'หมอระวี' เสนอนายกฯ ประกาศลด 'ราคาน้ำมัน' เปลี่ยนใจม็อบไล่รัฐบาล

'หมอระวี' เสนอนายกฯ ประกาศลด 'ราคาน้ำมัน' เปลี่ยนใจม็อบไล่รัฐบาล

"หมอระวี" เสนอนายกฯ ประกาศลด "ราคาน้ำมัน" เป็นของขวัญ มั่นใจประชาชนกลับใจเลิกไล่รัฐบาลแน่

การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้มีวาระการพิจารณาญัตติด่วน เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการปรับโครงสร้างราคาพลังงานและกองทุนน้ำมัน

น.พ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังธรรมใหม่ พลังงานเป็นสายเลือดใหญ๋ของธุรกิจ ราคาพลังงานขึ้นลงเพียงนิดเดียวจะมีผลต่อค่าครองชีพของประชาชน ซึ่งเป็นปัญหามาจากโครงสร้างพลังงาน ราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นของไทยมีความใกล้เคียงกับตลาดโลก แต่ปรากฎว่าราคาขายปลีกกลับมีความแตกต่างออกไป โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการจัดเก็บภาษี 

นพ.ระวี กล่าวว่า สำหรับปัญหาโครงสร้างราคาพลังงานมีด้วยกัน 4 ประการ ประกอบด้วย 1.ปัญหาราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่น รัฐบาลมีการกำหนดว่าราคาน้ำมันเบนซินและดีเซลสำเร็จรูปที่หน้าโรงกลั่นให้ใช้ราคาเสมือนนำเข้าจากสิงคโปร์ หมายความว่าราคาเหล่านี้บวกค่าขนส่งจากสิงคโปรถึงศรีราชา และค่าใช้จ่ายๆที่เรียกรวมกันว่าค่าพรีเมี่ยม ทั้งๆที่เราไม่ได้มีการนำเข้าจริง จึงคำถามว่าเงินเหล่านี้ใครเป็นคนได้  รัฐบาลต้องมีมาตรการส่งเสริมกลไกตลาดเสรีที่แท้จริง โดยให้อุตสาหกรรมปิโตรเลียมมีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม ป้องกันการผูกขาดไม่ว่าโดยตรงหรือทางอ้อม และคุ้มครองผู้บริโภคตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด นอกจากนี้ กระทรวงพลังงานต้องยุติการให้เงินกินเปล่ากับโรงกลั่นน้ำมันที่มีการกำหนดให้ราคาน้ำมันที่กลั่นในประเทศ

นพ.ระวี กล่าวอีกว่า 2.ราคาก๊าซหน้าโรงแยกแก๊ส ปี 2560 เรามีปริมาณแก๊สเแอลพีจีพอเพียงโดยนำเข้าเพียง 4%เท่านั้น เมื่อปี 2557 รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ยกเลิกการกำหนดราคา ณ โรงกลั่นของโรงแยกก๊าซธรรมชาติที่ระดับ 10 ต่อกิโลกรัม ทำให้เกิดการลอยตัวของราคา ต่อมาปี 2559 กระทรวงพลังงานยังได้กำหนดให้ราคาแก๊สออลพีจีหน้าโรงแยกแก๊สของไทยเป็นราคาเสมือนนำเข้าจากประเทศซาอุดิอาระเบียบวกค่าขนส่ง คล้ายกับปัญหาน้ำมัน ราคาที่บวกเข้าไปนั้นทำให้ราคาของไทยแพงกว่าการนำเข้าจากประเทศซาอุฯ โดยราคาแก๊สแอลพีจีที่ตะวันออกกลางอยู่ที่ 13.23 บาทต่อกิโลกรัม แต่ของไทยอยู่ที่ 15.40 บาทต่อกิโลกรัม แก๊สของเราสามารถผลิตเองได้แต่กลับมีราคาสูง จึงเป็นปัญหาว่าใครได้ประโยชน์

รัฐบาลให้เหตุผลถึงการลอยตัวราคาแก๊สเพราะธุรกิจโรงแยกแก๊สไม่สามารถดำเนินธุรกิจไปได้ แต่จากข้อเท็จจริงพบว่าปี 2557 ก่อนลอยตัวราคาแก๊ส ธุรกิจเหล่านี้มีกำไรประมาณ 3.9 หมื่นล้านบาท หลังจากลอยตัวราคา ปี 2558 มีกำไร 4.7 หมื่นล้านบาท ปี 2559 มีกำไร 7.2 หมื่นล้านบาท ทั้งๆที่เมื่อราคาสูงขึ้นและประชาชนใช้แก๊สแอลพีจีน้อยลง แต่ธุรกิจกลับมีกำไรเพิ่มขึ้นมากขึ้น 

หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ อภิปรายต่อไปว่า 3.ปัญหาราคาเอทานอล รัฐบาลกำหนดให้โรงกลั่นของไทยซื้อเอทานอลในประเทศ 22.04 บาทต่อลิตร แต่ราคาตลาดโลกที่สหรัฐอเมริกามีราคา 11.14 บาทต่อลิตร ทำให้ราคาของไทยแพงกว่าตลาดโลก 10.90 บาท ถ้าเราซื้อราคาสูงขนาดนี้แล้วผู้ทีได้ประโยชน์ คือ เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังหรืออ้อย จะไม่เป็นปัญหาเลย แต่ปรากฎว่าเกษตรยังขายได้ในราคาที่ต่ำแม้ว่าราคาเอทานอลจะสูงแค่ไหนก็ตาม  4.ปัญหาการใช้เงินกองทุน ที่ผ่านมมีการใช้เงินไปอุดหนุนจำนวนมาก เสมือนเป็นการอำพรางปัญหาราคาพลังงานและสร้างภาระให้กับประชาชนโดยไม่จำเป็น เพราะการชดเชยราคานั้นเป็นการชดเชยให้กับโรงกลั่น จึงเป็นการสร้างกำไรให้ผู้ประกอบการบางรายเกินควรหรือไม่

"ขอเสนอรัฐบาลว่านโยบายพลังงานที่ไม่ได้มีการปรับโครงสร้างราคาพลังงานจะไม่ใช่นโยบายพลังงานเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง โดยหวังว่านายกฯจะประกาศลดราคาน้ำมัน 2-3บาทต่อลิตรเพื่อเป็นของขวัญให้กับประชาชนในช่วงโควิด ถ้านายกฯกล้าที่จะประกาศ ผมเชื่อว่าประชาชนที่ไล่ท่านเวลานี้จะเปลี่ยนใจให้ท่านอยู่ต่อในฐานะที่ท่านเป็นอัศวินม้าขาวที่มาแก้ปัญหาเศรษฐกิจทันยุคโควิด" นพ.ระวี กล่าวสรุป