หนังเล่าโลก : The Politician

หนังเล่าโลก : The Politician

ในช่วงที่การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐใกล้เข้ามาทุกขณะ การหาหนังเกี่ยวกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีมาดูนับว่าเข้าบรรยากาศไม่ใช่น้อย ซีรีส์ "The Politician : นักกวนเมือง" ทางเน็ตฟลิกซ์ถือว่า ตอบโจทย์ได้ดี

  

แม้เป็นเรื่องการเลือกตั้งในโรงเรียน และลงจอมาตั้งแต่ ก.ย.ปีก่อน แต่ก็สะท้อนการเมืองอเมริกันในภาพใหญ่ได้ดี ดูตอนนี้ก็ไม่สายเกินไป 

หนังเล่าเรื่องของ เพย์ตัน โฮบาร์ต หนุ่มเนิร์ดนักเรียนมัธยมปลาย ทายาทมหาเศรษฐีอเมริกัน ผู้ใฝ่ฝันอย่างแรงกล้าว่าสักวันหนึ่งต้องเป็นประธานาธิบดีให้ได้ และด่านแรกที่จะปูทางไปสู่ตำแหน่งอันยิ่งใหญ่ เขาต้องเป็น "ประธานนักเรียน" ให้ได้เสียก่อน

แค่งานแรกก็ถือว่าหินเสียแล้ว เพราะเพย์ตันต้องแข่งกับ วิกเตอร์ หนุ่มฮ็อต ผู้เพอร์เฟกต์ทุกอย่าง แถมยังเป็นติวเตอร์ภาษาจีนให้เขาเสียด้วย ดูแล้วคล้ายๆ เพื่อนรักหักเหลี่ยมโหด ที่ต้องมาลงเลือกตั้งแข่งกันเองชิงตำแหน่งประธานนักเรียน

การจะคว้าเสียงจากเพื่อนนักเรียนด้วยกัน ตัวผู้สมัครคนเดียวคงไม่สามารถบรรลุความสำเร็จได้ แต่ต้องมีทีมงานหาเสียงที่ดี และคู่ชิง "รองประธานนักเรียน" ที่เหมาะสมด้วย 

เมื่อคู่แข่งเลือกนักเรียนหลากหลายทางเพศผิวสี มาเป็น Running Mate เพย์ตันก็ต้องเลือกคู่ชิงที่มาเติมเต็มตัวเขาให้ได้เช่นกัน เพย์ตันเลือก “อินฟินิตี้” สาวน้อยผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งมาเป็นคู่ชิงรองประธาน

159791437656

ผู้เขียนดูมาถึงตอนนี้เมื่อราว 2 สัปดาห์ก่อน นับว่าเป็นจังหวะการดูที่พอเหมาะพอดี เพราะตอนนั้นข่าวการเมืองสหรัฐกำลังลุ้นกันมาก ว่า อดีตรองประธานาธิบดีโจ ไบเดน ตัวแทนพรรคเดโมแครตจะเลือกใครมาเป็นคู่ชิงรองประธานาธิบดี

เขาเคยให้คำมั่นว่า จะเลือกผู้หญิงมารับหน้าที่นี้ ประกอบกับก่อนหน้านั้นกระแสประท้วง “Black Lives Matter” (ชีวิตคนดำก็สำคัญ)  มาแรงมาก ชนวนเหตุมาจากชายผิวดำนาม "จอร์จ ฟลอยด์" เสียชีวิตเพราะถูกตำรวจใช้กำลังรุนแรง จนผู้คนต้องลงถนนเรียกร้องความเป็นธรรมให้คนผิวดำ และปฏิรูปวงการตำรวจ การประท้วงขยายวงไปทั่วโลก 

ด้วยเหตุนี้จึงมีการเก็งกันว่า คนที่ไบเดนเลือกน่าจะเป็นผู้หญิงผิวสี คนที่อยู่ในลิสต์ เช่น แทมมี ดักเวิร์ธ ส.ว.เชื้อสายไทยจากรัฐอิลลินอยส์ อดีตทหารผ่านศึกผู้ต้องเสียขาทั้งสองข้างในสงครามอิรัก เพราะเธอมีเชื้อสายไทยคนไทยจึงลุ้นกับแทมมีมาก ถึงขนาดมีข่าวลือในเฟซบุ๊คว่า ไบเดนเลือกแทมมี!!! ผลสรุปก็คือเฟคนิวส์

ตัวเก็งคนอื่นๆ เช่น ส.ส.คาเรน เบส และ ส.ว.คามาลา แฮร์ริส จากรัฐแคลิฟอร์เนีย ที่สุดท้ายกลายเป็นคนที่ใช่สำหรับไบเดน 

159791443677

แว้บแรกที่เห็นหน้าและได้ยินชื่อ คามาลา แฮร์ริส ผู้เขียนสงสัยทันทีว่า “เธอมีเชื้อสายอินเดียหรือเปล่า ถ้าใช่ เธอน่าจะชื่อกมลากระมัง” 

และเมื่อทราบว่า ส.ว.วัย 55 ปีรายนี้มีมารดาเป็นชาวอินเดียที่เดินทางมาศึกษาต่อระดับปริญญาเอกในสหรัฐ ส่วนบิดาเป็นชาวจาเมกา ผู้เขียนก็เรียกเธอว่า “คุณกมลา” มาโดยตลอด และขออนุญาตเรียก ณ ที่นี้ 

(สอบถามไปยังเพื่อนอินเดียได้ความว่า กมลา เป็นชื่ออินเดีย แปลว่า บัว ถ้าเป็นชายใช้ว่า กมล ซึ่งภาษาไทยก็มีชื่อแบบนี้เหมือนกัน แปลว่า บัว หรือใจ ก็ได้ ส่วนกมลาในภาษาไทยเป็นชื่อฉันท์วรรณพฤติ)

ว่ากันว่าไบเดนได้ความนิยมในหมู่ชาวอเมริกันผิวดำมาก การได้คุณกมลามาเป็นคู่ จะช่วยเติมเต็มคะแนนจากคนผิวสีได้อีก 

ทันทีที่คุณกมลาได้รับเลือกประชาชนในจาเมกาก็ตื่นเต้น เรียกเธอว่า พลเมืองจาเมกากิตติมศักดิ์ทันที

“หัวใจของฉันพองโต ดีใจแทนเด็กๆ ทุกคนที่มองเธอเป็นตัวแทน เด็กผู้หญิงอีกมากมายที่เคยฝันในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ จะกล้าฝันไกลกว่าเดิมเพราะสิ่งนี้” เฟลิเซีย มิลส์ เลขานุการผู้บริหาร วัย 36 ปี ในกรุงคิงส์ตันของจาเมกา กล่าวถึงผู้สมัครรองประธานาธิบดีสหรัฐจากพรรคเดโมแครต

ส่วนที่ อินเดีย บ้านเกิดมารดาคุณกมลาก็เกิดกระแสคลั่งไคล้ไม่แพ้กัน ชาวเน็ตอินเดียถึงขนาดสืบหาไปถึงบ้านตายายในย่านเบสันต์ นาการ์ เมืองเชนไนทางภาคใต้ของอินเดีย ที่ชยามาลา โกปาลาน มารดาของคุณกมลา เคยอยู่อาศัยก่อนออกไปศึกษาต่อระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียเบิร์กลีย์

มีการขุดภาพคุณกมลา และน้องสาว สวมส่าหรี ยิ้มเบิกบานถ่ายรูปร่วมกับตายายและหลานๆ ระหว่างที่เธอมาเยี่ยมเมื่อหลายปีก่อนด้วย

ด้วยวัย 55 ปีประกอบกับความเป็นผู้หญิงผิวสีของคุณกมลาได้สร้างสีสันให้กับการเลือกตั้งประธานาธิบดี ที่ปีนี้คู่แข่งคนสำคัญมีแต่ชายสูงอายุผิวขาว ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ วัย 74 ปี และไบเดน วัย 77 ปี จนอดคิดไม่ได้ว่า ในประเทศเสรีอย่างสหรัฐทำไมการก้าวขึ้นเป็นผู้นำของผู้หญิงถึงได้ยากนักยากหนา

สมัย ฮิลลารี คลินตัน สมัครเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตก็ต้องพ่ายให้กับบารัก โอบามา ครั้นเธอได้เป็นตัวแทนพรรคในปี 2559 ลงสู้ศึกประธานาธิบดีก็ต้องพ่ายให้กับคนนอกวงการอย่างโดนัลด์ ทรัมป์

สำหรับคุณกมลา แม้คราวนี้จะสมัครในตำแหน่งรองประธานาธิบดี แต่ก็เป็นผู้หญิงผิวสีคนแรกที่เป็นตัวแทนพรรคลงตำแหน่งใหญ่ขนาดนี้ และไม่ว่าไบเดนจะได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีหรือไม่ ภายใน 4-8 ปี คุณกมลาจะได้เป็นตัวแทนพรรคเดโมแครต ลงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ วันที่ี 3 พ.ย.นี้

คอการเมืองทั่วโลกคงใจจดใจจ่อรอผลการเลือกตั้ง ที่ถือเป็นการปูทางให้กับผู้หญิงผิวสีคนหนึ่งมีโอกาสไต่เต้าสู่ตำแหน่งผู้นำมหาอำนาจโลกต่อไป ระหว่างนี้ทั้งชาวเดโมแครต แฟนคลับในจาเมกาและอินเดีย คงต้องเอาใจลุ้น “คุณกมลา”