การผสานองค์ความรู้ สู่นวัตกรรมผลผลิตพืชเมืองหนาว

นวัตกรรมที่ช่วยนำสิ่งเหลือใช้มาต่อยอดให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ปตท. มุ่งเน้นการสร้างนวัตกรรมจากการต่อยอดองค์ความรู้ที่มีความเชี่ยวชาญ ดังเช่นนำความเชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมมาผสมผสานกับองค์ความรู้ด้านเกษตรกรรมที่ได้ศึกษาจากผู้เชี่ยวชาญทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ วิจัยและทดลองมากว่า 10 ปี นำมาออกแบบเป็นโรงเรือนอัจฉริยะที่มีความทันสมัย เพื่อทดลองปลูกสตรอว์เบอร์รีซึ่งเป็นพืชเมืองหนาว จนสามารถปลูกได้สำเร็จ ณ สวนสมุนไพร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในตำบลมาบข่า อำเภอเมือง จังหวัดระยองนี่เอง

นางสาวสุภาวดี ศรีทอง หัวหน้างานฝ่ายผลิตสตรอว์เบอร์รี เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานโรงเรือนไม้เมืองหนาว ปตท. เปิดเผยว่า ในช่วงเริ่มต้น ปตท. ได้ทดลองปลูกไม้ดอกเมืองหนาวก่อน จากนั้นก็ต่อยอดความสำเร็จมาทดลองปลูกผลไม้เมืองหนาว โดยเริ่มที่การปลูกสตรอว์เบอร์รี ซึ่งได้ศึกษาสตรอว์เบอร์รีหลากสายสายพันธุ์ พบว่าสายพันธุ์อากิฮิเมะ จากเมืองชิซึโอกะ ประเทศญี่ปุ่น มีความเหมาะสมที่สุด ให้ผลผลิต 500 – 600 กรัมต่อต้นต่อรอบ และสูงสุดได้ถึง 1 กิโลกรัม

ทีมงาน ปตท. ได้ศึกษาเรียนรู้จากเกษตรกรชาวญี่ปุ่น และทำงานร่วมกับนักวิจัยการเกษตรเพื่อเข้าใจถึงความต้องการของสตรอว์เบอร์รีพันธุ์อะกิฮิเมะ ไม่ว่าจะเป็นปริมาณน้ำ ความต้องการแสง อุณหภูมิที่เหมาะสมในแต่ละช่วงของสตรอว์เบอร์รี และเคล็ดลับที่ทำให้สตรอว์เบอร์รีมีกลิ่นหอม หวานอร่อยตามลักษณะเฉพาะของสายพันธุ์  และเราใช้ความรู้นำทางไปสู่การสร้างโรงเรือนอัจฉริยะที่สร้างสภาพแวดล้อมให้เหมือนกับการยกฟาร์มจากชิซึโอกะมาไว้ที่จังหวัดระยอง

สำหรับการปลูกพืชในโรงเรือนอัจฉริยะมีประโยชน์ในด้านการควบคุมสภาพแวดล้อมที่สำคัญต่อการเติบโตของพืชเมืองหนาวอย่างสตรอว์เบอร์รี โดยสามารถควบคุมอุณหภูมิ ความชื้น ปริมาณแสงแดด ช่วยป้องกันแมลงและศัตรูพืช มลภาวะแวดล้อม เชื้อโรค แม้แต่การป้องกันน้ำฝนเจือปนลงในดิน ทั้งหมดล้วนแล้วแต่มีผลกระทบต่อการเติบโตของต้นสตรอว์เบอร์รี ทำให้ต้นกล้าทุกต้นถูกดูแลอย่างดีในโรงเรือนอนุบาลแบบระบบปิด เพื่อให้มั่นใจได้ว่าจะสามารถ เติบโตเป็นต้นสตรอว์เบอร์รีที่แข็งแรงสมบูรณ์ ก่อนจะถูกย้ายเพื่อลงแปลงปลูกเมื่อต้นกล้ามีอายุ ครบ 30 วัน และต้นสตรอว์เบอร์รี่ที่ปลูกในโรงเรือนระบบปิด จะเติบโตอย่างแข็งแรง และให้ผลผลิตที่ดีมีคุณภาพตลอดทั้งปี

“ปตท. ได้นำเข้าต้นกล้าแม่พันธุ์สตรอว์เบอร์รีสายพันธุ์อากิฮิเมะ จากประเทศญี่ปุ่น และนำมาขยายพันธุ์นำลงปลูกในโรงเรือนที่ทันสมัยใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะ ที่จะจ่ายน้ำด้วยระบบน้ำหยดสามารถควบคุมสารอาหารต่างๆ ได้ครบถ้วน เพื่อให้เหมาะสมต่อการเจริญเติบโต และให้ผลผลิตดีที่สุด ซึ่งระบบการเพาะปลูกนี้เป็นแบบออร์แกนิก ไม่มีการใช้สารเคมี นอกจากนี้ยังมีรังผึ้งเพื่อเลี้ยงผึ้งสายพันธุ์อิตาเลี่ยน เพื่อทำหน้าที่ผสมเกสรให้เกิดผลสตรอว์เบอร์รี ซึ่งเป็นวิธีธรรมชาติ และมีความปลอดภัยสูง”

ในโรงเรือนมีท่อไอเย็นที่ติดตั้งอยู่ใต้แปลงปลูกทุกแปลง ทำให้สามารถควบคุมอุณหภูมิให้อยู่ในระดับ 17 – 25 องศาเซลเซียสได้ตลอดทั้งปี ซึ่งเป็นอุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับการเจริญเติบโตของสตรอว์เบอร์รี พร้อมติดตั้งอุปกรณ์เพื่อตรวจความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศ ร่วมกับระบบสเปรย์ละอองน้ำ ระบบระบายอากาศ เพื่อเพิ่มหรือลดความชื้นตามความเหมาะสม รวมทั้งได้ทดลองนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์พลอยได้จากกระบวนการแยกก๊าซธรรมชาติ มาช่วยเร่งการเจริญเติบโตด้วย

สำหรับพื้นที่เพาะปลูกมีทั้งหมดกว่า 5,000 ตารางเมตร สามารถให้ผลผลิตสตรอว์เบอร์รีเฉลี่ยประมาณ 2 ตันต่อเดือน โดยได้นำไปจำหน่ายที่ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน และห้างสรรพสินค้าชั้นนำ ภายใต้แบรนด์ Harumiki ส่วนในอนาคตจะขยายพื้นที่เพิ่มอีก 1,500 ตารางเมตร เพื่อทดลองปลูกพืชเมืองหนาวอื่นๆ เช่น บลูเบอร์รี เชอร์รี และวนิลา ต่อไป 

นายปรัชญาภัทร ชูยินดี หัวหน้างานฝ่ายผลิตแผนกดอกไม้เมืองหนาว กล่าวว่า ไม่เพียงแต่การปลูกผลไม้เมืองหนาว ปตท. ยังได้ทดลองปลูกดอกไม้เมืองหนาวอื่นๆด้วย เช่น ทิวลิป ลิลลี่ ไฮเดรนเยีย ซึ่งส่วนใหญ่นำสายพันธุ์มาจากประเทศฝรั่งเศสและฮอลแลนด์ รวมทั้งปลูกซากุระ สายพันธุ์จากประเทศญี่ปุ่น

นอกจากนี้ โครงการนี้ยังได้เปิดโอกาสให้ชาวบ้านในพื้นที่จังหวัดระยองกว่า 50 ชีวิต เข้ามาร่วมดูแลพืชพันธุ์ไม้เมืองหนาวด้วย โดยนางสาวนฤมล รักนิสัย พนักงานฝ่ายผลิตสตรอว์เบอร์รี เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานโรงเรือนไม้เมืองหนาว ปตท. ซึ่งเป็นหนึ่งในเกษตรกรจังหวัดระยองที่ได้มาร่วมงานกับ ปตท. ในโรงเรือนแห่งนี้ กล่าวเสริมว่า การได้มาร่วมงานกับ ปตท. ช่วยให้ตนได้ทำงานใกล้บ้าน มีเวลาอยู่กับครอบครัวมากขึ้น ได้เลี้ยงลูก มีรายได้ที่มั่นคงสามารถนำไปใช้จ่ายให้แก่คนในครอบครัวได้อย่างไม่ขัดสน พร้อมทั้งยังได้องค์ความรู้นำกลับไปประยุกต์กับการปลูกพืชผักสวนครัวที่บ้าน

นอกจากนี้ ยังได้ความรู้ และเทคโนโลยีในการปลูกพืช ที่ได้เรียนรู้จาก ปตท. นำไปประยุกต์ใช้ในการปลูกพืชผักสวนครัวที่บ้าน ทำให้มีรายได้เสริมมากขึ้น ซึ่งช่วยให้ชีวิตความเป็นอยู่ของครอบครัวดีขึ้น