โควิดเร่งค้าปลีกทรานส์ฟอร์มแนะปั้นแพลตฟอร์มเจาะตรงดีมานด์ลูกค้า

โควิดเร่งค้าปลีกทรานส์ฟอร์มแนะปั้นแพลตฟอร์มเจาะตรงดีมานด์ลูกค้า

แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมค้าปลีกมีให้เห็นตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 และในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด ธุรกิจค้าปลีกบางแห่งยังมีการเติบโต! ขณะที่บางแห่งต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด

ผลการศึกษาของ เคพีเอ็มจี ประเทศไทย” เรื่องแนวโน้มของธุรกิจค้าปลีกในปี 2020 : ความเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับความเป็นจริงในรูปแบบใหม่ สะท้อนสถานการณ์โควิดได้กระตุ้นให้แนวโน้มความเปลี่ยนแปลงของธุรกิจค้าปลีกเกิดเร็วขึ้น ใน 4 ด้านหลัก ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงของรูปแบบธุรกิจ ความสำคัญของจุดยืนขององค์กร การมุ่งเน้นในการลดต้นทุน และอำนาจที่เพิ่มขึ้นของผู้บริโภค 

เจริญ ผู้สัมฤทธิ์เลิศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เคพีเอ็มจี ประเทศไทย เมียนมา และลาว กล่าวว่า  สถานการณ์โควิดเร่งการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เกิดอย่างรวดเร็วขึ้นและชัดเจนยิ่งขึ้น

แนวทางแรก การเปลี่ยนแปลงของรูปแบบธุรกิจ ก่อนวิกฤติการณ์โควิด การค้าปลีกผ่านหน้าร้านได้รับความนิยมผ่านจุดสูงสุดแล้ว แม้ว่าร้านค้าที่มีหน้าร้านยังจะสามารถกลับมาเติบโตได้ แต่เห็นได้ชัดว่าจากนี้ไปการเพิ่มยอดขายผ่านหน้าร้านอย่างเดียวนั้นเป็นไปได้ยากขึ้น ธุรกิจที่ยังไม่มีช่องทางออนไลน์หรือช่องทางการส่งสินค้าจะดำเนินไปได้ยากลำบากขึ้น แต่ละองค์กรจำเป็นที่จะต้องวิเคราะห์ห่วงโซ่คุณค่าขององค์กรใหม่ 

นอกจากการซื้อและการขายสินค้าแล้ว ธุรกิจจำเป็นที่จะต้องพัฒนาปัจจัยอื่นให้ดีด้วย ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มช่องทางการขายออนไลน์ การจัดส่งสินค้าถึงลูกค้าโดยตรง การวิเคราะห์ข้อมูล ปัญญาประดิษฐ์ การพัฒนาการเรียนรู้ของเครื่องจักร (Machine learning) และการใช้เครื่องจักรในระบบปฏิบัติการอัตโนมัติ ซึ่งหลายองค์กรเองก็กำลังมองหาแพลตฟอร์มที่จะสามารถทำสิ่งเหล่านี้ได้

แนวทางที่สอง จุดยืนองค์กรได้รับความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ” ผู้บริโภคตัดสินแบรนด์จากการกระทำและจุดยืนขององค์กร แบรนด์ที่แสดงให้เห็นว่าทำประโยชน์ให้กับประชาชนจะมีการเติบโตมากกว่าแบรนด์ที่ไม่ได้ทำประโยชน์ถึง 2.5 เท่า (ในระยะเวลา 12 ปี) ดังนั้นผู้ประกอบการค้าปลีกจึงจำเป็นที่จะต้องสร้างความโปร่งใสให้กับองค์กร แบรนด์ที่สนับสนุนเกื้อกูลลูกค้าและพนักงานของตนมากกว่าแบรนด์อื่นจะได้รับความไว้วางใจจากสังคมมากขึ้น

แนวทางที่สาม “พิจารณาทบทวนต้นทุนในการทำธุรกิจ” ผู้ประกอบการค้าปลีกต่างเล็งเห็นว่าการลดต้นทุนโดยใช้วิธีดั้งเดิมนั้นไม่เพียงพอต่อการประคับประคองผลประกอบการและฟื้นฟูธุรกิจได้ ซึ่งรวมถึงกลยุทธ์ “รัดเข็มขัด อย่างเคร่งครัดเพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์โควิดด้วย 

ผู้ค้าปลีกส่วนใหญ่ตระหนักถึงความจำเป็นที่พวกเขาต้องมีมาตรการที่พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและต้องมีความชัดเจนหากต้องการที่จะมีกำไรในปีถัดๆ ไป คาดว่าจะได้เห็นองค์กรลงทุนเพิ่มคุณค่าให้กับต้นทุนที่มีอยู่เดิมในเร็วๆ นี้ 

นอกจากนั้นการพิจารณาทบทวนค่าใช้จ่ายในการจัดการห่วงโซ่อุปทาน การจัดการสินค้าคงคลัง และการวางแผนต้นทุนในการขนส่งและรับสินค้าแล้ว เราจะได้เห็นผู้ค้าปลีกเริ่มทบทวนมูลค่าสินทรัพย์อื่นๆ ขององค์กร โดยเฉพาะร้านค้า พนักงาน และความภักดีของลูกค้าที่มีต่อแบรนด์ (Customer loyalty)

แนวทางสุดท้าย ตัวเลือกของผู้บริโภคกลายเป็นที่เพ่งเล็ง ในสภาพแวดล้อมปัจจุบัน ผู้บริโภคไม่ได้ต้องการตัวเลือกที่หลากหลายเท่ากับความพร้อมของสินค้าในคลังและการเข้าถึงได้ง่าย โดยเฉพาะในช่วงล็อกดาวน์! ร้านขายสินค้าอุปโภคบริโภคต่างหาวิธีลดจำนวนชนิดของสินค้าที่ขาย เน้นเฉพาะสินค้าที่มีความต้องการสูง ทำให้เพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการห่วงโซ่อุปทานและการจัดการเงินทุนหมุนเวียนขององค์กรให้ดีขึ้น 

ธุรกิจค้าปลีกที่จะแข่งขันและอยู่รอดได้มี 2 ประเภท ได้แก่ ธุรกิจที่เสนอสินค้าที่ตรงตามความต้องการของผู้บริโภค และธุรกิจที่เสนอขายสินค้าที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามต้องการของผู้บริโภค

แนวโน้มธุรกิจค้าปลีกทำให้เห็นได้ชัดว่า องค์กรจะต้องเตรียมพร้อมที่จะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยต้องเร่งพัฒนา Customer loyalty หาวิธีการและลักษณะการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลของลูกค้าใหม่ๆ มีจุดยืนที่ชัดเจนและโปร่งใสในการดำเนินธุรกิจ และลงทุนในแพลตฟอร์มที่จะเพิ่มประสิทธิภาพในการทำธุรกิจได้