พ.ค. ที่ผ่านมา ส่งผลให้สายการบินไทยแอร์เอเชีย มีจำนวนผู้โดยสารรวมในช่วงไตรมาส 2 ปี 2563 อยู่ที่ 283,601 คน ลดลง 95% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีปริมาณที่นั่งอยู่ที่ 8% ของปริมาณที่นั่งสำหรับปีก่อน ส่งผลให้มีรายได้รวม 2,221 ล้านบาท ลดลง 78% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีรายได้รวม 10,006.4 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม บริษัทมีค่าใช้จ่ายรวมลดลง 4,021.4 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 10,804 ล้านบาท ลดลง 63% 

'ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์' ประธานกรรมการบริหาร บมจ. เอเชีย เอวิเอชั่น หรือ AAV บอกว่า ยอมรับว่าผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีหลัง 2563 บริษัทยังได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์โควิด-19 ซึ่งบริษัทคาดหวังการเปิดเที่ยวบินระหว่างประเทศได้เป็นปกติช่วยหนุน แต่ปัจจุบันประเทศในเอเชียเริ่มมีการระบาดรอบ 2 อีกครั้ง เช่น ญี่ปุ่น เวียดนาม ไต้หวัน ฮ่องกง ซึ่งยังส่งผลกระทบต่อบริษัท 

ขณะที่ในแง่ของบริษัทยังมีสภาพคล่องที่แข็งแกร่ง สามารถดำเนินธุรกิจต่อได้โดยไม่ต้องยื่นขอฟื้นฟูกิจการโดยบริษัทยังคาดหวังทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ จะช่วยหนุนภาคการท่องเที่ยวในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งจะเป็นผลต่อต่อธุรกิจการบินในประเทศ 

อย่างไรก็ตามปัจจุบันบริษัทได้ขอสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ(ซอฟต์โลน) จากภาครัฐผ่านธนาคารออมสินวงเงินประมาณ 4,500 ล้านบาท เพื่อนำมาใช้ดำเนินการธุรกิจประกอบกัน แต่ยังไม่ได้รับการอนุมัติ  ซึ่งหากซอฟต์โลนจำนวนดังกล่าวไม่สามารถดำเนินการได้ทันในปีนี้ บริษัทอาจพิจารณาเงินจากแหล่งอื่นแทน เช่น การขอกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์ การเพิ่มทุน หรือการหาพันธมิตรรายใหม่ โดยจะพิจารณาให้เหมาะสมกับสถานการณ์อีกครั้ง

โบรกฯ มองพ้น “จุดต่ำสุด” แล้ว ! 

บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) บัวหลวง มีมุมมองต่ออุตสาหกรรมการบิน ว่า ผลการดำเนินงานไตรมาส 2 ปี 2563 น่าจะเป็น 'จุดต่ำสุดของปีนี้' เนื่องจากในปัจจุบันการบินภายในประเทศเริ่มกลับมาเป็นปกติมากขึ้น สำหรับเส้นทางบินระหว่างประเทศ และคาดว่าจะสามารถกลับมาเริ่มดำเนินการได้ในไตรมาส 4 ปี 2563 ที่ capacity ระดับ 30-45% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน 

ขณะที่ สายการบินที่พึ่งพิงนักท่องเที่ยวต่างชาติสัดส่วนสูง อย่าง สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส หรือ การบินไทย อาจจะฟื้นตัวไม่มากนัก เนื่องจากต้องขึ้นอยู่ที่สถานการณ์ของการระบาดโควิด-19 ทั่วโลกที่ปัจจุบันยังไม่มีทีท่าว่าจะลดลง สำหรับ สายการบินนกแอร์นั้น ปัจจุบันยังไม่ได้ส่งงบไตรมาส 2 ปี 2563 ตามกำหนด โดยขอเลื่อนส่งงบเป็นภายใน 31 ส.ค.นี้

อย่างไรก็ตาม NOK รายงานผลดำเนินงานไตรมาส 1 ปี 2563 มีผลขาดทุน 2,330.05 ล้านบาท ขาดทุนเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ขาดทุน 304 ล้านบาท โดยได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้ต้องยกเลิกเที่ยวบินระหว่างประเทศทั้งหมด

นอกจากนี้ NOK ยังเป็นหุ้นสายการบินอีกรายที่ยื่นขอคำร้องต่อศาลล้มละลายกลาง ขอฟื้นฟูกิจการ และให้เสนอผู้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ จากเหตุการณ์ขาดสภาพคล่องทางการเงินชั่วคราว โดยไม่ได้มุ่งหวังให้กิจการล้มละลายโดยศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ และนัดไต่สวนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการในวันที่ 27 ต.ค.2563