'ธุรกิจ' ยุคใหม่ไปได้สวย ด้วย 10 เทคนิค 'การพูด' ฟังง่าย จับใจคน

'ธุรกิจ' ยุคใหม่ไปได้สวย ด้วย 10 เทคนิค 'การพูด' ฟังง่าย จับใจคน

หยิบ 10 เทคนิค จาก 100 เทคนิคพูดฟังง่ายจับใจคน สไตล์ "หนิง ศรัยฉัตร กุญชร ณ อยุธยา จีระแพทย์" ประยุกต์ใช้กับ "ธุรกิจ" ยุคใหม่ ที่ช่วยให้ดูเป็นมืออาชีพ และมีโอกาสประสบความสำเร็จในวันที่การสื่อสารสำคัญไม่แพ้การบริหาร

"การพูด" เป็นเรื่องสำคัญต่อการดำเนินชีวิตของทุกคนมาทุกยุคสมัย แม้แต่ในยุคดิจิทัลการพูดก็ยังเป็นทักษะสำคัญ ที่เป็นองค์ประกอบหนึ่งที่ช่วยให้เข้าใกล้ "ความสำเร็จ" ได้ โดยเฉพาะการทำ "ธุรกิจ" ที่ต้องอาศัยการสื่อสารที่ชัดเจน ความไว้เนื้อเชื่อใจ การสื่อสารที่สร้างความประทับใจทั้งภายในและภายนอกองค์กร การสื่อสาร เป็นเรื่องที่สำคัญ ไม่ว่าคุณจะอยู่หน่วยไหนของธุรกิจ จะเป็นพนักงานระดับปฏิบัติงาน เป็นหัวหน้า เป็นผู้บริหาร เป็นเจ้าของธุรกิจ หรือแม้แต่ผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระ "การพูด" ก็ช่วยให้คุณประสบความสำเร็จได้ทั้งนั้น

หนิง ศรัยฉัตร กุญชร ณ อยุธยา จีระแพทย์ ในฐานะ MC อีเวนต์ ผู้มีประสบการณ์กว่า 20 ปี ได้เผยเคล็ดลับใน Work Shop "100 เทคนิคพูดฟังง่ายจับใจคน" พร้อมแนะนำเทคนิคการพูดฟังง่ายจับใจคน ที่ช่วยส่งเสริมให้ผู้พูดประสบความสำเร็จในเป้าหมายของตัวเอง ที่สามารถประยุกต์ได้กับการพูดทุกสถานการณ์ ดังนี้ 

159792738749

 1. เป็นนักอ่านที่ดี 

อยากพูดเก่ง เกี่ยวอะไรกับการอ่าน? คนที่จะพูดได้ดี จะต้องเป็นนักอ่านที่ดีด้วย เนื่องจากการเป็นนักอ่านจะช่วยให้เติมข้อมูลข่าวสารสิ่งต่างๆ รอบตัวที่นอกจากจะช่วยให้เราได้ความรู้เพิ่มเติมอยู่แล้วยังช่วยเสริมให้ดูฉลาดรอบรู้ และมีเสน่ห์มากขึ้น เมื่อสามารถเชื่อมโยงสิ่งต่างๆ รอบตัวหรือเรื่องราวที่เกิดขึ้นอย่างทันเหตุการณ์ ช่วยสร้างความน่าเชื่อถือ

โดยคนอ่านหนังสือมากมีวิสัยทัศน์กว้างไกล รู้วิธีการแก้ปัญหา มีไหวพริบเวลาเกิดปัญหาการพูดเฉพาะหน้า จะสามารถแก้ไขสถานการณ์ได้อย่างยอดเยี่ยม ทั้งนี้งานวิจัยระบุว่าคนที่อ่านหนังสือเยอะจะประสบความสำเร็จมากกว่าคนที่อ่านหนังสือน้อยหรือไม่อ่านเลยอีกด้วย

 2. มีมารยาทการพูดที่ดี 

มารยาททางสังคม จะทำให้ผู้พูดเป็นที่ยอมรับ ซึ่งเป็นผลดี และเป็นประโยชน์ต่อตัวเองด้วย ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุยธุรกิจกับคนที่อายุมากกว่า หรือน้อยกว่า พูดในที่ประชุม เสนองาน บรรยาย ล้วนต้องรักษามารยาททั้งสิ้น อาทิ การแต่งกายให้เหมาะสมกับกาลเทศะซึ่งบ่งบอกถึงมารยาทของนักพูดให้เกียรติงานและให้เกียรติคนฟัง พูดจาไพเราะ สุภาพ อ่อนน้อม มีหางเสียง ไม่พูดคำหยาบโดยเด็ดขาด ใช้คำพูดถึงผู้อื่นอย่างให้เกียรติ ไม่พูดให้ใครเสียหาย ไม่เหยียดหยาม ไม่ประชดประชัน ไม่พูดจาตรงเกินไป ไม่พูดเรื่องที่ไม่จำเป็น รู้จักกล่าวทักทาย ยิ้มแย้มแจ่มใส รู้จักกล่าวลา และขอบคุณ รวมถึงมีความตรงต่อเวลา ไม่ไปถึงเร็วเกินไป หรือไปถึงช้าโดยเด็ดขาด การมีมารยาทการพูดที่ดี จะช่วยสร้างความน่าเชื่อถือ รวมถึงมีเสน่ห์มากยิ่งขึ้น และมีผลในมิติการทำธุรกิจด้วยเช่นกัน 

 3. ใส่ "หัวใจ" ลงไปในการพูด 

การพูดที่มาจากใจคือการพูดที่ทรงพลังซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถแสดงออกได้ทางสายตา ภาษากาย และการสื่อสารออกมาอย่างเป็นธรรมชาติที่ดูไม่ใช่การแสดง ไม่ได้มาจากการท่องจำ การพูดในลักษณะนี้จะเกิดมาจากความเข้าอกเข้าใจเรื่องที่พูด เช่น แสดงความเข้าใจเพนพ้อยท์ที่ลูกค้าต้องเจอ ก่อนนำไปสู่การอธิบายคุณสมบัติของสินค้าที่จะนำมาสู่การขาย ซึ่งการพูดที่ดูจริงใจ ไม่พยายามยัดเยียด ผู้ฟังย่อมสัมผัสได้ และมีโอกาสเกิดความประทับใจได้มากกว่า

"การพูดที่มีวาทะศิลป์ ที่ตรึงผู้ฟังได้ คือกิริยาท่าทาง ไม่ใช่คำพูด" - เอลเบิร์ต ฮับบาร์ด นักเขียน ศิลปิน และนักปรัชญาชาวอเมริกัน

 4. รู้จักคนฟัง 

พื้นฐานของการพูดที่ทำให้เราประสบความสำเร็จได้คือการเข้าใจคนฟังโดยต้องวิเคราะห์ว่า คนฟังคือใคร เช่น พูดกับลูกค้าต้องอ่อนน้อม ประนีประนอม และคำนึงถึงสิ่งที่ลูกค้าต้องการ  พิจารณาว่าคนฟังต้องการอะไร เช่น ในมิติของการเจรจาธุรกิจ ผู้ฟังอยากรู้รายละเอียดสิ่งที่เขาได้รับจากการร่วมธุรกิจ ดังนั้นการพูดจึงเป็นการให้ข้อมูลและยกตัวอย่างต่างๆ เพื่อให้มีความเข้าใจที่ตรงกัน และชี้ในเห็นว่าการทำธุรกิจในครั้งนี้ทั้ง 2 ฝ่าย จะได้ประโยชน์อะไรบ้าง เป็นต้น

159792758217

 5. พูดให้เกิดประโยชน์ 

การพูดที่ดี คือการผู้ที่เกิดประโยชน์ทั้งต่อผู้พูดและผู้ฟัง อะไรที่พูดแล้วเกิดความเสียหาย ความแตกแยก สร้างความโกรธเคือง นับว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรพูด หรือเป็นการพูดที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ ดังนั้นทุกครั้งที่จะพูด เรื่องราวจึงควรเป็นเรื่องที่พูดแล้วเกิดประโยชน์ทั้งต่อตัวผู้พูดเอง ต่อองค์กร ที่สามารถสร้างชื่อเสียง สร้างกำไร หรือช่วยให้สถานการณ์ต่างๆ ดีขึ้น 

เช่น กรณีตัวอย่างพนักงานขายเห็นลูกค้าจับเสื้อตัวหนึ่งด้วยท่าทีพอใจ พนักงาน A ถามว่าลูกค้าสนใจรับเสื้อตัวนี้สีขาวหรือสีฟ้าดีคะ ส่วน พนักงาน B ถามว่าลูกค้าจะรับเสื้อตัวนี้ไหมคะ การพูดให้เกิดประโยชน์จะมีลักษณะคล้ายกับพนักงาน A เพราะเสนอทางเลือกให้กับลูกค้าว่าจะตัดสินใจรับสีไหน โดยเป็นทางเลือกที่นำไปสู่การขายทั้งคู่ ในทางกลับกันการพูดแบบพนักงาน B ทำให้ลูกค้าลังเลว่าจะซื้อหรือไม่ซื้อดี ซึ่งการพูดแบบพนักงาน A จะมีโอกาสปิดการขายได้ง่ายกว่า และนับว่าเป็นการพูดให้เกิดประโยชน์มากกว่านั่นเอง

 6. ตีกรอบหัวข้อที่จะพูด 

ประโยชน์ของการตีกรอบหัวข้อที่จะพูดจะทำให้เราสามารถคิดอย่างเป็นระบบ ตามลำดับความสำคัญของเรื่องที่ต้องการสื่อสาร 1 2 3 ซึ่งจะทำให้เราพูดง่ายขึ้น รู้ว่าต้องพูดอะไร แล้วพูดไปถึงไหนแล้ว เมื่อลืมสิ่งที่จะพูดก็แค่นึกถึงกรอบที่วางไว้ ช่วยให้นึกออกว่ายังมีส่วนไหนที่ตกหล่นหรือบกพร่องไป นอกจากนี้ ยังช่วยให้เราไม่พูดออกนอกเรื่องทำให้คนฟังไม่รู้สึกเบื่อ ซึ่งในมิติของการพูดคุยธุรกิจทำให้เรามีโอกาสไปถึงเป้าหมายของการเจรจาได้อย่างตรงจุด และดูเป็นมืออาชีพ

 7. ใช้เสียงให้เป็น 

นอกจากเนื้อหาในการพูดแล้ว "น้ำเสียง" คือตัวแปรสำคัญที่ทำให้ผู้ฟังรู้สึกประทับใจหรือไม่ประทับใจ โดยการพูดทุกครั้ง ควรคำนึงถึงหลัก 5 ข้อเพื่อเลือกใช้ให้เหมาะกับข้อความที่ต้องการสื่อสาร

7.1 ความดังของเสียง การพูดดังฟังชัด นอกจากจะช่วยให้คนได้ยินอย่างชัดเจนแล้ว ยังช่วยเพิ่มพลังในการส่งเสริมเนื้อหาของเราด้วย โดยการพูดเสียงดังไม่ใช่หมายถึงการตะโกนแต่เป็นการพูดอย่างเต็มเสียงของตัวเองอย่างเป็นธรรมชาติ

7.2 จังหวะการพูด ความช้าหรือเร็วของการพูดมีผลต่อความหมายของข้อความที่จะสื่อสาร ทั้งยังช่วยสื่ออารมณ์ และความกังวลของผู้พูดได้ ดังนั้นการคุมจังหวะให้ดี ไม่เร็วหรือช้าจนเกินไป จะช่วยให้ดูเป็นมืออาชีพและน่าติดตามจนจบ

7.3 ระดับเสียง การใช้ระดับเสียงที่ไม่ใช่การพูดระดับเดียว จะช่วยให้ฟังแล้วไม่น่าเบื่อ และช่วยให้ผู้ฟังรู้สึกผ่อนคลายไม่อึดอัด เช่น เน้นเสียงตื่นเต้นเมื่อมีการตั้งคำถาม หรือลดเสียงเบาเมื่อต้องเน้นย้ำส่ิงที่เป็นความลับบางอย่าง

7.4 น้ำเสียง การใช้น้ำเสียงที่แตกต่างทำให้มีการสื่อความหมายที่แตกต่างไปด้วย ซึ่งการใส่ใจในเรื่องน้ำเสียงเวลาพูด ว่าจะจริงจัง เข้มแข็ง อ่อนน้อม ขอร้อง จะช่วยป้องกันความเข้าใจผิด โดยควรใช้น้ำเสียง อารมณ์ และข้อความที่พูดควรเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

7.5 ความเงียบ ความเงียบถือเป็นการสื่อสารอย่างหนึ่ง การพูดแล้วหยุดเงียบ 2-3 วินาที เป็นอีกหนึ่งเทคนิคที่สามารถช่วยย้ำคำที่เราพูดไปก่อนหน้านี้ได้ด้วย

159792773114

 8. พูดให้ง่ายและเข้าถึง 

การบรรยายอะไรที่มากเกินไปทั้งข้อมูลที่ท่วมท้น เวลาที่ยาวนาน ภาษากายที่ดูน่ารำคาญ รวมไปถึงการใช้ศัพท์เทคนิคที่ต้องอาศัยการตีความระหว่างฟัง การพูดลักษณะที่ยัดเยียดทุกสิ่งทุกอย่างให้คนฟังในเวลาที่จำกัดเป็นหายนะอย่างยิ่งในการพูด

การพูดที่ดีควรอยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจง่าย ใช้ภาษาที่ช่วยสื่อสารให้เข้าใจถึงความหมายที่แท้จริงของเรื่อง เมื่อมีศัพท์เทคนิคหรือคำยากที่มีเพียงคนบางกลุ่มเข้าใจ ควรเติมคำอธิบายหรือคำแปลให้เข้าใจง่ายตามหลังมาเสมอ รวมถึงหลีกเลี่ยงการใช้ภาษาอังกฤษแบบทับศัพท์ สลับไปสลับมากับภาษาไทยที่ทำให้เกิดความสับสนหรือความรำคาญ ขณะเดียวกัน ใช้คำให้สละสลวยแต่พองาม พอมีเสน่ห์ ไม่มัวสนใจกับความงามภาษาจนลืมเนื้อหาที่แฝงอยู่ ซึ่งการสื่อสารให้คนฟังเข้าถึงง่ายจะทำให้รู้สึกไม่ห่างเหิน และไปถึงเป้าหมายของการสื่อสารได้ดีกว่าต้องตีความซ้ำไปซ้ำมา

 9. ยิ้ม 

เมื่อต้องพูดต่อหน้าคนอื่น หลายคนมักจะกังวลเกี่ยวกับข้อมูลที่จะพูดจนลืมยิ้มระหว่างที่พูด ซึ่งหารู้ไม่ว่าการ "ยิ้ม" คืออาวุธลับที่จะช่วยทำให้ความเครียดในตัวผู้พูดและผู้ที่กำลังฟังลดลง นอกจากนี้ ยังทำให้เราดูมีความมั่นใจ ช่วยให้สามารถผูกมิตรกับคู่สนทนาได้ง่ายขึ้น อีกทั้งยังแสดงให้เห็นว่า เราเป็นคนคิดบวก อารมณ์ดี ทำให้สมองสดชื่นกระปี้กระเป่า และสามารถพูดได้คล่องขึ้นเมื่อเวลาผ่านไปด้วย

"การยิ้มให้คนฟังเป็นการกระตุ้นเซลล์สมองกระจกเงาซึ่งเซลล์สมองกลุ่มที่ทำให้เราทำตามคนอื่นกล่าวคือเมื่อคนพูดยิ้มให้คนฟังคนฟังก็ยิ้มตาม" 

159792723545

ที่มาภาพ: allaboutstevejobs.com

 10. พูดให้คนฟังเห็นภาพ 

ทักษะการพูดที่ควรฝึกฝน คือการพูดที่ทำให้คนฟังเข้าใจง่ายและเห็นภาพในสิ่งที่เรากำลังสื่อสาร ผู้ฟังจะสามารถประมวลคำพูด และค่อยๆ จินตนาการเป็นภาพอยู่ในหัว ซึ่งจะช่วยให้เข้าใจมากขึ้น 

เทคนิคในการทำให้ผู้ฟังเห็นภาพตาม อาจจะอาศัยการเปรียบเปรยกับบางสิ่งบางอย่าง ใช้การอธิบายอย่างละเอียดมากขึ้น เช่น การพรีเซนต์ผลิตภัณฑ์ใหม่ของ Steve Jobs ที่มักใช้การเปรียบเปรยสินค้ากับบางสิ่งบางอย่างที่ผู้ฟังคุ้นเคย เช่น การเปิดตัว Mac Book Air รุ่นแรกที่เปรียบเทียบกับซองเอกสารสีน้ำตาลตามสำนักงานทั่วไป ที่สะท้อนให้ผู้ฟังเห็นว่าแลปทอปรุ่นนี้บางเฉียบ และพกพาไปไหนมาไหนได้สะดวกมากๆ เมื่อผู้ฟังเห็นภาพจะทำให้การพูดของเราชัดเจนขึ้น ทำให้การพูดมีประสิทธิภาพ และมีโอกาสประสบความสำเร็จตามเป้าหมายของการพูดมากขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน