ชงรื้อเกณฑ์ประมูลสายสีส้ม ITD ยื่นข้อเสนอให้ สคร.

ชงรื้อเกณฑ์ประมูลสายสีส้ม ITD ยื่นข้อเสนอให้ สคร.

สคร.ส่งหนังสือถึง รฟม.ปรับเกณฑ์ข้อเสนอรถไฟฟ้าสายสีส้ม 1.4 แสนล้านบาท หลัง “ไอทีดี” ร้องให้แก้เกณฑ์ประมูล ไม่เน้นผลประโยชน์ทางการเงินสูงสุดเท่านั้น พิจารณาความสำเร็จโครงการ “คมนาคม” เผยกฎหมายให้เพิ่มเงื่อนไขประมูลได้ เพิ่มการให้คะแนนด้านเทคนิค

โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก (งานโยธา) ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ–บางขุนนนท์ ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร รวมงานติดตั้งระบบรถไฟฟ้า ช่วงมีนบุรี–บางขุนนนท์ ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการประมูลหลายครั้งก่อนที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) จะเห็นชอบใช้รูปแบบ PPP Net Cost เมื่อวันที่ 28 ม.ค.2563 มูลค่าโครงการ 142,789 ล้านบาท

หลังจากนั้นการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ดำเนินการขายซองเอกสารข้อเสนอการร่วมลงทุนและมีผู้ซื้อซองเอกสารรวม 10 ราย โดยกำหนดให้มีการยื่นซองเอกสารในวันที่ 23 ก.ย.2563

หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจฉบับวันที่ 21 ส.ค.2563 รายงานว่า บริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ได้ทำหนังสือถึงนายประภาส คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ลงวันที่ 7 ส.ค.2563 เรื่องการประเมินข้อเสนอการร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์

โดยเห็นว่าโครงการนี้เป็นการร่วมลงทุนขนาดใหญ่ที่เอกชนมีหน้าที่รับผิดชอบออกแบบและก่อสร้างงานโยธา ลงทุนจัดหาระบบรถไฟฟ้าและให้บริการรถไฟฟ้า 30 ปี และเป็นโครงการที่มีความเสี่ยงสูงมากในการก่อสร้างงานโยธาฝั่งตะวันตก ซึ่งเป็นโครงการรถไฟฟ้าใต้ดินทั้งสายที่ต้องขุดเจาะอุโมงค์และสถานีในพื้นที่ชุมชน ผ่านเกาะรัตนโกสินทร์ชั้นในที่เป็นพื้นที่อนุรักษ์และมีโบราณสถานและสถานที่สำคัญ 

รวมทั้งขุดเจาะอุโมงค์ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งต้องใช้เทคนิคการออกแบบทางวิศวกรรมและวิธีการก่อสร้างชั้นสูง เพื่อลดผลกระทบที่มีต่อประชาชน เช่น สิ่งแวดล้อม การจราจร และในการบริการเดินรถที่เป็นรถไฟฟ้าใต้ดินเกือบทั้งสายจะต้องมีการจัดหาระบบรถไฟฟ้าที่มีคุณภาพสูง และบริหารจัดการเดินรถด้วยเทคนิคชั้นสูงตามมาตรฐานสากล เพื่อทำให้การบริการเดินรถแก่สาธารณชนมีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัยสูงสุด เพราะหากเกิดอุบัติเหตุหรือปัญหาระหว่างการเดินรถจะมีผลกระทบและเป็นอันตรายต่อประชาชนมาก

นอกจากนี้ทรัพย์สินที่เอกชนลงทุนจัดหาทั้งในส่วนงานโยธาและระบบรถไฟฟ้าจะต้องส่งมอบให้เป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐด้วย

การคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการนี้ไม่ใช่การจัดซื้อจัดจ้างที่ดำเนินการตามระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างปกติ แต่เป็นการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมทุนกับรัฐตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 และมูลค่าการลงทุนงานโยธาที่เอกชนจะขอสนับสนุนและผลกระทบที่เอกชนต้องแบ่งให้รัฐจากการให้บริการเดินรถจะมีความสัมพันธ์กับวิธีการ แผนงาน คุณภาพและประสิทธิภาพของงานที่เอกชนจะดำเนินการให้แก่รัฐ

ร้องปรับเกณฑ์ประมูล

ดังนั้น จึงไม่ควรพิจารณาให้ผู้ชนะการคัดเลือกเป็นผู้ที่เสนอผลประโยชน์ทางการเงินสูงสุดเท่านั้น แต่ควรพิจารณาถึงปัจจัยและผลกระทบด้านอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น ข้อเสนอด้านเทคนิคการดำเนินงาน ความน่าเชื่อถือ ศักยภาพและความสามารถของผู้ยื่นข้อเสนอ 

โดยสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ในการพิจารณาคัดเลือกเอกชนตามประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน เรื่องรายละเอียดของร่างประกาศเชิญชวน ร่างเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชนและสาระสำคัญของร่างสัญญาร่วมลงทุน พ.ศ.2563 ข้อ 4(8) ที่กำหนดให้ระบุหลักเกณฑ์และวิธีการในการตัดสินให้ชัดเจนเป็นคะแนนในด้านต่างๆ โดยข้อเสนอผลประโยชน์ที่รัฐจะได้รับและการขอสนับสนุนทางการเงินเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่จะต้องระบุให้ชัดเจนเป็นคะแนน

ดังนั้น เพื่อให้การคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มนี้ เป็นประโยชน์สูงสุดแก่รัฐ สามารถประสบความสำเร็จเปิดให้บริการแ่สาธารณชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับหลักเกณฑ์การคัดเลือกตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 

จึงขอให้ สคร.ในฐานะหน่วยงานที่มีอำนาจดูแลการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 มอบหมายให้คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนพิจารณาปรับปรุงการประเมินข้อเสนอ เพื่อหาผู้ชนะที่มีความเหมาะสม ชัดเจน ครบถ้วนและถูกต้องตามกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง

แจ้ง รฟม.พิจารณาข้อเสนอ

นอกจากนี้ สคร.ได้ทำหนังสือถึงนายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม.ลงวันที่ 13 ส.ค.2563 เรื่องการประเมินข้อเสนอการร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์ โดยอ้างถึงข้อเสนอของบริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ที่เห็นว่าโครงการนี้มีความเสี่ยงสูงมาก การคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนจึงไม่ควรพิจารณาให้ผู้ชนะการคัดเลือกเป็นผู้ที่เสนอผลประโยชน์ทางการเงินสูงสุดเท่านั้น

ทั้งนี้ สค.เห็นว่าข้อร้องเรียนดังกล่าวอยู่หน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 จึงแจ้งเรื่องดังกล่าวต่อให้ รฟม.เพื่อประกอบการพิจารณาตามกฎหมาย กฎและระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป

เอกชน 10 รายซื้อซองประมูล

สำหรับผู้ซื้อเอกสารข้อเสนอร่วมลงทุน 10 บริษัท ได้แก่

1.บริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM

2.บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) 3.บริษัทบีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) 

4.บริษัทซิโน–ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) 

5.บริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน)

6.บริษัทราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

7.บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน)

8.บริษัทกัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน)

9.ซิโนไฮโดร คอร์ปอเรชั่น ลิมิเต็ด

10.บริษัท วรนิทัศน์ ดีเวลอปเมนท์ จำกัด

159797810078