'สุพันธุ์' นั่งประธานสอท.สมัย 3 โจทย์ 'สมาชิกพ้นวิกฤติโควิด'

'สุพันธุ์' นั่งประธานสอท.สมัย 3 โจทย์ 'สมาชิกพ้นวิกฤติโควิด'

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จัดการประชุมคณะกรรมการสภาอุตสาหกรรมฯ ครั้งแรก การประชุมครั้งนี้เป็นการเสนอชื่อผู้ที่จะดำรงตำแหน่งประธานส.อ.ท. วาระปี 2563-2565 โดยที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์เลือกสุพันธุ์ มงคลสุธี ขึ้นดำรงตำแหน่ง

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จัดการประชุมคณะกรรมการสภาอุตสาหกรรมฯ วาระปี 2563-2565 เป็นครั้งแรก โดยมีคณะกรรมการฯ จำนวนทั้งสิ้น 357 คน โดยวาระสำคัญในการประชุมครั้งนี้เป็นการเสนอชื่อผู้ที่จะดำรงตำแหน่งประธานส.อ.ท. วาระปี 2563-2565 โดยที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์เลือกสุพันธุ์ มงคลสุธี ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยติดต่อกันอีก 1 วาระ หลังจากที่ดำรงตำแหน่งในวาระปี 2561-2563 และ 2557-2559 รวม 3 วาระ

ประธานส.อ.ท. เปิดเผยว่า ในวาระนี้จะมุ่งขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ “Service Organization” เพื่อประสานความร่วมมือกับภาครัฐและภาคเอกชนในการช่วยเหลือผู้ประกอบการและสมาชิกให้สามารถดำเนินธุรกิจผ่านวิกฤติโควิด-19 นี้ไปให้ได้

โดยแบ่งออกเป็น 6 ด้านหลัก ดังนี้ 1. F.T.I. Academy จัดตั้งสถาบันฝึกอบรมเพื่อยกระดับศักยภาพบุคลากรภาคอุตสาหกรรม พร้อมทั้งร่วมพัฒนาหลักสูตร Upskill & Reskill กับกลุ่มอุตสาหกรรม และร่วมพัฒนาหลักสูตร New Skill กับภาคการศึกษา 

2. Marketing จัดตั้งศูนย์รับรองสินค้าไทย (Made in Thailand) เพื่อส่งเสริมสินค้าไทยสู่การจัดซื้อ จัดจ้างภาครัฐ และเสนอให้ ส.อ.ท. เป็นหน่วยงานรับรองผู้ผลิตสินค้า “Made in Thailand” พร้อมพัฒนางานด้านอีคอมเมิร์ซ, เชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจและซัพพลายเชน, การจับคู่ธุรกิจ, การจัดนิทรรศการ และสมาชิกสัมพันธ์ (One Stop Service) เพื่อเพิ่มโอกาสทางการตลาดทั้งในและต่างประเทศ

3. Innovation ร่วมกับภาครัฐจัดตั้งกองทุนนวัตกรรม (Innovation Fund) เพื่อเป็นศูนย์ส่งเสริมนวัตกรรมในภาคอุตสาหกรรมด้านต่างๆ เช่น ด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ เป็นต้น 4. Efficiency พัฒนาประสิทธิภาพในด้านการผลิตและสร้างมูลค่าเพิ่มด้วย Precision Farming โลจิสติกส์ พลังงาน เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร Big Data การบริการด้านกฎหมายและการขออนุญาต และการพัฒนาระบบประเมินศักยภาพ-ข้อมูลเชิงลึกของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี

159784420351

5. Environment ให้ความสำคัญกับการผลิต การบริโภคสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ขับเคลื่อน BCG Model, Eco Product, Eco Factory และส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมให้ดำเนินการตามหลัก SDGs และ6. Finance ให้คำปรึกษาด้านการเงินและภาษีกับผู้ประกอบการและสมาชิก การขอกู้เงินและการจัดทำบัญชี การนำเข้าและส่งออก เป็นต้น

นอกจากนี้ ภายในวาระการดำรงตำแหน่งประธาน ส.อ.ท. 2 ปีนี้ มีเป้าหมายที่จะเพิ่มจำนวนสมาชิกจากปัจจุบันที่มีกว่า 11,000 ราย ให้เพิ่มเป็น 20,000 ราย ซึ่งจะช่วยขยายขอบข่ายในการเข้าไปดูแลช่วยเหลือผู้ประกอบการได้มากขึ้น และยังเป็นเสียงสะท้อนจากผู้ประกอบการทั้งประเทศในการยื่นข้อเสนอต่างๆ และประสานความร่วมมือกับภาครัฐ

“ในการดำรงตำแหน่งประธาน ส.อ.ท. ในสมัยแรก ส.อ.ท. มีสมาชิกเพียง 7,000ราย แต่หลังจากหมดวาระที่สองมีสมาชิกเพิ่มขึ้นกว่า 10,000ราย ซึ่งมั่นใจว่าวาระนี้จะทำได้ตามเป้าหมายที่วางไว้”

โดยแนวทางการทำงานที่สำคัญ ก็คือการผันบทบาทของ ส.อ.ท. ไปสู่การเป็น Service Organization หรือองค์กรที่เข้าไปช่วยเหลือผู้ประกอบการในทุกๆด้าน และจะป็นตัวประสานงานระหว่างผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้เข้าถึงแหล่งควมมช่วยเหลือของภาครัฐ และเอกชน ตลอดจนองค์ความรู้ต่างๆ รวมทั้งการจัดตั้งสถาบันฝึกอบรมของ ส.อ.ท. ก็จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการดึงดูดผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้ามาใช้บริการและเข้าร่วมเป็นสมาชิกของ ส.อ.ท. เพิ่มขึ้น ซึ่งจะได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆเพิ่มขึ้นอีกมาก

การที่ ส.อ.ท. มีสมาชิกเพิ่มขึ้น ก็จะยิ่งมีส่วนช่วยในการแบ่งเบาภาระของภาครัฐมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงวิกฤติโควิด-19 เพราะองค์กรเอกชนจะเข้ามามีส่วนในการช่วยเหลือกันเองในด้านต่างๆ รวมทั้งการจับคู่ธุรกิจ และยังมีโครงการบิ๊กบราเทอร์ ที่บริษัทรายใหญ่จะเข้าไปช่วยบริษัทรายเล็ก"

159784426442

ในส่วนสิ่งที่ ส.อ.ท. จะเร่งประสานงานกับภาครัฐ ก็คือการร่วมกันหามาตรการกระตุ้นกำลังซื้อภายในประเทศ เพราะว่าสถานการณ์โควิด-19 คงจะอยู่กับคนไทยและชาวโลกไปอีกนาน ดังนั้นประเทศไทยจะหวังพึ่งรายได้จากการส่งออก และการท่องเที่ยวจากต่างชาติเป็นหลักเหมือนก่อนหน้านี้ไม่ได้ ดังนั้นจึงต้องรณรงค์ให้คนไทยซื้อสินค้าที่ผลิตภายในประเทศ และท่องเที่ยวภายในประเทศมากขึ้น รวมไปถึงการจัดทำมาตรการจูงใจต่างๆ เพื่อให้หน่งยงานรัฐและเอกชน เพิ่มการใช้สินค้าภายในประเทศ และออกไปจัดสัมมนาในต่างจังหวัดมากขึ้น

นอกจากนี้ ภาครัฐควรจะเข้ามาช่วยภาคเอกชนโดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอีลดค่าใช้จ่ายต่างๆ เพื่อลดภาระเงินทุนหมุนเวียน และคงอัตราการจ้างงาน เช่น การลดค่าไฟฟ้า ค่าน้ำ และค่าใช้จ่ายในด้านอื่นๆ รวมไปถึงการแก้ไขปัญหาคอขอดที่ทำให้วงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำที่ภาครัฐออกมาไปไม่ถึงมือผู้ประกอบการ ตลอดจนการยืดอายุมาตรการค้ำประกันเงินกู้ของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีประคองตัวจนผ่านพ้นช่วงวิกฤติโควิด-19