บสย.ตั้งวงเงินค้ำ5หมื่นล้านช่วยเอสเอ็มอีหนี้เสีย

บสย.ตั้งวงเงินค้ำ5หมื่นล้านช่วยเอสเอ็มอีหนี้เสีย

บสย.เตรียมคลอดโครงการPGS9วงเงิน 1.5 แสนล้านบาทในช่วงต.ค.นี้ เพื่อค้ำประกันสินเชื่อให้แก่เอสเอ็มอี โดยจะกันไว้ 5 หมื่นล้านบาท เพื่อค้ำสินเชื่อแก่เอสเอ็มอีที่ตกชั้นและกำลังจะตกชั้นจากมาตรการพักชำระหนี้ของรัฐบาล

นายรักษ์​ วรกิจโภคาทร​ กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม(บสย.)เปิดเผยว่า ขณะนี้ บสย.เตรียมโครงการค้ำประกันสินเชื่อตามนโยบายรัฐระยะที่ 9 (PGS9) วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท เพื่อค้ำประกันสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยวงเงินดังกล่าวจะทำให้สถาบันการเงินสามารถปล่อยสินเชื่อได้ประมาณ 1 แสนราย เป็นยอดสินเชื่อกว่า 1 แสนล้านบาท

เขากล่าวว่า บสย.ตั้งเป้าหมายว่า โครงการค้ำประกันเอสเอ็มอีไทยชนะดังกล่าว จะสามารถเริ่มดำเนินการได้ในช่วงเดือนต.ค.นี้ โดยบสย.จะกันวงเงินค้ำประกันส่วนหนึ่งหรือประมาณ 5 หมื่นล้านบาทไว้สำหรับช่วยเหลือลูกหนี้ที่ตกชั้นและกำลังจะตกชั้น ส่วนใหญ่จะอยู่ในโครงการพักชำระหนี้ของรัฐบาล ซึ่งจะสิ้นสุดระยะเวลาของมาตรการในช่วงเวลาดังกล่าว ดังนั้น โครงการนี้ ก็จะมารับช่วงต่อ เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มดังกล่าว

ทั้งนี้ ขณะนี้ มียอดหนี้ในระบบสถาบันการเงินที่พักชำระเงินต้นอยู่ประมาณ 6.7 ล้านล้านบาท จาก 10 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้ราว 40% เป็นหนี้ที่จัดอยู่ในกลุ่มเอสเอ็มอีที่อาจจะตกชั้นเป็นหนี้เสีย ขณะที่ ยอดหนี้เสียในปัจจุบันอยู่ที่ 5.98% หากบสย.ออกโครงการค้ำประกันเอสเอ็มอีไทยชนะ เชื่อว่า จะช่วยลดหนี้เสียลงเหลือ 5.6%

ปัจจุบัน ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่อยู่ในระบบมีอยู่จำนวน 6 ล้านราย ในจำนวนมีอยู่ 3 ล้านรายที่ลงทะเบียนอยู่ในระบบ ดังนั้น จึงเหลืออีก 3 ล้านราย ที่ยังไม่ถูกจัดอยู่ในระบบ ซึ่งส่วนใหญ่ยังไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ ดังนั้น เอสเอ็มอีกลุ่มนี้ จะเป็นกลุ่มเป้าหมายที่บสย.จะเข้าไปช่วยเหลือ

สำหรับ 7 เดือนแรกของปีนี้​ บสย.ค้ำสินเชื่อให้เอสเอ็มอีไปแล้ว​1.15 แสนล้านบาท​สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว​ 167% สวนทางกับเศรษฐกิจที่ถดถอย ส่วนจำนวนการอนุมัติหนังสือค้ำประกันสินเชื่อ(LG)นั้น มีจำนวน 1.32 แสนฉบับ เพิ่มขึ้น 223% และช่วยลูกค้าใหม่ได้รับสินเชื่อจำนวน 9.8 หมื่นราย เพิ่มขึ้น 222% คาดว่า จนถึงสิ้นีนี้จะสามารถอนุมัติยอดค้ำประกันสินเชื่อได้มากกว่า 1.5 แสน ล้านบาท และช่วยผู้ประกอบการเข้าถึงสินเชื่อได้มากกว่า 1.2 แสนราย

นอกจากนี้ ในช่วงระหว่างเดือนมี.ค.- 17 ส.ค.นี้ ซึ่งเป็นช่วงที่ผู้ประกอบการ เอสเอ็มอีได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 บสย. ยังช่วยผู้ประกอบการ เอสเอ็มอีค้ำประกันสินเชื่อได้จำนวน 1.17 แสนราย คิดเป็นวงเงินค้ำประกันสินเชื่อรวม​ 9.47หมื่นล้านบาท

สำหรับการประชุมคณะรัฐมนตรีวานนี้ (18 ส.ค.) มีมติเห็นชอบการทบทวนมติคณะรัฐมนตรีและเสนอมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีเพิ่มเติม ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เพื่อแก้ไขปัญหาข้อติดขัดในการดำเนินโครงการเพื่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมีสภาพคล่อง สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ทั่วถึงและเพียงพอ 3 โครงการ

ได้แก่ 1.โครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS Soft Loan พลัส วงเงิน 5.7 หมื่นล้านบาท สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีคุณสมบัติตาม พ.ร.ก.ซอฟท์โลน แต่ยังไม่ได้รับสินเชื่อตามพ.ร.ก.ดังกล่าวเริ่มค้ำประกันและเก็บค่าธรรมเนียมในต้นปีที่ 3 นับจากวันที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้รับสินเชื่อ ค้ำประกันสูงสุดต่อราย 100 ล้านบาท

2.โครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS ระยะที่ 8 หรือ “บสย.SMEs ชีวิตใหม่” วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั่วไป วงเงินไม่เกิน 20 ล้านต่อรายรวมทุกสถาบันการเงิน ในอัตราค่าธรรมเนียม1.75% ต่อปี ระยะเวลาค้ำประกัน 10 ปี

3.โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Micro Entrepreneur ระยะที่ 3 วงเงิน 15,000 ล้านบาท ซึ่งมติ ครม.อนุมัติขยายเวลาจากเดิมสิ้นสุดวันที่ 23 ก.ค.นี้ เป็น สิ้นสุดวันที่ 30 ธ.ค.นี้ ปัจจุบันมีวงเงินคงเหลือ 2.5 พันล้านบาท คิดอัตราค่าธรรมเนียม1-2% ต่อปี ระยะเวลาค้ำประกัน 10 ปี