4 ที่ (ไม่) ลับ ฉบับ ‘ยะลา’

4 ที่ (ไม่) ลับ ฉบับ ‘ยะลา’

ไม่ต้องลับ ไม่ต้องลวง ไม่ต้องพราง กับ 4 ของดีที่พลาดไม่ได้แห่งเมือง “ใต้สุดแดนสยาม” นามว่า ‘ยะลา’

เดี๋ยวนี้อะไรก็ต้องต่อท้ายด้วยคำว่า ‘ลับ’ ทั้งร้านลับ, คาเฟ่ลับ, บาร์ลับ แม้ว่าจะ ‘ลับจริง’ หรือ ‘ลับหลอก’ ก็ดึงดูดให้คนแห่ไปเที่ยวกันได้ แต่ความลับแบบ Man Made คงไม่น่าค้นหาเท่ากับดินแดนที่อยู่ไกลออกไปจนสุดแดนใต้ของประเทศ จังหวัดที่หลายคนยังมีภาพจำเชิงลบ ณ ที่ที่เต็มไปด้วยความ ‘ลับ’ ยังรอคอยนักเดินทางมาไขปริศนาว่า ยะลา มีดีอะไร

และโครงการวิจัย ‘การศึกษาศักยภาพการท่องเที่ยวจังหวัดยะลาเชื่อมโยงอาเซียน’ กับโครงการวิจัย ‘แนวทางพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนต้นแบบจังหวัดยะลา’ ที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือ (MOU) ระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) หรือ สกว.เดิม และจังหวัดยะลา ยิ่งมีส่วนค้นหาความงดงามของพื้นที่ผ่านเครื่องมือวิจัย และต่อไปนี้คือ 4 ของดีที่เป็นเพียงส่วนหนึ่งในหลายสิ่งที่ต้องห้ามพลาดเมื่อมายะลา

  • ศรัทธาคน ‘ชุมชนหน้าถ้ำ’

ไม่เพียงชื่อที่ดูลึกลับและมีมนต์ขลัง เพราะความเป็นมาของพื้นที่นี้ก็ชวนค้นหาไม่แพ้กัน ตามตำนานเล่าว่าตำบลหน้าถ้ำ เป็นเกาะหนึ่งที่มีน้ำล้อมรอบ ไม่มีผู้คนอาศัยอยู่ แต่มีหลักฐานว่าเคยมีมนุษย์อยู่อาศัยตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ภายในนั้นพบหลักฐานเป็นภาพเขียนที่ถ้ำศิลป์ และในยุคประวัติศาสตร์ราวพุทธศตวรรษที่ 14-15 ก็มีหลักฐานร่องรอยการดัดแปลงถ้ำเป็นพุทธสถานแบบมหายานมาก่อน

เมื่อราวสองร้อยปีก่อน มีประชาชนมาลงหลักปักฐาน ณ ที่แห่งนี้ โดยอพยพมาจากปัตตานี, สงขลา และพัทลุง กลุ่มแรกที่ตั้งถิ่นฐานเป็นชาวไทยเชื้อสายมลายูนับถือศาสนาอิสลาม แต่ก็มีเรื่องที่น่าสนใจคือเมื่อปี 2392 ชาวมุสลิมบ้านหน้าถ้ำได้ค้นพบพระพุทธรูปในถ้ำคูหาภิมุข เมื่อชาวจีนและไทยพุทธจากบ้านเปาะเส้งทราบเรื่อง จึงมาเจรจาขอแลกเปลี่ยนพื้นที่กัน นับจากนั้นชุมชนชาวมุสลิมจึงย้ายไปอยู่ที่บ้านเปาะเส้ง ส่วนชาวพุทธก็มาอยู่ที่บ้านหน้าถ้ำจนถึงปัจจุบัน

สำหรับแหล่งท่องเที่ยวของชุมชนหน้าถ้ำมีอยู่หลายแห่ง เช่น สถานที่ที่เกี่ยวพันกับประวัติศาสตร์ชุมชนอย่าง วัดถ้ำคูหาภิมุข โบราณสถานอายุกว่า 1,300 ปี ในสมัยอาณาจักรศรีวิชัย แต่ตัววัดเองมีอายุราว 172 ปี คือสร้างเมื่อปี 2390 ปลายรัชกาลที่ 3 ภายในวัดถ้ำมี พระนอนศรีวิชัย สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยศรีวิชัย ประดิษฐานอยู่ในถ้ำ สูงกว่าระดับพื้นดินประมาณ 50 เมตร องค์พระยาวประมาณ 81 ฟุต รอบองค์พระประมาณ 35 ฟุต เล่าขานกันว่าสร้างด้วยไม้ไผ่ขัดสานเป็นทรงและโบกปูนทราบทับภายนอก

ความแตกต่างจากพระนอนองค์อื่นคือเป็นปางไสยาสน์ที่มีพญานาค 2 ตัว พันกันทอดตัวไปตามองค์พระแล้วจมไปใต้พื้นดิน คาดว่าหมายถึงพญาอนันตนาคราชขององค์พระนารายณ์บรรทมสินธุ์ในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู

ด้านความเชื่อและศรัทธา ชาวบ้านในพื้นที่และละแวกใกล้เคียงเคารพวัดนี้และพระพุทธรูปองค์นี้อย่างมาก ทุกเทศกาลจะมีผู้คนแห่แหนมากราบไหว้ และเชื่อกันด้วยว่าศักดิ์สิทธิ์ คุ้มครองให้ชาวบ้านอยู่ดีมีสุข

ไม่เพียงเท่านี้ยังมีสองถ้ำชื่อคล้องจอง แต่ตำนานความเป็นมาไม่ได้เกี่ยวข้องกัน คือ ถ้ำเสือ กับ ถ้ำศิลป์

159788185949

159788185849

สำหรับ ‘ถ้ำเสือ’ นั้นอยู่ในระดับพื้นดิน เข้าง่ายออกง่าย อยู่ห่างจากถ้ำพระนอนฯ ประมาณ 1.2 กิโลเมตร ที่นี่มีความกว้างปากถ้ำราว 15 เมตร ลึกประมาณ 200 เมตร เมื่อเข้าไปภายในถ้ำจะพบหินงอกหินย้อยทั้งที่ยังมีชีวิตและตายแล้ว ซึ่งแตกต่างจากถ้ำพระนอนฯ ที่หินงอกหินย้อยตายทั้งหมดแล้ว เนื่องจากมีผู้คนเข้าไปมาก และถูกสัมผัสจับต้องทำให้หินเหล่านั้นหยุดการเจริญเติบโต

ความงดงามของหินงอกหินย้อยในถ้ำเสือ เมื่อต้องแสงจากไฟฉายที่สาดส่อง จะเป็นเกล็ดประกายแวววาว และมีรูปร่างแปลกตาแตกต่างกัน ชวนจินตนาการว่าคล้ายรูปร่างของอะไร

เมื่อหลายร้อยปีก่อน บริเวณนี้เป็นป่ารกทึบ ชาวบ้านที่นับถือศาสนาอิสลามเรียกถ้ำนี้ว่า “ฆูวอตาปอ” แปลว่า “ถ้ำของผู้ปฏิบัติธรรมชั้นสูง” ผู้ที่ปฏิบัติจะเข้าไปภาวนาถึงอัลเลาะห์ แต่ไม่ใช่พิธีดูอา ว่ากันว่าบางคนฝึกจนหายตัวได้ก็มี ต่อมามีสายโคร่งคู่หนึ่งมาอาศัยอยู่จนออกลูกได้หนึ่งตัวแล้วหายไปอย่างไร้ร่องรอย ชาวบ้านจึงเรียกขานที่นี่ว่า “ถ้ำเสือ” และเชื่อกันว่าภายในนั้นมีสิ่งลี้ลับอยู่ ชาวบ้านจึงกำชับว่าถ้าจะเข้าไปต้องแจ้งคนในพื้นที่ก่อนทุกครั้ง

ถัดมาที่ ‘ถ้ำศิลป์’ อยู่ห่างจากถ้ำเสือเพียง 300 เมตร ภายในถ้ำมีภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ เขียนด้วยสีดำเป็นภาพคนกำลังล่าสัตว์ โดยทำท่าเป่าลูกดอกและยิงธนู ส่วนภาพสมัยประวัติศาสตร์เขียนด้วยสีแดง ดำ ขาว เป็นเรื่องราวพุทธประวัติและสัญลักษณ์ในพระพุทธศาสนา เช่น พุทธประวัติตอนธิดาธิดาพญามาร ดวงดารา 8 ดวง เป็นต้น

สันนิษฐานว่าภาพเหล่านี้เขียนขึ้นครั้งแรกราวพุทธศตวรรษที่ 15 และถูกเขียนเพิ่มเติมในพุทธศตวรรษที่ 19-20 เนื่องจากถ้ำนี้เป็นที่อยู่อาศัยของคนโบราณในหลายยุคสมัย โดยมีการขุดค้นพบหลักฐานทางโบราณคดี เช่น ชิ้นส่วนภาชนะดินลายเชือกทาบ ลูกปัดเปลือกหอย เครื่องมือกระดูกสัตว์ปลายแหลม ซึ่งอยู่ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ ส่วนหลักฐานยุคประวัติศาสตร์ เช่น ชิ้นส่วนพระพิมพ์ดินดิบ อายุราวพุทธศตวรรษที่ 14-15 ชิ้นส่วนภาชนะดินเผาเตาปะโอ เครื่องถ้วยจีน เครื่องถ้วยจากแหล่งเตาสุโขทัยพุทธศตวรรษที่ 17-20

159788185980

159788185993

  • ‘ผ้าสีมายา’ ภูมิปัญญาจากดินสู่ดาว

ถึงจะอยู่ในพื้นที่ตำบลหน้าถ้ำ แต่ความน่าสนใจของภูมิปัญญาชาวบ้านแขนงนี้ทำให้ ผ้าสีมายา เป็นหนึ่งของดีที่น่าชมและช้อปอย่างมาก

ผ้าสีมายาเกิดจากการรวมกลุ่มกันของแม่บ้านตำบลหน้าถ้ำ ภายใต้การสนับสนุนจากวิทยาลัยชุมชนยะลา และศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราชตำบลหน้าถ้ำ ร่วมกันค้นลึกถึงความรู้ความสามารถและความต้องการของชุมชนด้วยโจทย์ว่า “อยากมอบอะไรเป็นที่ระลึกแก่นักท่องเที่ยวที่มาหน้าถ้ำ?” จนตกผลึกกันว่า ดินมายา ที่มีอยู่พื้นที่จะเป็นคำตอบ

ดินมายา คือ ดินปุ๋ยขี้ค้างคาวที่อยู่ในถ้ำซึ่งชาวบ้านสมัยก่อนนิยมนำไปโรยนาข้าว เพราะเป็นปุ๋ยอย่างดีที่ทำให้ข้าวเจริญงอกงาม โดยชาวบ้านจะเข้าไปขุดในถ้ำและนำออกมาเป็นกระสอบเพื่อใช้สอยรวมถึงนำไปขาย แต่น่าเสียดายที่ความนิยมทำให้ดินมายาจากในถ้ำหมดไปแล้ว ปัจจุบันจึงนำดินมายาจากนอกถ้ำมาเป็นวัตถุดิบทำผ้าสีมายา

ความพิเศษของดินมายาคือมีสีแดง สีติดทนนาน เรียกได้ว่าถ้าเปื้อนเสื้อผ้าแล้วจะซักไม่ออกเลยทีเดียว ความติดทนนานและสีสันเป็นเอกลักษณ์นี้เอง ชาวบ้านจึงนำมาย้อมผ้า โดยใช้กรรมวิธีมัดย้อม ซึ่งได้ผลดีเยี่ยม เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนครั้งแรกเรียกว่า “ผ้ามัดย้อมสีมายา” จนกระทั่งได้ก่อตั้งเป็น ‘กลุ่มผ้ามัดย้อมสีมายา’ เมื่อปี 2558

วิวัฒนาการของผ้ามัดย้อมสีมายาถูกพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ มากมาย อาทิ เสื้อยืด, กระโปรง, ผ้าพันคอ, ผ้าคลุมไหล่, หมวก, กระเป๋า ฯลฯ รวมถึงผ้าผืนใหญ่ๆ ให้ซื้อหานำไปตัดเป็นเสื้อผ้าได้ตามใจ

ภูมิปัญญาโบราณที่ตกทอดมาสู่คนรุ่นปัจจุบัน แม้จะเป็นเวลาเพียง 5 ปี นับตั้งแต่ก่อตั้งกลุ่ม แต่มีความก้าวหน้าไปมากทั้งคุณภาพผลิตภัณฑ์ การออกแบบ และการทำงานที่แบ่งเป็นฝ่ายตามความถนัดของแต่ละคน และแบ่งสรรปันประโยชน์กันในระบบสหกรณ์ จากดินที่คนเหยียบย่ำกลายเป็นรายได้ค้ำจุนครอบครัว ความสำเร็จของกลุ่มเป็นต้นแบบให้หลายหน่วยงานเดินทางมาศึกษา และกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ที่นักท่องเที่ยวหลายคนต้องการมาเยือน

159788185871

159788185851

159788185787

  • อดีตที่เคยรุ่งเรืองของ ‘เหมืองลาบู’

ถึงยุครุ่งเรืองของเหมืองแร่จะกลายเป็นอดีตไปแล้วสำหรับจังหวัดยะลา แต่ ณ พื้นที่ห่างจากตัวอำเภอเมืองมาเล็กน้อยอย่างอำเภอยะหา เหมืองลาบู คือหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ที่ยังน่ามาทำความรู้จักอยู่

ในอดีตพื้นที่ดังกล่าวเต็มไปด้วยฟักทองที่ชาวบ้านปลูกทิ้งไว้ในระหว่างการล่าสัตว์ บ้านลาบูที่อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรป่าไม้และแร่ดีบุก ทำให้มีการสัมปทานเหมืองแร่ที่ชื่อว่า ‘เหมืองลาบู’ หรือ ‘เหมืองฟักทอง’ ซึ่งเคยเรืองรองมากระหว่างปี 2426-2535

เหมืองแร่นี้เริ่มต้นโดย วิลเลียม คาเมรอน ได้เข้ามาทำกิจการเหมืองแร่ของตระกูลคณานุรักษ์ ซึ่งอยู่ในความดูแลของหลวงสุนทรสิทธิโลหะและพระธันคณานุรักษ์ ในยุครุ่งเรืองของเหมืองแร่ลาบู ขณะนั้นมีชาวต่างชาติเข้ามามากมาย ทั้งออสเตรเลีย คนจีนจากสิงคโปร์ และคนมาเลเซีย จึงมีการก่อสร้างบ้านพักที่ทำการเหมืองแร่ บ้านพักคนงาน รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น โรงภาพยนตร์ เวทีมวย สถานบันเทิง โต๊ะสนุ๊กเกอร์ โรงดูดฝิ่น โรงพยาบาล

ต่อมาหลวงสุนทรสิทธิโลหะได้ซื้อกิจการเหมืองแร่ดีบุกพร้อมทั้งสิ่งสาธารณูปโภคโดยใช้คนงานจากภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคใต้ แทน แต่ก็มีอันต้องเลิกกิจการไปในปี 2535 คนงานส่วนมากจึงหันไปจับจองที่ดินละแวกนั้นเพื่อปลูกยางพาราและผลไม้จนกลายเป็นชุมชนไทยพุทธ หมู่บ้านลาบู ซึ่งได้รับเลือกให้เป็นภาพในตราประจำจังหวัดยะลา คือ เหมืองลาบูมีต้นไม้ใหญ่ ภูเขาสองลูก และคนหาบแร่

สำหรับแหล่งท่องเที่ยวที่โดดเด่นมีอยู่หลายจุด เช่น ป่าลาบู เขตป่าสงวนแห่งชาติป่าลาบู มีลักษณะเป็นเทือกเขาสูงสลับซับซ้อน เป็นป่าดิบชื้นที่มีพรมแดนติดกับประเทศมาเลเซีย สภาพป่ายังอุดมสมบูรณ์มาก มีระบบนิเวศที่ดี และเป็นแหล่งรวมของพืชพรรณหายากมากมาย เช่น ต้นตุกัสอาลีหรือปลาไหลเผือก พืชสมุนไพรชั้นดี และที่ผืนป่านี้ยังเป็นแหล่งต้นน้ำหล่อเลี้ยงสรรพชีวิต

อีกที่คือ อุโมงค์ประวัติศาสตร์ อุโมงค์เหมืองแร่เก่า เป็นร่องรอยของความเจริญรุ่งเรืองในยุคหนึ่งที่ยังหลงเหลือให้คนรุ่นหลังได้ดู นอกจากความรู้ที่ได้ บรรยากาศที่นี่ยังเย็นสบายและมีธรรมชาติแวดล้อมอีกด้วย

นอกจากนี้ยังมี ลำธารร่อนแร่ดีบุก ที่นอกจากจะเป็นลำธารน้ำใสไหลเย็นแล้ว ยังมีสาธิตการร่อนแร่ดีบุกให้ชมด้วย ซึ่งในชุมชนยังมีแร่ดีบุกอยู่ นักท่องเที่ยวก็ร่วมร่อนแร่ได้เช่นกัน แต่จะได้หรือไม่ได้นั้นตามความสามารถและดวงของใครของมัน

และด้วยความที่ที่นี่มีธรรมชาติอุดมสมบูรณ์จึงมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติอีกมากมาย เช่น น้ำตกนกน้อย ที่ไหลมาจากยอดเขา, ป่าดงเสม็ดแดง ที่มีต้นเสม็ดแดงน้อยใหญ่ขึ้นอยู่มากมาย ซึ่งเป็นไม้หายาก เป็นต้น

159788186154

159788186079

159788186076

  • ‘อ่างเก็บน้ำลำพะยา’ จุดบรรจบป่ากับคน

ปฏิเสธไม่ได้ว่าเทรนด์การท่องเที่ยวโดยชุมชนกำลังมา แม้จะได้รับผลพวงจากโควิด-19 ไปบ้าง แต่ทางกลับกันก็ได้รับอานิสงส์จากข้อจำกัดในการเดินทางไปต่างประเทศมาเร่งเร้าให้คนเดินท่องเที่ยวภายในประเทศมากขึ้น จนหลายชุมชนได้อวดของเด่นของดีที่ตัวเองมี

ที่ อ่างเก็บน้ำลำพะยา ก็เช่นกัน ที่นี่เป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำและเป็นเส้นทางการท่องเที่ยวโดยชุมชน เป็นความร่วมมือของชุมชนและองค์การบริหารส่วนตำบลลำพะยา

อ่างเก็บน้ำแห่งนี้เป็นโครงการอ่างเก็บน้ำตามแนวพระราชดำริ สืบเนื่องจาก เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรโครงการฝายทดน้ำลำพะยาและทรงเยี่ยมราษฎรในพื้นที่ตำบลลำพะยา อ.เมืองยะลา ได้ทรงพระราชทานพระราชดำริเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2523 ให้กรมชลประทานพิจารณาวางโครงการก่อสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำลำพะยาที่บริเวณบ้านทองล้น ต.ลำพะยา อ.เมืองยะลา กรมชลประทานได้พิจารณาศึกษาวางโครงการเห็นสมควรกำหนดจุดที่ตั้งหัวงานที่บ้านลำพะยา หมู่ 6 ต.ลำพะยา อ.เมืองยะลา

โดยมีวัตถุประสงค์ของโครงการก็เพื่อใช้เป็นแหล่งเก็บกักน้ำช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกของราษฎรที่ใช้น้ำจากโครงการฝายทดน้ำลำพะยา ทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้ง ประมาณ 8,100 ไร่ และเพื่อใช้เป็นแหล่งเก็บกักน้ำสำหรับช่วยเหลือในการอุปโภคบริโภคในฤดูแล้งของราษฎรและสัตว์เลี้ยงที่อาศัยอยู่ในเขตโครงการและบริเวณใกล้เคียงที่ประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง ประมาณ 690 ครัวเรือน จำนวน 3,450 คน

นอกจากนี้ยังบรรเทาเหตุอุทกภัยต่อพื้นที่เพาะปลูกซึ่งอยู่ตอนล่างของพื้นที่โครงการในช่วงฤดูน้ำหลาก ส่งเสริมเป็นแหล่งแพร่พันธุ์ปลาน้ำจืด และดำเนินการเป็นสถานที่ท่องเที่ยวและพักผ่อนหย่อนใจของชุมชนได้ด้วย

4 ของดีที่แนะนำนี้เป็นเพียงเสี้ยวเดียวจากทั้งหมดที่จังหวัดนี้มี แต่เพียงแค่ไม่กี่ที่ก็ทำให้หลายคนหลงรักยะลาได้ไม่ยากเย็น และจะเป็นจุดเริ่มต้นให้กลับมาค้นหาความลับที่ไม่ลับแบบฉบับยะลาในครั้งต่อไป