'สันติ' แจงสภา เงินกู้ 1.9 ล้านล้านบาท รับช่วยยังไม่ครบทุกกลุ่ม

'สันติ' แจงสภา เงินกู้ 1.9 ล้านล้านบาท รับช่วยยังไม่ครบทุกกลุ่ม

"รมช.คลัง" ชี้แจงรายการใช้เงินกู้ 1.9 ล้านล้านบาท ที่หวังช่วยเหลือ เยียวยา ฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ล่าสุดมีตัวเลขเบิกจ่ายที่ยังไม่ครบกลุ่มต้องการ

เมื่อวันที่ 19 ส.ค. 63 นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ตอบกระทู้ถามสดต่อสภาผู้แทนราษฎร ของ นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ต่อการใช้เงินกู้ วงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนจากสถานการณ์ระบาดของไวรัสโควิด-19 ว่า สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง ได้กู้เงินจากสินเชื่อตั๋วสัญญาใช้เงิน (พีเอ็น) ตั๋วแลกเงิน และพันธบัตรรัฐบาลและพันธบัตรออมทรัพย์ ทั้งนี้การใช้เงินกู้ส่วน 5.5 แสนล้านบาท เพื่อเยียวยาและช่วยเหลือประชาชนนั้น มีรายละเอียดคือ ช่วยเหลือประชาชนที่ถูกเลิกจ้างจากสถานประกอบการชั่วคราว โดยตั้งวงเงิน 1.7 แสนล้านบาท ดำเนินการแล้ว 15.1 ล้านคน โดยจ่ายเงินช่วยเหลือเดือนละ 5,000 บาทเป็นเวลา 3 เดือน โดยเบิกจ่ายแล้ว 1.5 แสนล้านบาท คิดเป็นการเบิกจ่าย 94 เปอร์เซ็นต์

นายสันติ ชี้แจงด้วยว่า ช่วยเกษตรกร มีวงเงินช่วยเหลือ 1.5 แสนล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว 1.12 แสนล้านบาท ช่วยหลือเกษตรกร 7.5 ล้านราย, เยียวยากลุ่มเปราะบาง ตั้งวงเงิน 2.03 หมื่นล้านบาท ดำเนินการแล้ว 6.6 ล้านคน, ช่วยเหลือกลุ่มผู้มีบัตรสวัสดิการ วงเงิน 3.4 พันล้านบาท ดำเนินการแล้ว 1.16 ล้านราย, ชดเชยลูกจ้างประกันสังคมที่ไม่เป็นไปตามระเบียบ คือ ไม่ครบ 6 เดือร วงเงิน 897 ล้านบาท ครอบคลุม 6 หมื่นราย รวมการเบิกจ่ายเงินกู้ส่วนดังกล่าว จำนวน 2.94 แสนล้านบาท ส่วนเงินกู้ที่เหลือ จะนำไปเยียวยาผู้ที่ตกหล่น โดยกระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างรวบรวม

นายสันติ ชี้แจงด้วยว่าเงินกู้ 4 แสนล้านบาท ฟื้นฟูเศรษฐกิจ สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ส่งเรื่องไปยัง ครม. และอนุมัติโครงการแล้ว 9 หมื่นล้านบาท คาดว่าเดือนกันยายนนี้จะดำเนินการแล้วเสร็จ, ขณะที่เงินกู้เพื่อให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดำเนินการนั้น แบ่งเป็น 5 แสนล้านบาท เพื่อปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้กลุ่มเอสเอ็มอี โดยได้ดำเนินการปล่อยยเงินกู้ จำนวน 1.1 แสนล้านบาท ช่วยเอสเอ็มอีแล้ว 6.7 หมื่นราย โดยการช่วยเหลือนั้นจูงใจให้ธนาคารเร่งรัดปล่อยสินเชื่อ หากเกิดความเสียหาย รัฐจะชดเชยธนาคาร 60% และเงื่อนไขการกู้ คือ เพิ่มเติมได้รายละ 20% จากหนี้คงค้างที่มีอยู่ อัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 2% ระยะเวลา 2 ปี และเงินกู้ส่วน 4 แสนล้านบาท นั้นยังไม่พบว่ามีสถาบันการเงินใดขอกู้

“เงินกู้ที่ยังไม่ได้ใช้นั้น จะเตรียมไว้สำหรับการระบาดของไวรัสโควิด-19 รวมถึงแก้ปัญหา เยียวยาผู้ได้รับความเดือดร้อน ทั้งนี้ พบว่ามีประชาชนแจ้งความเดือดร้อนตลอดเวลา ส่วนเงินกู้เพื่อเอสเอ็มอีที่ยังพบว่ามีการกู้ไม่มากนั้น นายปรีดี ดาวฉาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เสนอผ่อนปรนเงื่อนไขต่างๆ ที่ให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้คล่องตัวมากขึ้น โดยกระทรวงการคลังและธนาคารหาทางผ่อนปรน เพื่อเงินส่วนดังกล่าวที่เหลือ 4 แสนล้านบาทให้ดำเนินการต่อไปได้ ขณะที่นายกรัฐมนตรีบัญชาให้ดูภาคอุตสาหกรรมสามารถเปิดดำเนินการก่อนที่การรักษาโควิดทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะเริ่มรีสตาร์ทอุตสาหกรรมทุกรูปแบบ เช่น อุตสาหกรรมท่องเที่ยว แต่ทำอย่างระมัดระวังไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดรอบ 2 ส่วนตัวเลขจีดีพี ที่สภาพัฒน์ ประมาณการณ์ว่าจะติดลบ 12% นั้นยอมรับว่าจริง แต่ถือว่าดีกว่าหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น สิงคโปร์” นายสันติ ชี้แจง

ทั้งนี้ นายสุทิน ตั้งคำถามและตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมด้วยว่า การใช้เงินกู้ของรัฐบาลไม่มีประสิทธิภาพ ใช้ไม่หมด และไม่ตรงจุด ไม่ครอบคลุม เพราะการบริหารงบประมาณไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้สภาพัฒน์ระบุว่าจีดีพีติดลบ 12% ดังนั้นทำให้การแก้ปัญหาไม่ทันการณ์ ขณะเดียวกัน ครม.​อนุมัติกู้อีก 2 แสนล้านบาท ทำให้เกิดความสับสน อย่างไรก็ตามเชื่อว่าประชาชนจะได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ในประเทศ

“แม้สภาอนุมัติเงินกู้ให้ แต่การบริหารเงินไม่ตรงเป้าหมาย รวมถึงเงินที่นำไปกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่เป็นไปตามปฏิทินเวลา ที่ระบุว่าจะเริ่มเดือนกรกฎาคม แต่ปัจจุบันยังพบการเบิกจ่ายไม่แล้วเสร็จ และล่าสุดรัฐบาลยังกู้เพิ่ม ทำให้มีความวิตก ที่จะทำให้เศรษฐกิจตกต่ำเกินเยียวยาได้ กรณีกู้เงินซ้ำซ้อน แต่พิสูจน์ว่าไม่ทำให้ดีขึ้น” นายสุทิน กล่าว