พื้นที่แห่งรักบนแปลงผัก 'สวนผักคนเมือง'

พื้นที่แห่งรักบนแปลงผัก 'สวนผักคนเมือง'

สำหรับคนไม่รู้จักพื้นที่เล็กๆ น่ารักในการทำกิจกรรมของสวนผักคนเมือง มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน(ประเทศไทย) 1 ไร่ ที่จังหวัดนนทบุรี พวกเขามีกิจกรรมสีเขียวและอาหารปลอดภัยอยู่เรื่อยๆ ให้เรียนรู้

เมื่อเริ่มปลูกผัก สิ่งที่ได้มากกว่าผัก คือ การได้สัมผัสพื้นดิน และสิ่งแวดล้อมรอบตัว รวมถึงความรักในธรรมชาติ 

ถ้าอย่างนั้นมาปลูกผักกันดีกว่า....

หลายคนคงเคยได้ยินเรื่องราวของ สวนผักคนเมือง มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน(ประเทศไทย) ณ วันนี้ พวกเขามีพื้นที่ 1 ไร่ เป็นทั้งสำนักงาน สวน และพื้นที่จัดกิจกรรม ที่จังหวัดนนทบุรี 

หากใครมีโอกาสไปสัมผัส ก็จะรู้ว่า สภาพอากาศดีมาก และพวกเขากำลังสร้างพื้นที่สีเขียวมากขึ้นเรื่อยๆ 

“เมื่อก่อนเราไม่มีพื้นที่แบบนี้ ตอนนี้มีหนึ่งไร่ใกล้กับพื้นที่มูลนิธิชีววิถี เราจะใช้พื้นที่ตรงนี้ปลูกผักและเลี้ยงสัตว์ เราออกแบบว่าจะเป็นแปลงผักทั่วไปและแปลงผักพื้นบ้าน มีพื้นที่เลี้ยงไก่ไข่ โดยให้กินสมุนไพร เราพยายามสร้างรูปธรรมของการผลิตอาหารในเมืองให้เห็น ” สุภา ใยเมือง ผู้อำนวยการ มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน(ประเทศไทย) กล่าว โดยที่ผ่านมาคนทำงานกลุ่มนี้ก็ไม่ต่างจากองค์กรพัฒนาเอกชนทั่วไป ที่ทำงานขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาระดับโครงสร้างในเรื่องเกษตรกรยากจน มีหนี้สิน และไม่มีที่ดินทำกิน 

159781602051

เมื่อ 8-9 ปีที่แล้ว พวกเขาหันมาทำสิ่งเล็กๆ ควบคู่กับการทำงานขับเคลื่อนเชิงนโยบาย นั่นก็คือ สวนผักคนเมือง เป็นกิจกรรมที่ทำร่วมกับคนเมือง เชื่อมโยงไปถึงเกษตรกร และล่าสุดมีพื้นที่เปิดสำหรับคนเมืองที่สนใจการปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ ปรุงอาหารและแปรรูปอาหาร รวมถึงการจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างคนเมืองกับเกษตรกร ทั้งเรื่องวิถีชีวิตและวัฒนธรรม

159781579152

หากย้อนไปถึงตอนที่เริ่มทำสวนผักคนเมือง สุภา ยอมรับว่าไม่มั่นใจว่าจะได้ผลแค่ไหน กระทั่งพบว่ามีกลุ่มคนเมืองที่ทำเรื่องปลูกผักและสอนคนอื่นๆ ได้และทำได้ดี รวมถึงความพยายามในการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ไม่ว่าเรื่องการปลูกผักในคอนโดหรือไม่มีที่ดินเลยก็ปลูกได้ จากนั้นก็ผสมผสานเรื่องอาหารปลอดภัย

"มากกว่าการปลูกผัก คือการปลูกเมือง และปลูกชีวิต เริ่มแรกเราทำโครงการเล็กๆ ตอนนี้ขยายเครือข่ายออกไปเป็น 100 กว่ากลุ่ม เชื่อมระหว่างคนเมืองกับชนบทได้ ทำให้คนเข้าใจ เข้าถึง วิถีเกษตรกรรมธรรมชาติมากขึ้น  และการจัดกิจกรรมร่วมกับเกษตรกร ทำให้คนเมืองรู้ว่า ข้าวหลากหลายสายพันธุ์ที่เกษตรกรไทยปลูกมีคุณประโยชน์ไม่แพ้ข้าวที่บริโภคทุกวัน จนนำไปสู่การอนุรักษ์และการขยายพันธุ์ข้าว

มีการแปรรูปเส้นก๋วยจั๊บจากข้าวพื้นบ้าน ทำพิซซ่าจากแป้งข้าว มีคนรุ่นใหม่ที่เข้าใจเรื่องการทำอาหารและการเกษตรมาสร้างสรรค์อาหารแนวฟิวชั่น และสนับสนุนข้าวจากชาวนา ทำการตลาดที่มีระบบการสั่งพืชผลทางการเกษตรล่วงหน้า "

ด้วยวิธีคิดแบบนี้ ทำให้สุภา เห็นว่า การมีตัวอย่างให้เห็นเป็นรูปธรรม เป็นการขับเคลื่อนสังคมอีกรูปแบบหนึ่ง

“คนเมืองเคยเชื่อว่า พวกเขาปลูกผักไม่ได้ ไม่มีพื้นที่ ไม่มีแดด เพราะแดดเป็นปัญหาสำคัญของคนเมือง เมื่อลงมือทำ ทำให้พวกเขารู้ว่าต้องวางแปลงผักยังไง และความเชื่อที่ว่า มือร้อนปลูกพืชผักไม่ได้ ไม่ใช่เลย ถ้าได้ปลูกผักก็จะรู้ว่า เวลาเพาะต้นกล้าต้องประคับประคองยังไง ผักแต่ละชนิดต้องการน้ำและแดดไม่เหมือนกัน 

ในต่างประเทศคนจะให้ความสำคัญกับการปลูกผักในเมือง พวกเขามองว่าการมีพื้นที่ให้ประชาชนเข้าถึงอาหารด้วยตัวเองสำคัญมาก จึงต้องมีการดีไซน์เมือง เมืองต้องเปลี่ยนใหม่ ควรมีความสมดุลมากกว่านี้ ไม่ใช่มีเฉพาะตึก โรงงาน ที่อยู่อาศัย ที่ทำงานเท่านั้น เมืองมีชีวิตได้มากกว่านี้ ควรมีพื้นที่สาธารณะเยอะๆ ” 

หลังจากคนกลุุ่มนี้ ทำให้คนเมืองรู้ว่า พวกเขาสร้างพื้นที่อาหารได้ และเชื่อมโยงหลายกลุ่มเข้าด้วยกัน เพื่อเปลี่ยนแปลงเมือง และยังคงเดินหน้า่ต่อไปเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร

159781583629

"นอกจากคนจะปลูกผักเป็น สร้างอาหารได้ เราอยากมีพื้นที่อาหารในเมือง เมืองต้องเปลี่ยนใหม่ เราคิดว่าเมืองอยู่อย่างนี้ไม่ได้ ไม่อย่างนั้นเมืองก็จะเจอฝุ่นแบบนี้ อย่างตอนที่ริเริ่มเผยแพร่เรื่องการปลูกผักบนดาดฟ้า เจ้าหน้าที่เขตหลักสี่เป็นคนสอนให้ จากนั้นก็มีีคนสนใจมากขึ้น อย่างครูอุษาที่ห้วยขวางปลูกผักบนดาดฟ้า เด็กๆในเนอสเซอรี่ของเธอ ก็ได้กินผักที่ครูปลูก ซึ่งเธอทำได้ดีมาก จนเป็นวิทยากรให้คนอื่นๆ ได้เรียนรู้ จากคนที่ปลูกผักไม่เป็นเลย สามารถปลูกผักเลี้ยงเด็กได้ ดังนั้นเราอยากเห็นคนเมืองมีพื้นที่ปลูกผักมากขึ้น มีบทบาทมากขึ้นในการกำหนดนโยบายเมือง และเมืองต้องมีความยั่งยืน"

 เธอไม่ได้อยากเห็นแค่นโยบาย แผนงาน หรือการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างเดียว สุภา บอกว่า อยากเห็นการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ทำให้คนเมืองมีคุณภาพชีวิตที่ดี เพื่อให้เมืองมีชีวิตชีวา  

"ภูมิปัญญาเดิม เรามีอยู่แล้ว ที่จังหวัดนนทบุรีมีการยกร่องสวนผัก และปลูกทองหลางคู่กับทุเรียน เพราะใบทองหลางเป็นพืชตระกูลถั่วให้ปุ๋ยต้นทุเรียน และสวนที่นั่นมีความหลากหลายมากเพราะนำภูมิปัญญามาใช้ให้เข้ากับระบบนิเวศ ถ้าเป็นทางอีสานก็จะมีระบบนิเวศอีกแบบ มีนาลุ่ม นาทาม ระบบนิเวศแต่ละอย่างให้ผลผลิตที่แตกต่างกัน สิ่งเหล่านี้เรามีอยู่แล้ว เพียงแต่เราจะใช้ภูมิปัญญาให้เข้ากับระบบเศรษฐกิจใหม่ได้ยังไง

ดังนั้นในยุคที่มีปัญหาเรื่องความไม่ปลอดภัยทางอาหาร เราก็เลยหันมาทำเรื่องผลผลิตอินทรีย์มากขึ้น ตอนนี้มีกลุ่มชาวบ้านที่ทำเยอะขึ้น เราก็อยากหนุนให้ยกระดับ ทำยังไงให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในห่วงโซ่อาหาร เราก็คิดว่า ถ้าเราสนับสนุนความเข้มแข็งก็จะเกิดการกระจายระบบอาหารมากขึ้น คุณภาพชีวิตผู้บริโภคและคนปลูกก็ดีขึ้น เพราะไม่มีการใช้สารเคมี เราต้องเชื่อมโยงเรื่องนี้ และไม่ใช่แค่ความฝัน ควรจับต้องได้ด้วย"

 นั่นแหละคือสิ่งที่กลุ่มเกษตรกรรมยั่งยืนทำมาตลอด โดยเน้นความยั่งยืน

"ในอนาคต ถ้าเราบริโภคอย่างเดียว ถ้าสิ่งแวดล้อมแย่คนก็จะแย่ไปด้วย อะไรก็ตามที่เป็นโครงสร้างหลักที่ใช้ประโยชน์อย่างเดียว อนาคตจะไม่ยั่งยืน ซึ่งตอนนี้เห็นผลแล้วว่า ภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ทรัพยากรเสื่อมโทรม เมืองเจอปัญหาเรื่องฝุ่นที่มาจากฝีมือมนุษย์”

""""""""""""""""""""""

ดูได้ที่เฟสบุ๊ค สวนผักคนเมือง