แบรนด์ดัง ชะลอซื้อหนังจระเข้ เหตุนักท่องเที่ยวจีนลด

แบรนด์ดัง ชะลอซื้อหนังจระเข้ เหตุนักท่องเที่ยวจีนลด

นักท่องเที่ยวจีนหด-แบรนด์ดัง "แอร์เมส หลุยส์สีตอง กุชชี่" ชะลอซื้อหนังจระเข้ ผู้ประกอบการ ระส่ำขาดสภาพคล่อง ขอนำหนังฟอกเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้ "อลงกรณ์" ผุดสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเล็งขอครม.1,319 ล้านอุดหนุน

นายอลงกรณ์ พลบุตร ปรึกษารมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า การประชุมคณะอนุกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการเพาะเลี้ยงสัตว์น้้า ครั้งที่ 6/2563 เพื่อหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาช่วยเหลือเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงจระเข้ เตรียมเสนอของบประมาณ 1,319.35 ล้านบาท เพื่ออุดหนุนดอกเบี้ย ในโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อเสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการเพาะเลี้ยงจระเข้ วงเงิน 8,770 ล้านบาท

ทั้งนี้ จากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก โดยเฉพาะคู่ค้าหนังจระเข้ของไทยจากทั่วโลก ชะลอการนำเข้า และลดปริมาณการสั่งซื้อ อาทิ ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น จีน อิตาลี เป็นต้น ส่งผลให้ราคาจระเข้ตกต่ำ ผู้ประกอบการแปรรูปผลิตภัณฑ์จระเข้จากซากไม่รับซื้อจระเข้มีชีวิตจากผู้เพาะเลี้ยง ทำให้ธุรกิจเพาะเลี้ยงจระเข้มีความต้องการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องในการประกอบอาชีพ

159784344536

“นักท่องเที่ยวจีนถือว่าเป็นลูกค้าหลัก อันดับต้นๆของเกษตรกรผู้เลี้ยงจระเข้ ผู้ประกอบการแปรรูปผลิตภัณฑ์จระเข้ ก่อนโควิดเดินทางเข้าไทยประมาณ 10 ล้านคน เมื่อเข้ามาก็ซื้อผลิตภัณฑ์จากจระเข้กลับไป แต่เมื่อมีการระบาดของโควิดทุกอย่างหยุดชะงัก รวมถึง ประเทศผู้นำเข้าหนังจระเข้ เพื่อไปทำกระเป๋า ทั้งฝรั่งเศส และอิตาลี เจ้าของแบรนด์ แอร์เมส หลุยส์สีตอง กุชชี่ บาลองเซียก้าเป็นต้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการขายสินค้าไม่ได้ ขาดสภาพคล่อง”

นายอลงกรณ์ กล่าวว่า ขณะนี้พบมีผู้ประกอบการขาดสภาพคล่อง ต้องการสินเชื่อ ประมาณ 8,770 ล้านบาท แบ่งเป็น ผู้ค้าจระเข้ 348 ราย มีการค้าขายจระเข้มีชีวิต 293 ราย และ ค้าซาก/ผลิตภัณฑ์ 55 ราย โดยมีรายละเอียดดังนี้ ผู้ครอบครองจระเข้มีชีวิตและซาก 718 ราย, ครอบครองมากกว่า 1,000 ตัว 36 ราย ,ครอบครอง 500 – 1,000 ตัว 39 รายครอบครองน้อยกว่า 500 ตัว 643 ราย,ผู้เพาะพันธุ์จระเข้ 84 ราย โดยจระเข้ที่เลี้ยงมีจำนวนรวม 1,189,836 ตัว

159784358024

ดังนั้น เพื่อเสริมสภาพคล่องในการประกอบอาชีพการเพาะเลี้ยงจระเข้ โดยสนับสนุนสินเชื่อ ดอกเบี้ยต่ำให้แก่ผู้ประกอบการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากซาก และผู้ประกอบการเพาะเลี้ยงจระเข้ วงเงิน 8,770 ล้านบาท ให้แก่ผู้ประกอบการ แปรรูปผลิตภัณฑ์จากซาก วงเงิน 1,650 ล้านบาท ,ผู้ประกอบการค้าจระเข้มีชีวิต และผู้ครอบครองมากกว่า 1,000 ตัว วงเงิน 3,290 ล้านบาท และ ผู้ครอบครองน้อยกว่า 1,000 ตัว และผู้เพาะพันธุ์จระเข้ วงเงิน 3,215 ล้านบาท

ระยะเวลาโครงการ 5 ปี นับจากวันที่คณะรัฐมนตรี(ครม.) อนุมัติโครงการ ระยะเวลาการยื่นความประสงค์เข้าร่วมโครงการ 1 ปีหรือภายในกรอบวงเงินตามที่กำหนด ชำระคืนเงินกู้ให้แล้วเสร็จภายใน 4 ปี โดยรัฐบาลจะอุดหนุนดอกเบี้ย จำนวน 1,319.35 ล้านบาท

ธ.ก.ส.จะให้กู้ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ เอ็มอาร์อาร์-1 ต่อปี สถาบันหรือนิติบุคคล ให้กู้ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ เอ็มแอลอาร์-1 ต่อปี รัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้ 3% ต่อปี ระยะเวลา 5 ปี จากวงเงินสินเชื่อ 8,770 ล้านบาท ปีละ 263.10 ล้านบาท รวมเป็นวงเงินชดเชยดอกเบี้ย1,315.50 ล้านบาท และเป็นค่าดำเนินงานอีก 3.85 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สำรวจความเดือดร้อนของเกษตรกร และผู้ประกอบการแปรรูปสินค้าจากจระเข้ พบว่าส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงแหล่งสินเชื่อ ผู้ประกอบการเพาะเลี้ยงจระเข้ จึงยากนำหนังจระเข้ฟอกแล้วมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้จากสถาบันการเงิน ตามโครงการดังกล่าว